คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6659/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คดีก่อนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ยึดที่ดินทั้ง 83 แปลงที่บริษัท ศ.และส. ผู้ล้มละลายโอนให้โจทก์ไว้และอยู่ในระหว่างการยื่นคำร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนการโอนการที่จะวินิจฉัยว่าการโอนที่ดินดังกล่าวเป็นโมฆะหรือไม่และจะเพิกถอนการโอนได้หรือไม่ เพียงใด เป็นประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในคดีดังกล่าวเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าต่อมาในภายหลัง ส.และบริษัทศ. ได้พ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลายแล้ว จึงไม่เป็นประเด็นที่จะวินิจฉัยถึงในคดีนี้การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การโอนที่ดินดังกล่าวเป็นโมฆะจึงไม่ชอบ ตามสัญญาจะซื้อขายที่ดิน ข้อ 3 มีข้อความระบุชัดแจ้งว่าทั้งผู้จะซื้อและผู้จะขายมีความประสงค์จะจัดการให้คดีทั้งหมดสิ้นสุดลงและจะจัดการให้ผู้ซื้อที่ดินจากผู้ขายคนเดิมได้รับที่ดินไปตามสัญญาซื้อขาย ผู้จะซื้อจึงรับว่าจะเป็นผู้ดำเนินการทางคดีโดยชอบเพื่อให้ที่ดินดังกล่าวหลุดพ้นจากภาระทั้งหมดนั้น ก็คือให้ผู้จะซื้อเข้ามารับภาระที่ผู้จะขายมีอยู่แทน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือรับชำระหนี้แทนผู้จะขายนั่นเอง เงื่อนไขดังกล่าวจึงเป็นการดำเนินการทางคดีโดยชอบหาใช่เป็นสัญญาจะโอนสิทธิในการดำเนินคดีหรือซื้อขายความที่วัตถุประสงค์เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนอันจะตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ไม่ ที่ดินทั้ง 83 แปลง มีชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในโฉนดจำเลยมิได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น โจทก์ย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าเป็นเจ้าของโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง โจทก์ถูก ว.และพ. ฟ้องให้โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 30041 และที่ 30042 ก่อนที่จะทำสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวกับจำเลย จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องจัดการให้ว.และพ. ซึ่งเป็นผู้ซื้อที่ดินเดิมได้รับที่ดินไปตามสัญญา การที่จำเลยดำเนินการให้โจทก์จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ให้แก่บริษัท ท. ทั้งที่โจทก์ได้สอบถามจำเลยกับเจ้าพนักงานที่ดินแล้วว่าที่ดินทั้ง 2 แปลงดังกล่าวติดอายัดตามคำสั่งศาลหรือไม่ ก็ได้รับแจ้งว่าไม่ติดอายัด โจทก์หลงเชื่อจึงโอนที่ดินไปการดำเนินการดังกล่าวของจำเลยจึงเป็นการประพฤติผิดสัญญา โจทก์ยอมจ่ายเงินค่าเสียหายจำนวน 800,000 บาทเศษให้แก่ ว.และพ. ก็เพราะถูกบุคคลทั้งสองฟ้องคดีอาญาฐานโกงเจ้าหนี้อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการผิดสัญญาของจำเลยและทางศาลประทับฟ้องโจทก์ซึ่งเป็นข้าราชการจะได้รับความเสียหายต่อตำแหน่งหน้าที่และเกียรติยศชื่อเสียงประกอบกับจำเลยรับว่าที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลงมีราคารวมกัน1,000,000 บาทเศษ ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวจึงไม่ใช่ค่าเสียหายอันไกลกว่าเหตุ จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายเพราะเหตุที่จำเลยผิดสัญญาจะซื้อขายเป็นเหตุให้โจทก์ต้องใช้ค่าที่ดินจำนวนดังกล่าวแก่ ว.และพ. เป็นกรณีไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้จำเลยชดใช้เงินจำนวน 864,174 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยตกลงกับโจทก์ว่าจำเลยต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้แก่นางสาววิณีแก่นสมบูรณ์และนางสาวพรรณีหรือพรรทิพา เอี่ยมสุพรรณการโอนที่ดินทั้งสองแปลง โจทก์เป็นผู้ดำเนินการเองทั้งสิ้น โจทก์ฟ้องคดีตามสัญญาซื้อขายเกิน 2 ปีจึงขาดอายุความ และฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะไม่บรรยายสภาพแห่งข้อหาให้ชัดแจ้ง ไม่ทราบว่าจำเลยได้ทำผิดตามสัญญาอย่างไรและเหตุใดจำเลยต้องรับผิด โจทก์เรียกค่าเสียหายมากเกินกว่าเหตุ หากเสียหายจริงค่าเสียหายไม่เกิน 20,000 บาทขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงิน 800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยประการต่อไปมีว่าสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมาย จ.7 เป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 หรือไม่ ตามเอกสารหมาย จ.7 ข้อ 3 มีข้อความว่า “เนื่องจากที่ดินที่ซื้อขายนี้ทุกแปลงอยู่ในระหว่างการดำเนินคดีในศาลหลายฝ่าย และได้ถูกเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยึดไว้ ทั้งผู้จะซื้อและผู้จะขายมีความประสงค์จะจัดการให้คดีทั้งหมดสิ้นสุดลงและจะจัดการให้ผู้ซื้อที่ดินจากผู้ขายคนเดิมได้รับที่ดินไปตามที่ได้ทำสัญญาซื้อขายผู้จะซื้อจึงรับว่าจะเป็นผู้ดำเนินการทางคดีโดยชอบเพื่อให้ที่ดินดังกล่าวหลุดพ้นจากภาระทั้งหมดด้วยค่าใช้จ่ายของตนเองและต้องรับผิดชอบในค่าภาษีค่าธรรมเนียมในการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินจากผู้จะขายไปเป็นของผู้จะซื้อหรือบุคคลอื่นที่ผู้จะซื้อประสงค์จะโอนให้ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ซึ่งเกิดจากการขายที่ดินทั้งหมด ซึ่งเดิมเป็นของนางสมศรี สมิตะสิริ หรือบริษัทศรีสมิต จำกัด ทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคตถ้าหากมีทั้งสิ้นอีกด้วย หากผู้จะขายต้องรับผิดชอบต่อผู้ซื้อที่ดินเดิมอย่างไร ผู้จะซื้อยอมรับผิดชอบแทน ฯลฯ” เกี่ยวกับข้อสัญญาข้อนี้นายสมประสงค์ สุนทรนันท ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความว่าผู้จะซื้อมีหน้าที่ต้องไปจัดการให้คดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลทั้งหมดสิ้นสุดลง ส่วนที่ดินประมาณ 20 แปลง ที่มีผู้ฟ้องคดีให้นางสมศรี โจทก์ และบริษัทศรีสมิต จำกัด โอนที่ดินให้นั้นก็ให้จัดการโอนให้แก่ผู้ซื้อเดิมทุกคน โจทก์เบิกความว่า ได้ตกลงให้จำเลยในฐานะผู้จะซื้อเป็นผู้จัดการให้คดีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฟ้องให้เป็นที่เรียบร้อยและให้นางสมศรีกับบริษัทศรีสมิต จำกัด พ้นจากการล้มละลายส่วนผู้จะซื้อเดิม20 รายนั้น จำเลยจะต้องโอนที่ดินให้ต่อไป นายเธียรไท สุนทรนันทสามีโจทก์เบิกความว่า ขณะที่จำเลยและนายกิติมาขอซื้อที่ดินโจทก์นั้นได้ตกลงกันให้จำเลยและนายกิติไปดำเนินการให้ที่ดินทั้ง 83 แปลง ที่ถูกอายัดไว้พ้นจากการถูกอายัด และดำเนินการให้นางสมศรีกับบริษัทศรีสมิต จำกัด พ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลายและที่ดินทั้ง 83 แปลง ต้องโอนให้แก่ผู้ซื้อเดิมที่ฟ้องโจทก์ต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการ ก่อนที่จะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน 64 แปลงให้แก่บริษัทเทพารักษ์พัฒนาการ จำกัด จำเลยและนายกิติได้นำเงินไปชำระให้แก่เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ในคดีล้มละลายแล้วและทำให้นางสมศรีกับบริษัทศรีสมิต จำกัด พ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลาย ส่วนผู้ซื้อเดิมที่เหลือนั้นบางรายจำเลยได้โอนที่ดินให้เรียบร้อยแล้ว และบางรายก็ชดใช้ราคาที่ดินให้ไปเรียบร้อยเช่นกัน ฝ่ายจำเลยก็เบิกความรับว่า นายกิติได้ไปดำเนินการให้ที่ดินทั้ง 83 แปลงหลุดพ้นจากการยึดของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลายและตามเอกสารหมาย จ.7 ข้อ 3 จำเลยกับนายกิติมีหน้าที่จะต้องโอนที่ดินให้แก่ผู้ซื้อเดิมที่จะซื้อที่ดินจากบริษัทศรีสมิต จำกัด ซึ่งจำเลยมอบให้นายกิติจัดการทั้งหมดดังนี้จะเห็นได้ว่า ตามเอกสารหมาย จ.7 ข้อ 3 มีข้อความระบุชัดแจ้งว่า ทั้งผู้จะซื้อและผู้จะขายมีความประสงค์จะจัดการให้คดีทั้งหมดสิ้นสุดลงและจะจัดการให้ผู้ซื้อที่ดินจากผู้ขายคนเดิมได้รับที่ดินไปตามสัญญาซื้อขาย ก็คือให้ผู้จะซื้อเข้ามารับภาระที่ผู้จะขายมีอยู่แทนหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือรับชำระหนี้แทนผู้จะขายนั่นเองซึ่งก็ปรากฏว่าฝ่ายจำเลย ผู้จะซื้อก็ได้ดำเนินการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ในคดีล้มละลายจนทำให้นางสมศรีและบริษัทศรีสมิต จำกัด พ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลายแล้วและได้ดำเนินการให้ผู้ซื้อที่ดินเดิมที่เหลือโดยบางรายจำเลยก็ได้โอนที่ดินให้ บางรายก็ชดใช้ราคาที่ดินให้เรียบร้อยแล้วเงื่อนไขที่กำหนดในสัญญาเอกสารหมาย จ.7 ข้อ 3 ดังกล่าวจึงเป็นการดำเนินการทางคดีโดยชอบ หาใช่เป็นสัญญาจะโอนสิทธิในการดำเนินคดีหรือซื้อขายความดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่เอกสารหมาย จ.7 จึงมิใช่นิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนอันจะตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 และมีผลบังคับได้ตามกฎหมายฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น และเนื่องจากศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ โดยมิได้วินิจฉัยในประเด็นแห่งคดี เมื่อปรากฏว่าคู่ความได้สืบพยานมาเสร็จสิ้นทั้งสองฝ่ายแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยประเด็นแห่งคดีไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอีก
ในเรื่องอำนาจฟ้อง ที่จำเลยอ้างว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะที่ดินทั้ง 83 แปลง เป็นของมารดาโจทก์ โจทก์เป็นเพียงผู้มีชื่อซื้อที่ดินแทนมารดานั้น เห็นว่า ที่ดินทั้ง 83 แปลงมีชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในโฉนด โจทก์ย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าเป็นเจ้าของ จำเลยมิได้นำสืบโต้แย้งให้เห็นเป็นอย่างอื่นทั้งยังเบิกความยืนยันว่า ได้ทำสัญญาซื้อที่ดินทั้งหมดจากโจทก์จริง พยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์จึงมีน้ำหนักให้รับฟังว่า ที่ดินทั้ง 83 แปลงเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ในประเด็นเรื่องจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาที่ทำไว้กับโจทก์หรือไม่ นั้น ตามเอกสารหมาย จ.7 ข้อ 3 จำเลยมีหน้าที่ต้องจัดการให้ที่ดินทั้ง 83 แปลง หลุดพ้นจากภาระผูกพันด้วยค่าใช้จ่ายของตนเองและจัดการให้ผู้ซื้อที่ดินเดิมได้รับโอนที่ดินไปตามสัญญาหากโจทก์ต้องรับผิดต่อผู้ซื้อเดิมอย่างไรจำเลยยอมรับผิดแทนขณะที่ทำสัญญาเอกสารหมาย จ.7 นี้ โจทก์ถูกนางสาววิณีและนางสาวพรรณีฟ้องให้โอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงอยู่ก่อนแล้วตั้งแต่ปี 2524 จำเลยจึงมีหน้าที่จัดการให้นางสาววิณีและนางสาวพรรณีซึ่งเป็นผู้ซื้อที่ดินเดิมได้รับที่ดินไปตามสัญญาที่จำเลยอ้างว่าโจทก์เป็นผู้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจำนวน 64 แปลง รวมทั้งที่ดินพิพาททั้งสองแปลงด้วยตนเองจำเลยไม่ได้ผิดสัญญานั้น เห็นว่า จำเลยเป็นฝ่ายรับโฉนดที่ดินทั้ง 64 แปลงไปจากโจทก์เพื่อดำเนินการโอนให้เสร็จภายในวันเดียวเมื่อโจทก์ไปโอนกรรมสิทธิ์ให้บริษัทเทพารักษ์พัฒนาการ จำกัดตามความประสงค์ของจำเลยโจทก์และนายเธียรไทก็ได้สอบถามจำเลย และเจ้าพนักงานที่ดินแล้วว่าที่ดินติดอายัดตามคำสั่งศาลหรือไม่ก็ได้รับแจ้งว่าไม่ติดอายัด โจทก์หลงเชื่อจึงโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินไปอันเป็นการกระทำตามที่จำเลยตระเตรียมการโอนไว้ให้การที่จำเลยดำเนินการให้โจทก์จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ให้แก่บริษัทเทพารักษ์พัฒนาการ จำกัดจึงเป็นการประพฤติผิดสัญญาข้อ 3 ของเอกสารหมาย จ.7 ที่มิได้โอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่ผู้ซื้อเดิม ซึ่งมิใช่ความประมาทเลินเล่อของโจทก์ จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์
ในประเด็นเรื่องค่าเสียหาย โจทก์มีเอกสารหมาย จ.8 และ จ.9มาแสดงว่าได้ชำระเงินให้แก่นางสาววิณีและนางสาวพรรณีไปคนละ 400,000 บาทเศษ รวมเป็นเงิน 800,000 บาทเศษจริงซึ่งจำเลยก็เบิกความยอมรับว่า เมื่อปลายปี 2532 ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมีราคารวมกัน 1,000,000 บาทเศษ การที่โจทก์ยอมจ่ายเงินจำนวน 800,000 บาทเศษ ก็เพราะถูกบุคคลทั้งสองฟ้องคดีอาญาฐานโกงเจ้าหนี้อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการผิดสัญญาดังกล่าวของจำเลย และหากศาลประทับฟ้อง โจทก์ซึ่งเป็นข้าราชการจะได้รับความเสียหายต่อตำแหน่งหน้าที่และเกียรติยศชื่อเสียง การที่โจทก์ใช้ค่าเสียหายให้แก่บุคคลทั้งสองจึงไม่ใช่ค่าเสียหายอันไกลกว่าเหตุ และที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยรับผิดเพียงจำนวน800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยนั้น เป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้ว
สำหรับประเด็นที่ว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่นั้นเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย 853,650 บาทพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ เพราะเหตุที่จำเลยผิดสัญญาซื้อขายต่อโจทก์โดยไม่ยอมโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่นางสาววิณีและนางสาวพรรณีหรือพรรทิพาผู้ซื้อเดิม เป็นเหตุให้โจทก์ต้องใช้ค่าที่ดินจำนวนดังกล่าวแก่บุคคลทั้งสอง ซึ่งเป็นกรณีไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิม มีกำหนดอายุความ 10 ปีเมื่อได้ความตามที่นายสมประสงค์และโจทก์เบิกความว่าโจทก์ทราบว่าจำเลยมิได้โอนที่ดินให้ผู้ซื้อเดิมอันเป็นการผิดสัญญาจะซื้อขายเมื่อเดือนเมษายน 2531 ซึ่งเป็นขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2533เป็นเวลาเพียง 1 ปีเศษ จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share