คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6675/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การยกข้อค้านเรื่องผิดระเบียบขึ้นกล่าวอ้างนั้น ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคสอง บัญญัติว่า คู่ความฝ่ายนั้นต้องมิได้ดำเนินการอันใดขึ้นใหม่หลังจากที่ได้ทราบเรื่องผิดระเบียบแล้ว หรือต้องมิได้ให้สัตยาบันแก่การผิดระเบียบนั้นๆ คดีนี้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า โจทก์ยื่นคำแถลงขอให้ศาลออกนั่งพิจารณาเพื่อพิจารณาสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลชั้นต้นออกนั่งพิจารณาและมีคำพิพากษาตามยอมในวันเดียวกัน โดยศาลชั้นต้นบันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาว่า คู่ความทั้งสองฝ่ายแถลงร่วมกันว่าสามารถทำยอมกันได้ พร้อมกับเสนอสัญญาประนีประนอมยอมความให้ศาลชั้นต้นตรวจพิจารณา ศาลชั้นต้นตรวจดูแล้วเห็นว่าไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จึงพิพากษาตามยอมและออกคำบังคับแก่จำเลย ซึ่งปรากฏว่าจำเลยได้ลงลายมือชื่อไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาฉบับดังกล่าว ทั้งได้ลงลายมือชื่อรับทราบการอ่านคำพิพากษาและคำบังคับไว้ที่ปกสำนวนด้วย ข้อเท็จจริงในส่วนนี้จำเลยมิได้โต้แย้งมาในคำร้องว่าศาลชั้นต้นบันทึกไม่ถูกต้องตรงกับความจริงแต่อย่างใด ดังนั้น แม้จะฟังตามคำร้องของจำเลยว่า จำเลยมิได้ลงลายมือชื่อต่อหน้าศาลตามที่ระบุไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยขณะลงลายมือชื่อจำเลยอยู่นอกห้องพิจารณาคดีและไม่พบเห็นผู้พิพากษาก็ตาม แต่การที่จำเลยยังคงดำเนินกระบวนพิจารณาต่อมาจนศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมและออกคำบังคับแก่จำเลย ถือได้ว่าจำเลยยอมรับความถูกต้องของสัญญาประนีประนอมยอมความและได้ให้สัตยาบันแก่การกระทำที่อ้างว่าผิดระเบียบนั้นแล้ว จำเลยจึงไม่อาจยกเอาเหตุที่จำเลยมิได้ลงลายมือชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าศาลขึ้นเป็นข้อค้านเรื่องผิดระเบียบได้อีก ทั้งการที่โจทก์มิได้นำส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยในกรณีเช่นนี้ก็หาใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบไม่

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรับผิดในฐานะภริยาและผู้รับสภาพหนี้ของนายมนตรี อัศวเรืองชัย ลูกหนี้ของโจทก์ซึ่งถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมโดยมีข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความว่าจำเลยตกลงยอมชำระเงิน 10,294,854.98 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงิน 8,594,452.47 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจกท์ โดยผ่อนชำระเป็นรายเดือน และยอมชำระค่าธรรมเนียมส่วนที่ศาลไม่สั่งคืนกับค่าทนายความอีก 10,000 บาท แก่โจทก์ หากผิดนัดยอมให้โจทก์บังคับคดียึดทรัพย์สินที่จำนองออกขายทอดตลาด หากได้เงินไม่พอยอมให้โจทก์ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์จนครบ คดีถึงที่สุดแล้ว
จำเลยยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอม
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า กรณีตามคำร้องไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ไม่มีเหตุออกคำสั่งได้ตามคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่า คำร้องของจำเลยเป็นเรื่องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ แต่ไม่ปรากฏว่ามีกระบวนพิจารณาขั้นตอนใดผิดระเบียบพิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาสรุปความว่า ขณะจำเลยลงลายมือชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความยังไม่มีลายมือชื่อของผู้พิพากษา สัญญาประนีประนอมยอมความมิได้กระทำต่อหน้าศาลดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยทั้งยังไม่มีการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยโดยเจ้าพนักงานศาล กระบวนพิจารณาจึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า การยกข้อค้านเรื่องผิดระเบียบขึ้นกล่าวอ้างนั้นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคสอง บัญญัติว่า คู่ความฝ่ายนั้นต้องมิได้ดำเนินการอันใดขึ้นใหม่หลังจากที่ได้ทราบเรื่องผิดระเบียบแล้วหรือต้องมิได้ให้สัตยาบันแก่การผิดระเบียบนั้นๆ คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏตามสำนวนว่าโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2543 ต่อมาวันที่ 29 พฤษภาคม 2543 โจทก์ยื่นคำแถลงขอให้ศาลออกนั่งพิจารณาเพื่อพิจารณาสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลชั้นต้นออกนั่งพิจารณาและมีคำพิพากษาตามยอมในวันเดียวกันโดยศาลชั้นต้นบันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2543 ว่า คู่ความทั้งสองฝ่ายแถลงร่วมกันว่าสามารถทำยอมกันได้ พร้อมกับเสนอสัญญาประนีประนอมยอมความให้ศาลชั้นต้นตรวจพิจารณา ศาลชั้นต้นตรวจดูแล้วเห็นว่าไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จึงพิพากษาตามยอมและออกคำบังคับแก่จำเลยซึ่งปรากฏว่าจำเลยได้ลงลายมือชื่อไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาฉบับดังกล่าวทั้งได้ลงลายมือชื่อรับทราบการอ่านคำพิพากษาและคำบังคับไว้ที่ปกสำนวนด้วย ข้อเท็จจริงในส่วนนี้จำเลยมิได้โต้แย้งมาในคำร้องว่าศาลชั้นต้นบันทึกไม่ถูกต้องตรงกับความจริงแต่อย่างใด ดังนั้น แม้จะฟังตามคำร้องของจำเลยว่า จำเลยมิได้ลงลายมือชื่อต่อหน้าศาลตามที่ระบุไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยขณะลงลายมือชื่อจำเลยอยู่นอกห้องพิจารณาคดีและไม่พบเห็นผู้พิพากษาก็ตาม แต่การที่จำเลยยังคงดำเนินกระบวนพิจารณาต่อมาจนศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมและออกคำบังคับแก่จำเลย ถือได้ว่าจำเลยยอมรับความถูกต้องของสัญญาประนีประนอมยอมความและได้ให้สัตยาบันแก่การกระทำที่อ้างว่าเป็นการผิดระเบียบนั้นแล้ว จำเลยจึงไม่อาจยกเอาเหตุที่จำเลยมิได้ลงลายมือชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าศาลขึ้นเป็นข้อค้านเรื่องผิดระเบียบได้อีก ทั้งการที่โจทก์มิได้นำส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยในกรณีเช่นนี้ก็หาใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบไม่ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share