คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6648/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้จำเลยที่ 2 จะได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นรูปรวงข้าวอยู่ในวงกลมสำหรับสินค้าจำพวกเครื่องจักร กับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นรูปรวงข้าวอยู่ในวงกลมและมีภาษาไทยคำว่า “ตรารวงข้าว” อยู่ใต้รูปสำหรับสินค้าจำพวกเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 และยังคงจดทะเบียนอยู่ในวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้าข้างต้นต่อไปตามมาตรา 117 ก็ตาม แต่การที่จำเลยทั้งสองใช้เครื่องหมายการค้ารูปรวงข้าวในวงกลมและคำว่า “InterNationalGroup” กับสินค้าจำพวกเครื่องไฟฟ้าโดยไม่มีคำว่า “ตรารวงข้าว” กำกับ ทั้งยังเน้นคำว่า “National” ซึ่งไม่ใช่เครื่องหมายการค้าของตนให้ใหญ่เป็นพิเศษยิ่งกว่าคำอื่น ย่อมแสดงว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหาย ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ไม่ได้วินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองยังคงมีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้าตรารวงข้าวที่จำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนไว้ตามกฎหมายเดิมต่อไปหรือไม่จึงไม่ทำให้จำเลยทั้งสองเสียเปรียบหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมแต่อย่างใด เพราะข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับสิทธิในการใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสองเป็นคนละเรื่องกับการจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าเลียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “National” ของผู้เสียหาย ฎีกาของจำเลยทั้งสองจึงไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น จำเลยคงมีความผิดตามฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า บริษัทมัทซูชิต้า อีเล็คตริ๊ค อินดัสเตรียล จำกัด(MATSUSHITA ELECTRIC INDUSTRIAL CO.,LTD) ผู้เสียหาย เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า “National” ซึ่งจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าจำพวก (เดิม) 8 (ใหม่) 9 และ 11 ประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดต่าง ๆ จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2537 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองร่วมกันมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดต่าง ๆ คือ พัดลมไฟฟ้า จำนวน 1,680 เครื่อง กระติกน้ำร้อนไฟฟ้าจำนวน 228 เครื่อง เครื่องดักยุงไฟฟ้า จำนวน 84 เครื่อง เตารีดไฟฟ้า จำนวน 604 เครื่อง กระทะไฟฟ้า จำนวน 204 เครื่อง ไฟตั้งโต๊ะ จำนวน 1,440 เครื่อง และหม้อหุงข้าวไฟฟ้าจำนวน 234 เครื่อง รวมจำนวน 4,474 เครื่องซึ่งมีเครื่องหมายการค้าคำว่า “Inter National Group” และ “Inter National” ปรากฏที่สินค้าทั้งหมด โดยเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเน้นคำว่า “National” เป็นอักษรขนาดใหญ่เด่นชัด ส่วนคำว่า “Inter” และ “Group” มีอักษรขนาดเล็กกว่าคำว่า “National” มากอันเป็นการทำให้คล้ายคลึงกับเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหาย เป็นการเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหาย เจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งสองได้พร้อมสินค้าดังกล่าว จำนวน 4,474 เครื่อง ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่จำเลยทั้งสองใช้ในการกระทำผิดเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 109, 110, 115 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และริบของกลาง

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 109, 110(1), 115 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ปรับ 200,000 บาท จำเลยที่ 2 จำคุก 1 ปี และปรับ200,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เคยรับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ในกรณีที่จำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า”มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในปัญหาข้อกฎหมายว่า เมื่อพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มีผลใช้บังคับแล้ว จำเลยทั้งสองยังคงมีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนไว้แล้วตามกฎหมายเดิมต่อไปหรือไม่ เห็นว่าแม้จำเลยที่ 2 อ้างว่าได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นรูปรวงข้าวอยู่ในวงกลมสำหรับสินค้าจำพวกที่ 6 ได้แก่ เครื่องจักรทุกชนิดตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน 2522 และหมดอายุวันที่ 17 กันยายน 2534 ตามเอกสารหมาย ล.2 และ ล.7 กับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นรูปและคำ คือเป็นรูปรวงข้าวอยู่ในวงกลมและมีภาษาไทยคำว่าตรารวงข้าวอยู่ใต้รูป สำหรับสินค้าจำพวกที่ 8 ได้แก่บรรดาเครื่องมือในทางวิทยาศาสตร์สำหรับใช้เป็นประโยชน์ต่าง ๆ ตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน 2533 หมดอายุวันที่ 17 กันยายน 2534 ตามเอกสารหมาย ล.3 และ ล.8 ซึ่งเป็นการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 และยังคงจดทะเบียนอยู่ในวันที่พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ใช้บังคับ จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้าข้างต้นต่อไปได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 117 ก็ตาม แต่ตามข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสองใช้เครื่องหมายการค้ารูปรวงข้าวในวงกลม และคำว่า “Inter National Group” กับสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าซึ่งเป็นสินค้าจำพวกที่ 8 ตามกฎหมายเดิมโดยไม่มีภาษาไทยคำว่า “ตรารวงข้าว” กำกับอยู่ด้วย ทั้งยังเน้นคำว่า “National” ซึ่งไม่ใช่เครื่องหมายการค้าของตนให้ใหญ่เป็นพิเศษยิ่งกว่าคำอื่นย่อมแสดงว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายนั้น ด้วยเหตุนี้แม้ศาลอุทธรณ์ไม่ได้วินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองยังคงมีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้าตรารวงข้าวที่จำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนไว้ตามกฎหมายเดิมต่อไปหรือไม่ก็ไม่ทำให้จำเลยทั้งสองเสียเปรียบหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมแต่อย่างใด เพราะข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับสิทธิในการใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสองเป็นคนละเรื่องกับที่จำเลยทั้งสองร่วมกันจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าเลียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “National” ของผู้เสียหาย จึงไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share