แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การแจ้งข้อหาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 นั้น แม้พนักงานสอบสวนจะมิได้แจ้งข้อหาจำเลยทุกข้อหากระทงความผิดก็ตาม แต่เมื่อภายหลังได้ดำเนินการสอบสวนแล้วปรากฏว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานอื่นด้วย ก็ถือได้ว่าได้มีการสอบสวนในข้อหาฐานอื่นที่มิได้แจ้งข้อหาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 แล้ว เมื่อพนักงานอัยการโจทก์บรรยายฟัองว่า จำเลยกระทำความผิดฐานบุกรุกเข้ายึดถือครอบครอง ก่นสร้างและแผ้วถางป่าสงวนแห่งชาติด้วยโดยบรรยายฟ้องว่าได้มีการสอบสวนความผิดฐานดังกล่าวแล้ว อีกทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดที่แสดงว่าการสอบสวนไม่ชอบ จึงถือได้ว่ามีการสอบสวนในข้อหาตามฟ้องทุกข้อหาแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
การที่จำเลยบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครอง แผ้วถางป่าสงวนแห่งชาติ และทำไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการกระทำความผิดในคราวเดียวกัน จึงเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทต้องลงโทษตามกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 แต่ความผิดฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามยังมิได้แปรรูปไว้โดยไม้ดังกล่าวไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขาย และจำเลยพิสูจน์ไม่ได้ว่าเป็นไม้ที่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายนั้นเป็นการกระทำต่างวาระกันกับการกระทำความผิดสองฐานดังกล่าว จึงเป็นความผิดต่างกรรมกันกับความผิดสองฐานดังกล่าวต้องลงโทษต้องลงโทษจำเลยอีกกระทงความผิดหนึ่งรวมแล้วลงโทษจำเลยเป็น 2 กระทงความผิด หาใช่ลงโทษจำเลยเป็น 3 กระทงความผิดดังที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามาไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 10 เมษายน 2542 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 26 เมษายน 2542 เวลากลางวัน ติดต่อกันทั้งกลางวันและกลางคืน จำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองก่นสร้างและแผ้วถางป่าสงวนแห่งชาติ ป่าละแมในท้องที่ตำบลพะโต๊ะ อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำลำธารอันเป็นการกระทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติเนื้อที่ 2 ไร่ ทำให้รัฐเสียหายต้องปลูกป่าทดแทนรวมเป็นเงิน 300,000 บาท โดยไม่ได้รับอนุญาต และมิได้รับการยกเว้นใดๆ ตามกฎหมายจำเลยทำไม้ไข่เขียว 1 ต้น ไม้หว้า 1 ต้น และไม้ยาง 2 ต้น ซึ่งเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ในเขตป่าสงวนเห่งชาติดังกล่าว โดยตัดฟันออกจากต้น 4 ต้น รวมปริมาตร 3.22 ลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และมิได้รับสัมปทานตามกฎหมาย จำเลยมีไม้รวม 3 ชนิด อันยังไม่ได้แปรรูปซึ่งเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ดังกล่าวไว้ในครอบครอง โดยไม้ไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตามรัฐบาลขายและจำเลยพิสูจน์ไม่ได้ว่าเป็นไม้ที่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายเหตุเกิดที่ตำบลพะโต๊ะ อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 4, 6, 9, 14, 31, 35 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 7, 11, 54, 69, 73, 74, 74 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91 ริบไม้ 4 ต้น ของกลาง และสั่งให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารจำเลยออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าว
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรคสอง (3) พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง, 54 วรรคหนึ่ง, 69 วรรคสอง (1) (ที่ถูก และมาตรา 72 ตรี วรรคหนึ่ง), 73 วรรคสอง (1) เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเข้าไปยึดถือครอบครอง ก่นสร้างและแผ้วถางป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 2 ปี ฐานทำไม้หวงห้ามไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 2 ปี รวมจำคุก 6 ปี ริบไม้ของกลาง กับให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของจำเลยออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติตามฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ลงโทษความผิดฐานทำไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี และความผิดฐานมีไม้หวงห้ามไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี สำหรับความผิดฐานเข้าไปยึดถือ ครอบครอง ก่นสร้างและแผ้วถางป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน รวมจำคุกทั้งสิ้น 3 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว …ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ จำเลยฎีกาว่าคดีนี้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนโดยไม่ชอบ ชั้นจับกุมเจ้าพนักงานผู้จับกุมแจ้งข้อหาจำเลยฐานบุกรุกเข้ายึดครอบครอง แผ้วถางป่าสงวนแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 เพียงข้อหาเดียว เมื่อถึงชั้นสอบสวนพนักงานสอบสวนก็มิได้แจ้งข้อหาจำเลยว่ากระทำความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 เรื่องทำไม้และมีไม้หวงห้ามไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตแต่อย่างใด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า การแจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 นั้น แม้พนักงานสอบสวนจะมิได้แจ้งข้อหาจำเลยทุกข้อหากระทงความผิดก็ตาม แต่เมื่อภายหลังได้ดำเนินการสอบสวนแล้วปรากฏว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานอื่นด้วย ก็ถือได้ว่าได้มีการสอบสวนในข้อหาฐานอื่นที่มิได้แจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 แล้ว เมื่อพนักงานอัยการโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานบุกรุกเข้ายึดถือครอบครองก่นสร้างและแผ้วถางป่าสงวนแห่งชาติด้วย โดยบรรยายฟ้องว่าได้มีการสอบสวนความผิดฐานดังกล่าวแล้ว ตามสำนวนก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดที่แสดงว่าการสอบสวนไม่ชอบ จึงถือได้ว่ามีการสอบสวนในข้อหาตามฟ้องทุกข้อหาแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยข้อที่สองมีว่า การกระทำความผิดของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทหรือเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เห็นว่า การที่จำเลยบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครอง แผ้วถางป่าสงวนแห่งชาติ และทำไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการกระทำความผิดในคราวเดียวกัน จึงเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทต้องลงโทษตามกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่ความผิดฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามยังมิได้แปรรูปไว้โดยไม้ดังกล่าวไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขายและจำเลยพิสูจน์ไม่ได้ว่าเป็นไม้ที่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายนั้นเป็นการกระทำต่างวาระกันกับการกระทำความผิดสองฐานดังกล่าว จึงเป็นความผิดต่างกรรมกันกับความผิดสองฐานดังกล่าวต้องลงโทษจำเลยอีกกระทงความผิดหนึ่งรวมแล้วลงโทษจำเลยเป็น 2 กระทงความผิดหาใช่ลงโทษจำเลยเป็น 3 กระทงความผิดดังที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามาไม่ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
ปัญหาฎีกาข้อสุดท้ายของจำเลยมีว่าสมควรรอการลงโทษให้จำเลยหรือไม่ เห็นว่า จำเลยก่นสร้าง ยึดถือ ครอบครองและแผ้วถางป่าสงวนแห่งชาติซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธาร ส่งผลเสียหายแก่ป่าไม้ซึ่งเป็นทรัพย์ยากรสำคัญของประเทศชาติ และยังเป็นการทำลายแหล่งต้นน้ำลำธารส่งผลกระทบต่อคุณภาพของสิ่งแวดล้อม พฤติการณ์แห่งคดีนับว่าร้ายแรง ที่ศาลล่างทั้งสองไม่รอการลงโทษจำคุกให้จำเลยนั้น เป็นการใช้ดุลพินิจในการลงโทษที่เหมาะสมแก่ความผิดของจำเลยแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดฐานแผ้วถางป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติและทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้ลงโทษจำเลยฐานทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11, 73 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดจำคุก 1 ปี 6 เดือน ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาไว้ เมื่อรวมกับโทษฐานมีไม้หวงห้ามมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมายที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาไว้แล้ว คงจำคุกจำเลยรวม 2 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8