แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้บันทึกที่บริษัทจำเลยที่ 1 มีถึงพนักงานทุกคนให้ละเว้นการออกเงินกู้ด้วยดอกเบี้ยสูงจะมิใช่ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับทำงาน แต่บันทึกดังกล่าวมีสภาพเป็นคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย การที่โจทก์นำเงินมาให้เพื่อนพนักงานซึ่งมีหน้าที่เก็บเงินจากลูกค้ากู้ยืมและเรียกดอกเบี้ยในอัตราสูงจึงเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลยที่ 1แต่มิใช่เป็นกรณีที่ร้ายแรง เพราะมิได้ทำให้มีผลกระทบต่อกิจการของจำเลยที่ 1 ให้เสียหายอย่างชัดแจ้ง เมื่อจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ โดยไม่ปรากฏว่าได้มีการตักเตือนเป็นหนังสือและโจทก์กระทำผิดซ้ำคำเตือน จำเลยที่ 1 จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ แต่การที่โจทก์จงใจฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว จำเลยที่ 1 ย่อมเลิกจ้างโจทก์ได้โดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ทั้งเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 มีเหตุที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้โดยชอบ จึงไม่เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
แม้โจทก์จะฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ เพราะโจทก์เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานหนังสือพิมพ์ที่มีบทบาทในการต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมในบริษัทจำเลยที่ 1 อันเป็นการบรรยายว่าจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโดยฝ่าฝืนมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯอันเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมก็ตาม แต่โจทก์ก็ได้บรรยายฟ้องมาด้วยว่า การที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 49 ด้วย ดังนี้ แม้โจทก์จะไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ในข้อหาการกระทำอันไม่เป็นธรรม แต่โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องในข้อหาว่า จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมได้
แม้โจทก์จะขอให้จำเลยที่ 1 จ่ายดอกเบี้ยสำหรับค่าชดเชยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีก็ตาม แต่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 9 วรรคหนึ่ง กำหนดถึงกรณีที่นายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย นายจ้างต้องเสียดอกเบี้ยแก่ลูกจ้างในระหว่างเวลาที่ผิดนัดร้อยละสิบห้าต่อปี ดังนั้น เพื่อความเป็นธรรมศาลจึงเห็นสมควรให้จำเลยที่ 1 เสียดอกเบี้ยในค่าชดเชยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีนับแต่วันฟ้องให้แก่โจทก์ ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 52
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2526 จำเลยที่ 1 รับโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างในตำแหน่งเสมียนพิมพ์ดีด ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ11,400 บาท ต่อมาวันที่ 30 พฤศจิกายน 2541 จำเลยที่ 1 มีหนังสือบอกเลิกจ้างโจทก์อ้างว่าโจทก์ฝ่าฝืนคำสั่งของนายจ้างที่ห้ามพนักงานออกเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยสูงซึ่งข้ออ้างของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นความจริง แต่เนื่องจากจำเลยที่ 1 มีความประสงค์ที่จะลดจำนวนพนักงานและโจทก์เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ที่มีบทบาทในการต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมในบริษัทจำเลยที่ 1 ทำให้ผู้บริหารของจำเลยที่ 1ไม่พอใจหาทางกลั่นแกล้งเลิกจ้างโจทก์ โจทก์ถูกเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอเรียกค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าโจทก์เกษียณอายุรวมเป็นเงิน 2,724,600 บาท โจทก์มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน1 เดือน เป็นเงิน 11,400 บาท และค่าชดเชยเป็นเงิน 114,000 บาท กับเงินโบนัสในปีที่โจทก์ถูกเลิกจ้างอีก 11,400 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 มีหน้าที่จ่ายเงินสะสม เงินสมทบและผลประโยชน์แก่โจทก์จำนวน 30,449.82 บาท ก่อนฟ้องโจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 จ่ายค่าชดเชยจำนวน 114,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 11,400 บาท ค่าเสียหายกรณีเลิกจ้างไม่เป็นธรรม 2,724,600บาท เงินโบนัส 11,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะจ่ายเงินเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 คืนเงินสะสม (ที่ถูกเป็นเงินสมทบ) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจำนวน 30,449.82 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันแก่โจทก์ด้วย
จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การว่า ตามฟ้องโจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์เพราะต้องการกลั่นแกล้งโจทก์ซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์และมีบทบาทในการต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมในบริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 กระทำการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 121(1) และ (2) ซึ่งโจทก์จะต้องยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ภายใน 60 วัน นับแต่วันแจ้งเลิกจ้าง เพื่อให้คณะกรรมการดังกล่าววินิจฉัยเสียก่อนแต่โจทก์ไม่ได้ดำเนินการ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ออกเงินให้พนักงานของจำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยในอัตราสูง ซึ่งเป็นการกระทำผิดพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 และเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 1 การกระทำของโจทก์ทำให้พนักงานของจำเลยที่ 1 มีภาระหนักในการต้องหาเงินชำระหนี้และต้องคอยหลบหน้าหนีเจ้าหนี้ทำให้เป็นที่เสียหายแก่การทำงานโดยรวม จำเลยที่ 1 จึงเลิกจ้างโจทก์ได้ ไม่ใช่การเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำเลยที่ 1 ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยที่ 1 จ่ายค่าจ้างให้พนักงานทุกวันที่ 15 และทุกวันสิ้นเดือน ดังนั้นหากจำเลยที่ 1 ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์ จำเลยที่ 1 ก็ต้องจ่ายให้เพียง 15 วัน เป็นเงิน5,700 บาท เท่านั้น โจทก์ถูกเลิกจ้างเพราะฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 ผู้เป็นนายจ้างอันเป็นการกระทำผิดข้อบังคับของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินสมทบส่วนของนายจ้างแก่โจทก์ตามข้อบังคับของจำเลยที่ 2 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 เพราะจำเลยที่ 2 ไม่ใช่ผู้มีหน้าที่จ่ายเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพผู้มีหน้าที่คือธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้จัดการกองทุน จำเลยที่ 1 มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในการจ่ายเงินโบนัสว่าจะต้องดูผลประกอบการและงบดุลของจำเลยที่ 1 ทั้งเป็นอำนาจของคณะกรรมการของจำเลยที่ 1 ที่จะอนุมัติจ่ายหรือไม่ก็ได้ ซึ่งในปี 2541 ไม่มีการจ่ายเงินโบนัส โจทก์มิได้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1จนถึงวันสิ้นปี 2541 อันเป็นเวลาพิจารณาจ่ายเงินโบนัส โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า คำฟ้องโจทก์ไม่ได้กล่าวอ้างสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างซึ่งอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าจำเลยที่ 1 กระทำการอันไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 โจทก์จึงไม่ต้องยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ให้วินิจฉัยก่อนฟ้องคดีต่อศาล โจทก์มีอำนาจฟ้องโจทก์นำเงินมาให้เพื่อนพนักงานกู้ยืมโดยเรียกดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ถึง 8 ต่อเดือน เป็นการหาประโยชน์จากการให้กู้ยืมซึ่งเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1พนักงานผู้กู้ยืมทำหน้าที่เก็บเงินจากลูกค้าของจำเลยที่ 1 เมื่อพนักงานเหล่านั้นต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราสูงย่อมได้รับความเดือดร้อนและวิตกกังวลในการหาเงินมาชำระดอกเบี้ยและต้นเงินแก่โจทก์ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงาน ทำให้จำเลยที่ 1 เสียหายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าวจึงเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์โดยมีเหตุอันสมควร ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยที่ 1 ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า การจ่ายเงินโบนัสเป็นดุลพินิจของจำเลยที่ 1 ที่จะจ่ายหรือไม่ก็ได้ตามผลประกอบการและโจทก์ออกจากงานเพราะมีความผิดก่อนกำหนดจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินโบนัส โจทก์ถูกเลิกจ้างเพราะฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 เป็นกรณีร้ายแรงจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินสะสม (ที่ถูกเป็นเงินสมทบ) จากจำเลยที่ 2 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม เงินโบนัสพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีและจำเลยที่ 2ต้องคืนเงินสะสม (ที่ถูกเป็นเงินสมทบ) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันแก่โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ มีปัญหาต้องวินิจฉัยในเบื้องต้นว่าโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 เป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่ ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 ทำหน้าที่เสมียนพนักงานแผนกเครดิต เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2537 จำเลยที่ 1 มีบันทึกถึงพนักงานตามเอกสารหมาย ล.1 ให้ละเว้นการเล่นหวยใต้ดินและออกเงินกู้ด้วยดอกเบี้ยสูง หลังจากจำเลยที่ 1 มีคำสั่งห้ามดังกล่าวโจทก์นำเงินมาให้เพื่อนพนักงานในแผนกเครดิตซึ่งมีหน้าที่เก็บเงินจากลูกค้ากู้ยืมและเรียกดอกเบี้ยในอัตราระหว่างร้อยละ 5 ถึง 8 ต่อเดือนต่อมาเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2541 จำเลยที่ 1 มีหนังสือเลิกจ้างโจทก์อ้างว่าโจทก์ฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่ห้ามพนักงานออกเงินกู้ด้วยอัตราดอกเบี้ยอันสูง ให้มีผลเป็นการเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2541 เห็นว่า แม้ตามบันทึกเอกสารหมาย ล.1ที่จำเลยที่ 1 ให้พนักงานทุกคนของจำเลยที่ 1 ละเว้นการออกเงินกู้ด้วยดอกเบี้ยสูงจะมิใช่เป็นระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานก็ตาม แต่บันทึกดังกล่าวมีสภาพเป็นคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย การที่โจทก์นำเงินมาให้เพื่อนพนักงานในแผนกเครดิตซึ่งมีหน้าที่เก็บเงินจากลูกค้ากู้ยืมและเรียกดอกเบี้ยในอัตราสูงจึงเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลยที่ 1 ผู้เป็นนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย แต่มิใช่เป็นกรณีที่ร้ายแรงเพราะแม้การที่พนักงานที่กู้ยืมเงินจากโจทก์จะต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราสูงแก่โจทก์อาจนำความเดือดร้อนมาสู่พนักงานผู้นั้นบ้างก็ตามแต่ไม่ใช่อัตราที่สูงเกินไป ทั้งก็ไม่ได้ทำให้มีผลกระทบต่อกิจการของจำเลยที่ 1 ให้เสียหายอย่างชัดแจ้ง เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1ได้ตักเตือนเป็นหนังสือและโจทก์กระทำผิดซ้ำคำเตือน จำเลยที่ 1 จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามที่ศาลแรงงานกลางรับฟังว่าโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2526 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 11,400 บาทโจทก์ซึ่งทำงานติดต่อกันครบสิบปีขึ้นไป จำเลยที่ 1 จึงต้องจ่ายค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามร้อยวันเป็นเงิน 114,000 บาท ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118(5) และเมื่อปรากฏว่าโจทก์ถูกปลดออกจากงานเนื่องจากสาเหตุอื่นนอกจากที่ระบุในข้อ 5.4.4 โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับเงินสมทบส่วนของนายจ้างและผลประโยชน์สุทธิที่เกิดจากเงินสมทบนั้นตามข้อ 7.3.2 และ 7.2แห่งข้อบังคับของจำเลยที่ 2 ตามเอกสารหมาย ล.11 ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมาเป็นยุติว่าเงินสะสมของโจทก์ เงินสมทบและผลประโยชน์จากเงินดังกล่าวณ วันที่ 25 ธันวาคม 2541 มีจำนวน 60,925.76 บาท จำเลยที่ 2 เบิกจ่ายให้โจทก์แล้ว30,475.94 บาท ที่เหลือยังไม่จ่ายให้ จำเลยที่ 2 จึงต้องคืนเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจำนวน 30,449.82 บาท แก่โจทก์ แต่เมื่อปรากฏว่าโจทก์ฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว จึงเป็นการจงใจขัดคำสั่งของจำเลยที่ 1 อันชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1ย่อมเลิกจ้างโจทก์ได้โดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ทั้งเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 มีเหตุที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้โดยชอบการเลิกจ้างโจทก์ไม่เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์ออกจากงานโดยไม่มีความผิด โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินโบนัสนั้น เห็นว่า ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินโบนัสมิใช่เพราะเหตุว่าโจทก์มีความผิดเพียงประการเดียวเท่านั้น ศาลแรงงานกลางยังฟังข้อเท็จจริงต่อไปอีกว่าการจ่ายเงินโบนัสเป็นดุลพินิจของจำเลยที่ 1 ที่จะจ่ายหรือไม่ก็ได้ตามผลประกอบการและโจทก์ออกจากงานก่อนกำหนดจ่ายเงินโบนัสอีกด้วย เมื่อโจทก์อุทธรณ์เพียงว่าโจทก์ออกจากงานโดยไม่มีความผิดเพียงประการเดียว แม้จะเป็นดังที่โจทก์อุทธรณ์ก็ไม่อาจทำให้ผลของคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางในส่วนนี้เปลี่ยนแปลงไปอุทธรณ์ในส่วนนี้ของโจทก์จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31
ที่จำเลยแก้อุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1เลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุที่โจทก์เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์โจทก์มีบทบาทในการต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมในบริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 121(1) และ (2) โจทก์ชอบที่จะยื่นคำร้องกล่าวหาจำเลยที่ 1 ต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ก่อนจึงจะมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 8 วรรคท้าย นั้นเห็นว่า แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ที่มีบทบาทในการต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมในบริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นการบรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์โดยฝ่าฝืนมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 อันเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมก็ตาม แต่โจทก์ก็ได้บรรยายฟ้องมาด้วยว่าการที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมซึ่งเป็นการบรรยายฟ้องตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 ดังนี้แม้โจทก์จะไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ในข้อหาการกระทำอันไม่เป็นธรรม แต่โจทก์ก็มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 1 ในข้อหาว่าจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมได้ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องนั้นศาลฎีกาเห็นด้วยในผล คำแก้อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่งบัญญัติว่าในกรณีที่นายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย ให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างเวลาที่ผิดนัดร้อยละสิบห้าต่อปี ดังนี้แม้โจทก์จะขอให้จำเลยที่ 1 จ่ายดอกเบี้ยสำหรับค่าชดเชยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีก็ตาม แต่เพื่อความเป็นธรรมศาลฎีกาเห็นสมควรให้จำเลยที่ 1 เสียดอกเบี้ยในค่าชดเชยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีนับแต่วันฟ้องทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 52”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าชดเชยจำนวน 114,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 27 พฤศจิกายน 2543) จนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ และให้จำเลยที่ 2 คืนเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจำนวน30,449.82 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้อง(วันที่ 27 พฤศจิกายน 2543) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง