แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข่าวในหนังสือพิมพ์มีข้อความว่า “กูละเบื่อ ศาลสั่งจำคุกภูมิ ศรีธัญรัตน์บก.นสพ. ประชาธิปไตย ฐานเบี้ยวเช็ค”มีความหมายว่า โจทก์ซึ่งเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตยถูกศาลพิพากษาจำคุกเพราะเป็นคนไม่ตรง คดโกงออกเช็คโดยคดโกง มีลักษณะเป็นการใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สามน่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคอิสาน (ที่ถูกเป็นภาคอีสาน) จำเลยที่ 2เป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการ จำเลยที่ 3 เป็นบรรณาธิการข่าวของหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกัน ระหว่างวันที่ 16 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2535 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกันจำเลยทั้งสามร่วมกันเขียนและโฆษณาตีพิมพ์ข้อความใส่ความหมิ่นประมาทโจทก์ลงในหนังสือพิมพ์ภาคอิสาน ซึ่งพิมพ์ออกจำหน่ายให้แก่ประชาชนทั่วไป ฉบับประจำวันที่ 16 ถึง 30 มิถุนายน 2535 คอลัมน์ แจกหมาก ว่า ติดคุกคงสบายดีนะ คุณผีเฮ้ย คุณพี่…ฮา กูละเบื่อ ศาลสั่งจำคุกภูมิ ศรีธัญรัตน์บก.นสพ.ประชาธิปไตย ฐานเบี้ยวเช็ค อันมีความหมายว่าโจทก์เป็นคนน่าเบื่อหน่าย น่ารังเกียจ ติดคุกเพราะคดโกงหักหลังหลอกลวงไม่จ่ายเงินตามเช็ค ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326, 328, 83
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ระหว่างการพิจารณาโจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3 เสียจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328, 83 ลงโทษจำคุกคนละ 6 เดือนและปรับคนละ 2,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้คนละ 2 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ข้อความที่ว่า “ติดคุกคงสบายดีนะ คุณผี เฮ้ย คุณพี่…ฮา” ไม่ได้เกี่ยวข้องกับข้อความในข่าวเรื่องที่เกี่ยวกับโจทก์ และวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า แต่ข้อความที่ว่า “กูละเบื่อ ศาลสั่งจำคุกภูมิ ศรีธัญรัตน์บก.น.ส.พ.ประชาธิปไตย ฐานเบี้ยวเช็ค” ซึ่งมีความหมายว่าโจทก์ซึ่งเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตยถูกศาลพิพากษาจำคุกเพราะเป็นคนไม่ตรง คดโกง ออกเช็คโดยคดโกงมีลักษณะเป็นการใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สาม น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังได้ เมื่อจำเลยทั้งสองได้กระทำผิดด้วยการลงข้อความในหนังสือพิมพ์จึงมีความผิดตามฟ้อง
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น