คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6650/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ปัญหาว่าการกักขังแทนค่าปรับถูกต้องหรือไม่ เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย โจทก์ผู้อุทธรณ์จึงยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 225 ประกอบมาตรา 195 วรรคสอง
การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ในกรณีต้องกักขังจำเลยคดีนี้แทนค่าปรับก็ให้กักขังจำเลยคดีนี้ได้ไม่เกินกำหนด 6 เดือน แม้ศาลชั้นต้นจะใช้คำว่าแบ่งกักขังซึ่งตาม ป.อ. มาตรา 30 มิได้บัญญัติไว้เช่นนั้นก็ตาม แต่เป็นการกำหนดเงื่อนไขเพื่อบังคับโทษปรับ เพราะ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ให้ลงโทษปรับจำเลยที่ร่วมกระทำความผิดทุกคนรวมกันเป็นเงินรวมสี่เท่าของราคาของบวกค่าอากรเข้าด้วยแล้ว โดยต้องถือว่าค่าปรับจำเลยทุกคนเป็นจำนวนเดียวกัน ศาลชั้นต้นจึงได้กำหนดเงื่อนไขในการบังคับโทษปรับคดีนี้เพื่อมิให้ลงโทษเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด จึงชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 มาตรา 4, 147 (2), ประมวลรัษฎากร มาตรา 90/4 (6) และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่เมื่อสืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ประกอบกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 2 เดือน และปรับกระทงละเป็นเงิน 4 เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว ตามตารางเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 ตั้งแต่ข้อ 1 ถึงข้อ 104 รวม 104 กระทง รวมจำคุก 208 เดือน และปรับ 424,939,552.16 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 104 เดือน และปรับ 212,469,776.08 บาท ให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 3 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ความผิดคดีนี้เป็นความผิดเดียวกันกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3585/2551 ของศาลชั้นต้น ซึ่งศาลลงโทษปรับจำเลยทั้งสามในคดีดังกล่าวเป็นเงิน 4 เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรขาเข้าด้วยแล้ว จึงให้กำหนดเงื่อนไขในการบังคับโทษปรับคดีนี้ว่า หากจำเลยทั้งสามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3585/2551 ของศาลชั้นต้น ชำระค่าปรับหรือถูกกักขังแทนค่าปรับในคดีดังกล่าวแล้วเพียงใด ก็ให้นำมาหักออกจากค่าปรับของจำเลยในคดีนี้ และในกรณีที่ต้องกักขังจำเลยคดีนี้แทนค่าปรับก็ให้แบ่งกักขังจำเลยคดีนี้ได้ไม่เกินกำหนด 6 เดือน ยกฟ้องความผิดฐานร่วมกันนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิได้เสียภาษีสรรพสามิต และฐานร่วมกันหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่มโดยกระทำการใด ๆ โดยความเท็จ โดยฉ้อโกง หรืออุบาย หรือวิธีการอื่นใด
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่รอการลงโทษให้แก่จำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่า ศาลชั้นต้นแบ่งโทษกักขังแทนค่าปรับจำเลยไม่เกิน 6 เดือน เป็นการไม่ชอบเพราะประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 30 มิได้บัญญัติให้แบ่งการกักขังจำเลยได้นั้น เห็นว่า แม้ศาลอุทธรณ์จะเห็นว่าอุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป แต่ปัญหาว่าการกักขังแทนค่าปรับถูกต้องหรือไม่นั้นเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย โจทก์ผู้อุทธรณ์จึงยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225 ประกอบมาตรา 195 วรรคสอง อีกทั้งเมื่อคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาแล้ว จึงเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียว เห็นว่า การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ในกรณีต้องกักขังจำเลยคดีนี้แทนค่าปรับก็ให้แบ่งกักขังจำเลยคดีนี้ได้ไม่เกินกำหนด 6 เดือน แม้ศาลชั้นต้นจะใช้คำว่า แบ่งกักขัง ซึ่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 30 มิได้บัญญัติไว้เช่นนั้นก็ตาม แต่เป็นการกำหนดเงื่อนไขเพื่อบังคับโทษปรับเพราะพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ให้ลงโทษปรับจำเลยที่ร่วมกระทำความผิดทุกคนรวมกันเป็นเงินรวมสี่เท่าของราคาของบวกค่าอากรเข้าด้วยแล้ว โดยต้องถือว่าค่าปรับจำเลยทุกคนเป็นจำนวนเดียวกัน ศาลชั้นต้นจึงได้กำหนดเงื่อนไขในการบังคับโทษปรับคดีนี้เพื่อมิให้ลงโทษเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด จึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share