คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6661/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกามี พ.ร.ก.บริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มาตรา 3 (1) ให้ยกเลิก พ.ร.บ.การทำงานของต่างด้าว พ.ศ.2551 และให้ใช้ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 แทน ซึ่งมาตรา 9 บัญญัติให้การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิด และมาตรา 102 กำหนดโทษสำหรับความผิดดังกล่าวไว้ ต่อมาเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 33/2560 เรื่อง มาตรการชั่วคราวเพื่อแก้ไขข้อขัดข้องในการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ข้อ 1 ให้มาตรา 102 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป ถือว่าการกระทำความผิดในช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2560 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 เป็นการกระทำที่ไม่มีโทษ จึงไม่เป็นความผิดอาญา ตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคหนึ่ง ส่วนการกระทำความผิดที่เกิดก่อนวันที่ 23 มิถุนายน 2560 อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 ซึ่งเป็นกฎหมายเก่าที่ถูกยกเลิกไปโดย พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มาตรา 3 แม้ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 จะยังกำหนดให้เป็นความผิด แต่ไม่มีโทษ จึงต้องถือว่า พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังกำหนดให้การกระทำดังกล่าวไม่เป็นความผิดอีกต่อไปตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสองดังนั้น การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันรับคนต่างด้าวซึ่งไม่มีใบอนุญาตเข้าทำงานโดยผิดกฎหมาย ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้จำเลยทั้งสองมิได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มาตรา 5, 27, 54 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5, 45, 90, 144, 146 พระราชกำหนด การประมง พ.ศ.2558 มาตรา 5, 11, 124 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มาตรา 27, 54 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 45 (1), 90 วรรคหนึ่ง, 144, 146 พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง, 124 (ที่ถูก ประกอบ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83) การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันรับคนต่างด้าวซึ่งไม่มีใบอนุญาตเข้าทำงานกับฐานร่วมกันประกอบกิจการเกี่ยวกับสัตว์น้ำจ้างคนต่างด้าวที่ไม่ได้ใบรับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าวเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันประกอบกิจการเกี่ยวกับสัตว์น้ำจ้างคนต่างด้าวที่ไม่ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าวซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปรับคนละ 400,000 บาท ฐานร่วมกันเป็นนายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปรับคนละ 10,000 บาท ฐานร่วมกันไม่แจ้งการใช้แรงงานเด็กอายุต่ำกว่าสิบแปดปี ปรับคนละ 5,000 บาท รวมปรับคนละ 415,000 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กระทงละกึ่งหนึ่ง เป็นปรับคนละ 207,500 บาท โทษปรับเห็นควรให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี และให้คุมความประพฤติของจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี โดยให้จำเลยที่ 2 ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ให้กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยที่ 2 เห็นสมควรเป็นเวลา 20 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 (ที่ถูก ที่แก้ไขใหม่)
โจทก์อุทธรณ์ โดยอัยการสูงสุดรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองโดยไม่รอการลงโทษปรับนั้น เห็นว่า จำเลยทั้งสองใช้แรงงานคนต่างด้าวโดยไม่มีใบอนุญาตให้ทำงานในราชอาณาจักร ซึ่งคนต่างด้าวดังกล่าวมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีโดยจ่ายค่าจ้างน้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นการกระทำที่ไม่ยำเกรงต่อกฎหมายและขาดจิตสำนึก เห็นแต่เพียงประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้ง การกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวจึงเป็นเรื่องร้ายแรง ที่ศาลล่างทั้งสองรอการลงโทษปรับให้แก่จำเลยทั้งสองนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกามีพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มาตรา 3 (1) ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติการทำงานของต่างด้าว พ.ศ.2551 และให้ใช้พระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 แทน ซึ่งมาตรา 9 บัญญัติให้การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิด และมาตรา 102 กำหนดโทษสำหรับความผิดดังกล่าวไว้ต่อมาเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 33/2560 เรื่อง มาตรการชั่วคราวเพื่อแก้ไขข้อขัดข้องในการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ข้อ 1 ให้มาตรา 102 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป ถือว่าการกระทำความผิดในช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2560 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 เป็นการกระทำที่ไม่มีโทษ จึงไม่เป็นความผิดอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคหนึ่ง ส่วนการกระทำความผิดที่เกิดก่อนวันที่ 23 มิถุนายน 2560 อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 ซึ่งเป็นกฎหมายเก่าที่ถูกยกเลิกไปโดยพระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มาตรา 3 แม้พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 จะยังกำหนดให้เป็นความผิด แต่ไม่มีโทษ จึงต้องถือว่าพระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังกำหนดให้การกระทำดังกล่าวไม่เป็นความผิดอีกต่อไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง ดังนั้น การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันรับคนต่างด้าวซึ่งไม่มีใบอนุญาตเข้าทำงานโดยผิดกฎหมาย ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้จำเลยทั้งสองมิได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง (1), 90 วรรคหนึ่ง, 144 วรรคหนึ่ง, 146 พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง, 124 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ไม่รอการลงโทษ ไม่คุมความประพฤติจำเลยที่ 2 หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ยกฟ้องฐานร่วมกันรับคนต่างด้าวเข้าทำงานโดยไม่ได้รับใบอนุญาต นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8

Share