คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6653/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้จำเลยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการที่สังกัดในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่อำนาจหน้าที่ในการบรรจุแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการระดับ 8 ให้อธิบดีผู้บังคับบัญชาเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ดังกล่าวเมื่อได้รับความเห็นชอบจากปลัดกระทรวง ไม่ใช่เป็นอำนาจหน้าที่ของปลัดกระทรวงโดยตรง จำเลยในฐานะปลัดกระทรวง จึงไม่มีอำนาจสั่งย้ายโจทก์ไปดำรงตำแหน่งป่าไม้จังหวัดอำนาจเจริญด้วยตนเอง จึงขาดคุณสมบัติเฉพาะตัวตามที่กฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะ ไม่อาจลงโทษจำเลยในฐานะเป็นตัวการเพราะใช้ให้กระทำความผิดได้ แต่การที่จำเลยให้ ด. ออกคำสั่งย้ายโจทก์ ถือได้ว่าเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ตาม ป.อ. มาตรา 86 ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้สนับสนุนในความผิดส่วนนี้ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 157 กับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 2,000,000 บาท
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จำคุก 1 ปี และปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 กับให้จำเลยชำระค่าเสียหายให้โจทก์ 1,400,000 บาท คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 84 อีกกรรมหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป จำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 2 ปี ไม่ปรับ ไม่รอการลงโทษ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในชั้นนี้ว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์รับราชการตำแหน่งผู้อำนวยการกองการอนุญาต กรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นข้าราชการระดับ 8 เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2546 นายบรรพต ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีคำสั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ 399/2546 เรื่อง เลื่อนข้าราชการ โดยให้เลื่อนโจทก์ไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนัก (นักวิชาการป่าไม้ 9) สำนักส่งเสริมการปลูกป่าเศรษฐกิจ กรมป่าไม้ ซึ่งเป็นการเลื่อนและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนผู้ที่จะเกษียณราชการในวันที่ 30 กันยายน 2546 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2546 ต่อมามีพระราชกฤษฎีกาให้โอนกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปเป็นกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2546 มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2546 เป็นต้นไป วันที่ 1 ตุลาคม 2546 จำเลยซึ่งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีคำสั่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ 278/2546 เรื่อง ให้ยกเลิกการแต่งตั้งข้าราชการกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามคำสั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ 399/2546 โดยให้ระงับการมอบหมายงานในหน้าที่ตามคำสั่งดังกล่าว และถือว่าเป็นการให้ยกเลิกคำสั่งต่าง ๆ ดังกล่าวไว้ก่อน จนกว่าจะได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงและนำปัญหาข้อกฎหมายหารือส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้ข้อยุติต่อไป หากผลการหารือปรากฏว่าถูกต้อง คำสั่งต่าง ๆ ดังกล่าวก็จะมีผลสมบูรณ์มาตั้งแต่ต้น หากไม่ถูกต้องก็จะได้ดำเนินการสรรหาใหม่ ซึ่งผู้ได้รับแต่งตั้งตามคำสั่งดังกล่าวจะได้รับการพิจารณาด้วย วันที่ 29 ตุลาคม 2546 จำเลยซึ่งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีคำสั่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ 310/2546 เรื่อง รับโอนข้าราชการพลเรือนสามัญ โดยให้รับโอนนายดำรงค์ ผู้อำนวยการสำนัก (นักวิชาการป่าไม้ 9) สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนัก (นักวิชาการป่าไม้ 9) สำนักส่งเสริมการปลูกป่าเศรษฐกิจ กรมป่าไม้ และวันที่ 12 พฤศจิกายน 2546 นายดำรงค์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการปลูกป่าเศรษฐกิจ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมป่าไม้ มีคำสั่งกรมป่าไม้ ที่ 543/2546 เรื่อง ย้ายข้าราชการ โดยความเห็นชอบจากจำเลยในฐานะปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ย้ายโจทก์ไปดำรงตำแหน่งป่าไม้จังหวัดอำนาจเจริญ ต่อมามีคำสั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ 559/2546 ให้ยกเลิกคำสั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ 399/2546 ต่อมาศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ 278/2546 เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับการระงับการแต่งตั้งโจทก์ตามคำสั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ 399/2546 และเพิกถอนคำสั่งกรมป่าไม้ ที่ 543/2546 เฉพาะในส่วนที่ย้ายโจทก์ ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีคำสั่ง ที่ 122/2557 ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2557 ให้ยกเลิกคำสั่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ 278/2546 และกรมป่าไม้มีคำสั่ง ที่ 1583/2557 ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2557 ให้ยกเลิกคำสั่งกรมป่าไม้ ที่ 543/2546 แล้ว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าในขณะที่โจทก์ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกอง (เจ้าหน้าที่บริหารงานป่าไม้ 8) กองการอนุญาต กรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนัก (นักวิชาการป่าไม้ 9) สำนักส่งเสริมการปลูกป่าเศรษฐกิจ กรมป่าไม้ ตามคำสั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ 399/2546 ลงวันที่ 4 กันยายน 2546 ดังนี้ ผู้บังคับบัญชาของโจทก์ในขณะนั้น คือ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คำสั่งดังกล่าวเป็นการแต่งตั้งข้าราชการทดแทนข้าราชการที่จะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายน 2546 จึงต้องกำหนดให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2546 ประกอบกับไม่ปรากฏว่าการออกคำสั่งดังกล่าวมีผลประโยชน์แอบแฝงหรือเอื้อประโยชน์แก่ผู้หนึ่งผู้ใดโดยมิชอบ ตรงกันข้ามกลับจะเป็นประโยชน์ต่องานราชการของสำนักส่งเสริมการปลูกป่าเศรษฐกิจจะได้ดำเนินอย่างต่อเนื่อง ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงเป็นผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจแต่งตั้งโจทก์ให้ดำรงตำแหน่งในระดับ 9 คำสั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ 399/2546 จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย แม้มีพระราชกฤษฎีกาให้โอนกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปเป็นกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2546 เป็นต้นไป ทำให้คำสั่งแต่งตั้งโจทก์ให้ดำรงตำแหน่งในระดับ 9 เป็นคำสั่งแต่งตั้งล่วงหน้าโดยมีผลใช้บังคับในวันที่กรมป่าไม้โอนย้ายจากสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่จำเลยกลับมีคำสั่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ 278/2546 ให้ระงับการมอบหมายงานในหน้าที่ตามคำสั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ 399/2546 และมีคำสั่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ 310/2546 ลงวันที่ 29 ตุลาคม 2546 รับโอนนายดำรงค์ ผู้อำนวยการสำนัก (นักวิชาการป่าไม้ 9) สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนัก (นักวิชาการป่าไม้ 9) สำนักส่งเสริมการปลูกป่าเศรษฐกิจ กรมป่าไม้ แทนโจทก์ โดยไม่ดำเนินการสรรหา แสดงว่าจำเลยเจตนาไม่ให้โจทก์ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนัก (นักวิชาการป่าไม้ 9) สำนักส่งเสริมการปลูกป่าเศรษฐกิจ และจะไม่สรรหาผู้มาดำรงตำแหน่งดังกล่าว แต่จะโอนนายดำรงค์มาดำรงตำแหน่งดังกล่าวแทน เมื่อนายดำรงค์โอนมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการปลูกป่าเศรษฐกิจแล้ว นายดำรงค์ในฐานะรักษาราชการแทนอธิบดีกรมป่าไม้ ได้ทำบันทึกข้อความลงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2546 เสนอขอความเห็นชอบจากจำเลยในฐานะปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อสับเปลี่ยนตำแหน่ง ให้โจทก์ไปดำรงตำแหน่งป่าไม้จังหวัดอำนาจเจริญแทนนายสุนันต์ และให้นายสุนันต์ไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองการอนุญาตแทนโจทก์ ซึ่งจำเลยมีคำสั่งเห็นชอบ พฤติการณ์บ่งชี้ว่าจำเลยมีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ ไม่ให้โจทก์ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการปลูกป่าเศรษฐกิจ และให้โจทก์ไปดำรงตำแหน่งป่าไม้จังหวัดอำนาจเจริญ โดยการใช้นายดำรงค์ให้มีคำสั่งย้ายโจทก์ไปดำรงตำแหน่งดังกล่าวโดยความเห็นชอบของจำเลย คำสั่งและความเห็นชอบของจำเลยเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบ ดังนั้น การกระทำของจำเลยที่ออกคำสั่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ 278/2546 ให้ระงับการมอบหมายงานในหน้าที่ตามคำสั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ 399/2546 และให้ถือว่าเป็นการยกเลิกคำสั่งดังกล่าวไว้ก่อน จึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ส่วนที่จำเลยใช้ให้นายดำรงค์ออกคำสั่งกรมป่าไม้ ที่ 543/2546 ย้ายโจทก์ไปดำรงตำแหน่งป่าไม้จังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งเป็นการย้ายไปดำรงตำแหน่งที่ต่ำกว่าเดิม นั้น เห็นว่า แม้จำเลยจะดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการที่สังกัดในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็ตาม แต่อำนาจหน้าที่ในการบรรจุแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการระดับ 8 ให้อธิบดีผู้บังคับบัญชาเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ดังกล่าวเมื่อได้รับความเห็นชอบจากปลัดกระทรวง ไม่ใช่เป็นอำนาจหน้าที่ของปลัดกระทรวงโดยตรง จำเลยในฐานะปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่มีอำนาจสั่งย้ายโจทก์ให้ไปดำรงตำแหน่งป่าไม้จังหวัดอำนาจเจริญด้วยตนเอง จึงขาดคุณสมบัติเฉพาะตัวตามที่กฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะ ไม่อาจลงโทษจำเลยในฐานะเป็นตัวการเพราะใช้ให้กระทำความผิดได้ แต่การที่จำเลยให้นายดำรงค์ออกคำสั่งย้ายโจทก์ ถือได้ว่าเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้สนับสนุนในความผิดส่วนนี้ได้
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (เดิม) และมาตรา 157 (เดิม) ประกอบมาตรา 86 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จำคุก 1 ปี และฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จำคุก 8 เดือน รวมจำคุก 1 ปี 8 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมคดีส่วนแพ่งในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share