แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยทั้งสามได้ในขณะที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ขับรถกระบะของกลาง โดยจำเลยที่ 1 และที่ 3 นั่งโดยสารมาด้วย เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมได้ตรวจค้นและพบเครื่องกระสุนปืนของกลางซุกซ่อนอยู่ใต้เบาะด้านหลังคนขับซึ่งมีการดัดแปลงไว้โดยเฉพาะ ซึ่งรถกระบะของกลางดังกล่าว จำเลยที่ 1 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองโดยการเช่าซื้อ การที่จำเลยทั้งสามแก้ตัวว่ามีบุคคลอื่นยืมรถไปใช้ก่อนระยะเวลาหนึ่งแล้วยังได้อาศัยโดยสารรถมาและกระโดดหนีไปก่อนถูกตรวจค้น เป็นทำนองว่าบุคคลดังกล่าวเป็นผู้ดัดแปลงรถและซุกซ่อนของกลางมานั้นขัดต่อเหตุผลเพราะบุคคลดังกล่าวไม่น่าจะนำรถกระบะของกลางมาคืนให้แก่ จำเลยที่ 1 ทั้ง ๆ ที่ยังมีเครื่องกระสุนปืนของกลางซุกซ่อน ไว้ และก็ไม่มีเหตุผลใดที่จำเลยทั้งสามไม่แจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจทราบตั้งแต่วันจับกุมหรือสอบสวน ข้อแก้ตัวของจำเลยทั้งสามจึงฟังไม่ขึ้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 55, 72, 72 ทวิ, 78พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 มาตรา 4, 6, 22, 23ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371, 32, 33, 83, 91 และขอให้ริบจรวดนำวิถี แบบแซม 7 รถยนต์หมายทะเบียน ม-2436 สุพรรณบุรี และเครื่องวิทยุคมนาคมของกลาง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 4, 7, 55, 78 วรรคหนึ่งและวรรคสอง พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 มาตรา 4, 6, 23ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 การกระทำของจำเลยทั้งสามผิดต่อกฎหมายหลายกรรม เรียงกระทงลงโทษ ฐานมีเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ จำคุกคนละ 15 ปี ฐานค้าเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ จำคุกคนละ 20 ปี ฐานมีเครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 6 เดือน เฉพาะจำเลยที่ 1 ยังมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสองและประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ลงโทษฐานมีอาวุธปืนของผู้อื่นซึ่งได้รับอนุญาตให้มีและใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุก 6 เดือนฐานพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดจำคุก 6 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 1มีกำหนด 35 ปี 18 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 35 ปี6 เดือน ริบจรวดนำวิถี แบบแซม 7 จำนวน 3 ลูก และรถยนต์หมายเลขทะเบียน ม-2436 สุพรรณบุรี ข้อหาอื่นสำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 3ให้ยกและยกคำขอให้ริบวิทยุคมนาคม
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานมีและค้าเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้เป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท คงให้ลงโทษบทที่มีโทษหนักที่สุดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 78 วรรคสอง จำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 20 ปี เมื่อรวมกับโทษฐานอื่นแล้วคงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 21 ปี 6 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3คนละ 20 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาวินิจฉัยในชั้นฎีกาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดฐานมีและค้าเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตได้หรือไม่เท่านั้น เห็นว่าข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ตามที่โจทก์และจำเลยทั้งสามนำสืบโดยมิได้โต้แย้งกันว่า เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยทั้งสามได้ในขณะที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ขับรถกระบะของกลาง โดยจำเลยที่ 1และที่ 3 นั่งโดยสารมาด้วย แล้วเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมได้ตรวจค้นและพบเครื่องกระสุนปืนของกลางซุกซ่อนอยู่ใต้เบาะด้านหลังคนขับซึ่งมีการดัดแปลงไว้โดยเฉพาะ และรถกระบะของกลางดังกล่าวจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองโดยการเช่าซื้อจริงข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นชี้ชัดในเบื้องต้นว่า เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยทั้งสามได้พร้อมของกลางในขณะจับกุมข้อแก้ตัวของจำเลยทั้งสามที่นำสืบว่า มีบุคคลอื่นยืมรถไปใช้ก่อนระยะเวลาหนึ่งแล้วยังได้อาศัยโดยสารรถมาและกระโดดหนีไปก่อนถูกตรวจค้น เป็นทำนองว่าบุคคลดังกล่าวเป็นผู้ดัดแปลงและซุกซ่อนของกลางมานั้นขัดต่อเหตุผล คือบุคคลดังกล่าวไม่น่าจะนำรถกระบะของกลางมาคืนให้แก่จำเลยที่ 1 ทั้ง ๆ ที่ยังมีเครื่องกระสุนปืนของกลางซุกซ่อนไว้และก็ไม่มีเหตุผลใดที่จำเลยทั้งสามไม่แจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจทราบตั้งแต่วันจับกุมหรือสอบสวน ข้อแก้ตัวของจำเลยทั้งสามจึงฟังไม่ขึ้น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันให้ลงโทษจำเลยทั้งสามนั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน