คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7083/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างจะเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ ต้องพิเคราะห์ถึงสาเหตุแห่งการเลิกจ้างว่ามีเหตุจำเป็นหรือสมควรในการเลิกจ้างหรือไม่ คดีนี้กิจการของจำเลยยังมีกำไรอยู่ เพียงแต่กำไรลดลงในปีที่ล่วงมาจำนวนมาก ยังไม่ได้ความว่าจำเลยขาดทุนจนไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุที่กำไรของจำเลยลดลง ย่อมเป็นการเลิกจ้างที่ยังไม่มีเหตุอันควร จึงถือเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
การฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมมิใช่เป็นการที่ลูกจ้างเรียกเอาค่าจ้างหรือสินจ้างอย่างอื่นจากนายจ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (9) ที่มีอายุความ 2 ปี แต่เป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ตำแหน่งสุดท้ายคือวิศวกรอาวุโส จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยที่โจทก์ไม่มีความผิด เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหายจำนวน 5,760,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 193,650 บาท แก่โจทก์
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นพนักงานของจำเลย ตำแหน่งสุดท้ายคือวิศวกรอาวุโส ทำงานตรวจสอบเกี่ยวกับความปลอดภัยของโรงงานทั้งหมด ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 19,365 บาท ผลการดำเนินงานของจำเลยในปี 2543 มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากปี 2542 ร้อยละ 26.8 ปี 2544 ถึง 2546 ผลการดำเนินงานเป็นกำไรอยู่ แต่ในปี 2546 กำไรลดลงอย่างมาก ผู้บริหารของจำเลยมอบอำนาจให้นายประพันธ์ รุจิธัมโม เป็นผู้มีอำนาจเลิกจ้างลูกจ้างได้ ต่อมานายประพันธ์เลิกจ้างโจทก์โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2545 สาเหตุที่เลิกจ้างโจทก์เนื่องจากมีแนวโน้มว่าในปี 2545 ยอดขายสินค้าจะลดลง จำเลยจึงวางแผนลดค่าใช้จ่าย คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อแรกว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ เห็นว่า การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างจะเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ ต้องพิเคราะห์ถึงสาเหตุแห่งการเลิกจ้างว่ามีเหตุจำเป็นหรือเหตุสมควรในการเลิกจ้างหรือไม่ คดีนี้กิจการของจำเลยยังมีกำไรอยู่ เพียงแต่กำไรลดลงในปีที่ล่วงมาจำนวนมาก ยังไม่ได้ความว่าจำเลยขาดทุนจนไม่สามารถดำเนินกิจาการต่อไปได้ เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุที่กำไรของจำเลยลดลง ย่อมเป็นการเลิกจ้างที่ยังไม่มีเหตุอันสมควรจึงถือเป็นเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์เรื่องการกำหนดค่าเสียหายของศาลแรงงานกลางมานั้น เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อสองว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า การฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้นมิใช่ลูกจ้างเรียกเอาค่าจ้างหรือสินจ้างอย่างอื่นจากนายจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (9) ที่มีอายุความ 2 ปี แต่เป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 โจทก์ฟ้องคดีนี้ยังไม่เกิน 10 ปี จึงไม่ขาดอายุความ อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share