แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องการชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการละเมิด พ.ศ.2529 ข้อ 9 ได้มอบหมายการปฏิบัติราชการให้ผู้อำนวยการกองได้แก่ ผู้อำนวยการกอง กองก่อสร้างและบูรณะของกรุงเทพมหานครโจทก์ เป็นผู้มีอำนาจในการเรียกร้องให้ผู้กระทำละเมิดแก่โจทก์ชดใช้ค่าเสียหาย การที่ผู้อำนวยการกองดังกล่าว เรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากมูลละเมิด จึงเป็นการกระทำในฐานะเป็นผู้แทนของโจทก์มิใช่ในฐานะเป็นส่วนราชการของโจทก์เพียงอย่างเดียว และการที่พันตำรวจโท ธ. มีหนังสือแจ้งคดีให้ผู้อำนวยการกองทราบว่า จำเลยที่ 1 เป็นคนขับรถและจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุ โดยผู้อำนวยการกองลงชื่อรับทราบและมีคำสั่งให้ดำเนินการต่อไปเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2537 มีผลผูกพันโจทก์ จึงต้องถือว่าโจทก์ได้รู้ถึงละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนอย่างช้าที่สุดในวันที่ 20 กรกฎาคม 2537 โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 21 มกราคม 2542 พ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันดังกล่าว จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดในมูลความแห่งคดีอันเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ เพราะขาดนัดยื่นคำให้การ แต่จำเลยที่ 2 ได้ให้การต่อสู้ในเรื่องนี้ไว้ การดำเนินกระบวนพิจารณาซึ่งทำโดยจำเลยที่ 2 จึงถือว่าได้ทำโดยจำเลยที่ 1 ด้วย ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59 (1) เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้โดยให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามฟ้อง โจทก์ฎีกา แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ฎีกา แต่เมื่อคดีของโจทก์ขาดอายุความ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 ได้ตามมาตรา 245 (1), 247
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2535 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 81-4589 นครราชสีมา ลากจูงรถพ่วงหมายเลขทะเบียน 81-5111 นครราชสีมา บรรทุกสินค้าจากอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ไปส่งให้ลูกค้าที่จังหวัดลำพูน ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ขณะขับมาตามถนนศรีนครินทร์ ถึงหน้าบริษัทกรีนสปอร์ต จำกัด จำเลยที่ 1 ขับรถโดยความประมาทด้วยความเร็วสูง ชนเสาไฟฟ้าสาธารณะของโจทก์ 1 ต้น และสายไฟฟ้าได้รับความเสียหาย โจทก์เสียค่าซ่อมโดยจัดทำใหม่เป็นเงิน 37,060.60 บาท โจทก์รู้ถึงเหตุละเมิดและรู้ตัวผู้จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2541 ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 57,410.30 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายจากต้นเงิน 37,060.60 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะโจทก์ฟ้องคดีเกินกว่า 1 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรจะรู้เหตุแห่งการละเมิดและรู้ตัวผู้ทำละเมิด เนื่องจากเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลหัวหมากแจ้งให้โจทก์ทราบภายหลังเกิดเหตุทันที และโจทก์เคยมีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายตั้งแต่เดือนมีนาคม 2537 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 36,060.60 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2535 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 20,349.70 บาท ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นผู้ทำการแทนตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2535 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 81-4589 นครราชสีมา ลากจูงรถพ่วงหมายเลขทะเบียน 81-5111 นครราชสีมา ของจำเลยที่ 2 ขณะที่ขับมาตามถนนศรีนครินทร์ถึงบริเวณหน้าบริษัทกรีนสปอร์ต จำกัด แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1 ขับรถคันดังกล่าวด้วยความประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์ที่แล่นอยู่ข้างหน้า แล้วรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับเสียหลักไปชนเสาไฟฟ้าของโจทก์ที่อยู่บนเกาะกลางถนนหักเสียหาย โจทก์ต้องเสียค่าซ่อมเป็นเงิน 37,060.60 บาท นายสนั่น ประศาสน์ศิลป์ ผู้อำนวยการกอง กองก่อสร้างและบูรณะของโจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าเสียหายดังกล่าว เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2536 ตามเอกสารหมาย จ.17 หลังจากนั้น นายจิม พันธุมโกมล ผู้อำนวยการกองคนต่อมามีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าเสียหายอีกหลายครั้ง แต่จำเลยที่ 2 เพิกเฉย ต่อมาพันตำรวจโทธำรงค์ เกิดสวัสดิ์ สารวัตรสอบสวนปฏิบัติราชการแทนผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลหัวหมากมีหนังสือเจ้งผลคดีแก่ผู้อำนวยการกอง กองก่อสร้างและบูรณะของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.22 ว่า รถยนต์บรรทุกและรถพ่วงคันเกิดเหตุเป็นของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 เป็นคนขับโดยนายจิมผู้อำนวยการ กองก่อสร้างบูรณะของโจทก์ลงชื่อทราบเรื่องและมีคำสั่งให้ดำเนินการต่อไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2537 และตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่อง การชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการละเมิด พ.ศ.2529 เอกสารหมาย จ.23 ข้อ 9 ให้ผู้อำนวยการกองมีอำนาจเรียกร้องให้ผู้กระทำละเมิดชดใช้ค่าเสียหายเต็มจำนวนความเสียหายของทรัพย์สินที่ถูกกระทำละเมิดแต่ไม่เกินห้าหมื่นบาท กองก่อสร้างและบูรณะของโจทก์ได้ส่งเรื่องให้กองกฎหมายและคดีดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2541 และกองกฎหมายและคดีได้รายงานให้ผู้ว่าราชการของโจทก์ทราบและลงนามอนุมัติให้ฟ้องจำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2541 ตามบันทึกข้อความเอกสารหมาย จ.24 เห็นว่า ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องการชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการละเมิด พ.ศ.2529 ข้อ 9 ดังกล่าว เป็นการมอบหมายการปฏิบัติราชการให้ผู้อำนวยการกองซึ่งในคดีนี้ได้แก่ ผู้อำนวยการกอง กองก่อสร้างและบูรณะของโจทก์ เป็นผู้มีอำนาจในการเรียกร้องให้ผู้กระทำละเมิดแก่โจทก์ชดใชค่าเสียหายกรณีความเสียหายของทรัพย์สินที่ถูกละเมิดไม่เกินห้าหมื่นบาทโดยเบ็ดเสร็จได้ด้วยตนเอง ดังนั้น การที่นานสนั่นและนานจิม ผู้อำนวยการกอง กองก่อสร้างและบูรณะของโจทก์ดำเนินการเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากมูลละเมิดเป็นเงิน 37,060.60 บาท ซึ่งอยู่ภายในขอบเขตอำนาจที่โจทก์มอบหมายดังกล่าวแล้ว จึงเป็นการกระทำในฐานะเป็นผู้แทนของโจทก์มิใช่ในฐานะเป็นส่วนราชการของโจทก์เพียงอย่างเดียว และการที่ต่อมาพันตำรวจโทธำรงค์มีหนังสือแจ้งผลคดีให้ผู้อำนวยการกอง กองก่อสร้างและบูรณะของโจทก์ทราบว่า จำเลยที่ 1 เป็นคนขับรถและจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกและรถพ่วงคันเกิดเหตุ โดยนายจิมในฐานะผู้อำนวยการกองลงชื่อรับทราบและมีคำสั่งให้ดำเนินการต่อไปเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2537 นั้น มีผลผูกพันโจทก์เสมือนโจทก์เป็นผู้ทราบเรื่องดังกล่าวด้วยตนเอง จึงต้องถือว่าโจทก์ได้รู้ถึงละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนว่าคือจำเลยทั้งสองอย่างช้าที่สุดในวันที่ 20 กรกฎาคม 2537 นั้นแล้ว ส่วนการที่ต้องรายงานให้ผู้ว่าราชการของโจทก์ทราบเพื่ออนุมัติให้ฟ้องคดี และลงนามในใบแต่งทนายความเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2541 ตามที่โจทก์อ้างมาในฎีกา เป็นเพียงการวางระเบียบบริหารภายในองค์กรของโจทก์เท่านั้น จะอ้างมาเป็นเหตุขยายอายุความไม่ได้ โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2542 พ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2537 จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง และเนื่องจากโจทก์ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดในมูลความแห่งคดีอันเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ เพราะขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา แต่จำเลยที่ 2 ผู้เป็นคู่ความร่วมกันได้ให้การต่อสู้ในเรื่องนี้ไว้ การดำเนินกระบวนพิจารณาซึ่งทำโดยจำเลยที่ 2 จึงถือว่าได้ทำโดยจำเลยที่ 1 ด้วย ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59 (1) และแม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ฎีกา แต่เมื่คดีของโจทก์ขาดอายุความ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 (1), 247 ไม่ต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์ต่อไปอีก เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 เสียด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้ตกเป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.