แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญาซื้อขายของกระสุนปืน เอ็ม .16 ซึ่งผลิตโดยโรงงานในประเทศสหรัฐอเมริกา แม้ตามสัญญาเรื่องการจัดการแก้ไขในกรณีที่ซองกระสุนปืนดังกล่าวไม่ถูกต้องจะมิได้ระบุให้ส่งไปให้ผู้ผลิตทำการแก้ไขก็ตาม แต่การแก้ไขชิ้นส่วนของซองกระสุนปืนเอ็ม .16 อันเป็นเครื่องกระสุนปืนตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ ซึ่งใช้ในราชการสงคราม จึงพึงเป็นที่เข้าใจว่าผู้ที่จะจัดการแก้ไขซ่อมแซมได้ จะต้องเป็นผู้ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย ดังนี้การที่จำเลยเพิกเฉยไม่ดำเนินการให้โรงงานผู้ผลิตรับเอาซองกระสุนปืนไปแก้ไขให้ถูกต้องตามสัญญาจำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ และมีสิทธิเรียกค่าปรับจากจำเลยนับแต่วันครบกำหนดส่งของตามสัญญาถึงวันครบกำหนดที่โจทก์ให้โอกาสจำเลยปฏิบัติตามสัญญา
เบี้ยปรับเป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหาย เมื่อโจทก์เรียกร้องเอาเบี้ยปรับแล้วและจำนวนเบี้ยปรับสูงกว่าค่าเสียหายที่โจทก์ต้องซื้อของในราคาที่แพงกว่าราคาเดิม โจทก์จึงจะเรียกเอาค่าเสียหายดังกล่าวอีกไม่ได้ เพราะเป็นการเรียกร้องค่าเสียหายนอกเหนือไปจากความเสียหายที่โจทก์ได้รับ ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 380 วรรคสอง
ตามสัญญากำหนดให้ธนาคารวางหนังสือค้ำประกันต่อโจทก์เพื่อค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญา และจะคืนให้แก่ผู้ค้ำประกันเมื่อผู้ขายพ้นจากข้อผูกพันตามสัญญา ดังนี้ถือได้ว่าหลักประกันดังกล่าวเป็นการวางไว้ล่วงหน้าเพื่อความเสียหายในกรณีที่มีการผิดสัญญา เมื่อโจทก์ได้เรียกร้องให้จำเลยชำระค่าเสียหายเต็มจำนวนแล้ว จึงต้องคืนหลักประกันดังกล่าวให้จำเลย.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2520 โจทก์กับจำเลยที่ 1ทำสัญญาซื้อขายซองกระสุน ปลก.08 (เอ็ม.16) เป็นผลิตภัณฑ์ของประเทศสหรัฐอเมริกาตามตัวอย่างที่จำเลยที่ 1 เสนอราคาและรายละเอียดเพื่อขายให้แก่โจทก์จำนวน 11,700 ซองราคาซองละ66 บาท รวมเป็นเงิน 772,200 บาท จำเลยที่ 1 จะต้องส่งซองกระสุนตามสัญญาแก่โจทก์ภายใน 120 วันหรือภายในวันที่ 26 มกราคม 2521จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่สามารถส่งของตามสัญญาแก่โจทก์ต่อมาวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2521 จำเลยที่ 1 ส่งมอบซองกระสุนจำนวน7,600 ซองให้โจทก์คงขาดอยู่ 4,100 ซองต่อมาวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2522 จึงส่งมอบอีก 4,100 ซองแต่โจทก์ทดลองตรวจสอบแล้วปรากฏว่ายิงแล้วติดขัดเพราะแหนบส่งกระสุนโตกว่าตัวอย่างตามสัญญาโจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2523โจทก์ซื้อซองกระสุนจากบริษัทชัยเสรีอิมปอร์ต จำกัด ในราคาซองละ 91.50 บาท ได้เพียง 2,957 ซองการที่จำเลยผิดสัญญาต่อโจทก์โจทก์ต้องจัดซื้อจากบุคคลอื่นทำให้โจทก์เสียหายคิดเป็นค่าปรับตามสัญญาตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2521 ถึงวันที่ 6พฤษภาคม 2523 เป็นเวลา 831 วันในอัตราร้อยละ 0.2 ของราคาของที่ส่งมอบเกินกำหนดเวลาเป็นเงิน 449,737.20 บาท กับค่าปรับที่ส่งซองกระสุน 7,600 ซองล่าช้าอีก 18 วันเป็นเงิน 18,057.60บาท และโจทก์ต้องซื้อของแพงขึ้นอีกเป็นเงิน 104,550 บาทรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 572,344.80 บาท เมื่อหักกลบลบหนี้กับจำนวนเงินที่โจทก์จะต้องจ่ายเป็นค่าซองกระสุนส่วนที่จำเลยส่งมอบถูกต้องตามสัญญาแล้วจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ 70,744.80บาท จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การและจำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งว่าวันที่ 12กรกฎาคม 2522 จำเลยที่ 1 ขอรับซองกระสุนคืนมาแก้ไขให้ถูกต้องแต่โจทก์ไม่ยอมให้อ้างว่าเป็นยุทธภัณฑ์ในราชการสงครามประชาชนจะมีไว้ในครอบครองไม่ได้ทำให้จำเลยที่ 1 ไม่สามารถรับซองกระสุนคืนมาจัดการแก้ไขข้อบกพร่องได้โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าปรับจากจำเลยที่ 1 การที่โจทก์ถ่วงเวลาบอกเลิกสัญญาไว้ถึง 1 ปีหลังจากส่งมอบซองกระสุนที่โจทก์อ้างว่าคุณภาพไม่ตรงตามสัญญาเป็นการที่โจทก์มิได้ปฏิบัติหน้าที่อันควรตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ปัดป้องหรือบรรเทาความเสียหายแล้วโจทก์กระทำเพื่อให้จำเลยเสียค่าปรับมากขึ้น โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและต้องคืนเงินค่าค้ำประกัน 13,530 บาท แก่จำเลยที่ 1 จึงฟ้องแย้งให้โจทก์ชำระค่าซองกระสุนเป็นเงิน772,200 บาท และคืนค่าค้ำประกัน 13,500 บาท พร้อมดอกเบี้ย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่าที่โจทก์ให้จำเลยที่ 1 นำซองกระสุนไปแก้ไขโดยมุ่งหมายให้จำเลยที่ 1 ส่งไปแก้ไขยังโรงงานต่างประเทศโดยจำเลยที่ 1 ติดต่อกับโรงงานผู้ผลิตในต่างประเทศให้รับจากโจทก์โดยตรงโจทก์ไม่อาจมอบให้อยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 โจทก์มิได้ถ่วงเวลาเพื่อคิดค่าปรับจากจำเลยที่ 1 มากขึ้น ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินจำนวน7,477.60 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยและยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้โจทก์ใช้เงิน 97,072.40 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่จำเลย
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าจำเลยส่งมอบซองกระสุนที่ถูกต้องตามสัญญาจำนวน 7,600 ซองในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2521 จึงล่วงเลยกำหนดเวลา 17 วันจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาโจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายในกรณีไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรได้สำหรับกรณีที่จำเลยส่งมอบซองกระสุนจำนวน 4,100 ซองไม่ถูกต้องตามตัวอย่างได้ความว่าโจทก์แจ้งให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาโดยรับเอาซองกระสุนดังกล่าวไปทำการแก้ไขให้ถูกต้องจำเลยขอรับคืนไปเพื่อแก้ไขเองโจทก์ไม่ยอมเพราะเป็นยุทธภัณฑ์จะต้องส่งออกไปให้ผู้ผลิตในต่างประเทศเป็นผู้แก้ไขพิเคราะห์สัญญาซื้อขายตามเอกสารหมาย จ.3 แล้วแม้จะได้ระบุเรื่องการจัดการแก้ไขไว้โดยมิได้ระบุให้ส่งไปให้ผู้ผลิตทำการแก้ไขก็ตามแต่การแก้ไขชิ้นส่วนของซองกระสุนปืน ปลก.08 (เอ็ม.16) อันเป็นเครื่องกระสุนปืนตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิดดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืนซึ่งใช้ในราชการสงครามจึงพึงเป็นที่เข้าใจว่าผู้ที่จะจัดการแก้ไขซ่อมแซมได้จะต้องเป็นผู้ได้รับอนุญาตตามกฎหมายซองกระสุนปืนดังกล่าว โรงงานแอ็ดเวนเจอร์ไลน์ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ผลิตการแก้ไขก็ต้องให้โรงงานผู้ผลิตเป็นผู้จัดการแก้ไข ดังนั้นการที่จำเลยจะรับไปจัดการแก้ไขเองโดยอ้างว่าเป็นการแก้ไขเล็กน้อยไม่จำต้องส่งไปให้โรงงานผู้ผลิตทำการแก้ไขจึงเป็นการไม่ชอบและเป็นการกระทำที่ขัดต่อบทกฎหมายดังกล่าวจำเลยจึงหาอาจอ้างเอาเหตุนี้มาเป็นข้อต่อสู้ว่าจำเลยไม่ใช่เป็นฝ่ายผิดสัญญาได้ไม่เมื่อจำเลยเพิกเฉยไม่ดำเนินการให้โรงงานผู้ผลิตรับเอาซองกระสุนไปแก้ไขให้ถูกต้องตามสัญญาแล้วจำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาและโจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้
ค่าเสียหายของโจทก์มีเพียงใดสำหรับกรณีที่จำเลยส่งมอบซองกระสุนจำนวน 7,600 ซองล่าช้ากว่ากำหนดตามสัญญา 17 วันทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายตามสัญญาข้อ 9 ได้กำหนดค่าปรับในกรณีที่ชำระหนี้ไม่ถูกต้องสมควรไว้ในอัตราวันละ 0.2เปอร์เซ็นต์ของราคาสิ่งของที่ส่งมอบซองกระสุนที่ส่งมอบจำนวน7,600 ซองราคาซองละ 66 บาท เป็นเงิน 501,600 บาท จำเลยจึงต้องเสียค่าปรับในส่วนนี้ให้โจทก์เป็นเงิน 17,054.40 บาท ส่วนค่าเสียหายในกรณีที่จำเลยผิดสัญญาไม่ส่งมอบซองกระสุนจำนวน4,100 ซองให้ถูกต้องตามตัวอย่างนั้นหลังจากที่โจทก์แจ้งให้จำเลยรับเอาซองกระสุนดังกล่าวไปแก้ไขแล้วจำเลยก็เพิกเฉยไม่แจ้งให้โรงงานผู้ผลิตในประเทศสหรัฐอเมริการับไปดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องแล้วนำมาส่งมอบแก่โจทก์จนกระทั่งโจทก์ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาและให้นำซองกระสุนที่ถูกต้องส่งมอบแก่โจทก์ภายใน 30 วัน นับจากวันที่จำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวตามเอกสารหมาย จ.7 และจำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวในวันที่ 25 มกราคม 2523 ครบกำหนดที่โจทก์ให้โอกาสแก่จำเลยปฏิบัติตามสัญญาในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2523 แต่จำเลยก็ไม่ปฏิบัติตามสัญญาภายในกำหนดดังกล่าวจึงถือได้ว่าจำเลยผิดสัญญาโจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทันที ดังนั้น โจทก์มีสิทธิเรียกค่าปรับจากจำเลย นับแต่วันครบกำหนดส่งตามสัญญาคือวันที่ 27 มกราคม 2521 ถึงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2523 เป็นเวลา759 วันคิดเป็นเงินค่าปรับในกรณีที่จำเลยไม่ส่งมอบซองกระสุนดังกล่วเป็นเงิน 410,770.80 บาท ซึ่งศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 383 ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยรับผิดในค่าเสียหายส่วนนี้เป็นเงิน 400,000 บาท จึงชอบแล้วประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา380 บัญญัติถึงเบี้ยปรับในกรณีที่ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามสัญญาโดยเรียกเอาเบี้ยปรับในฐานเป็นจำนวนน้อยที่สุดแห่งค่าเสียหาย ดังนั้น เบี้ยปรับจึงเป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหายเมื่อโจทก์เรียกร้องเอาเบี้ยปรับดังกล่าวแล้วและจำนวนเบี้ยปรับสูงกว่าค่าเสียหายที่โจทก์ต้องซื้อซองกระสุนในราคาที่แพงกว่าราคาเดิม โจทก์จึงจะเรียกเอาค่าเสียหายในการที่โจทก์ต้องซื้อซองกระสุนแพงขึ้นจากราคาเดิมอีกไม่ได้เพราะเป็นการเรียกร้องค่าเสียหายนอกเหนือไปจากความเสียหายที่โจทก์ได้รับขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 380 วรรคสอง โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้อีก สัญญาข้อ 7 กำหนดให้ธนาคารกรุงเทพ จำกัด วางหนังสือค้ำประกันต่อโจทก์เพื่อค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาและจะคืนให้แก่ผู้ค้ำประกันเมื่อผู้ขายพ้นจากข้อผูกพันตามสัญญาดังนั้นจึงถือได้ว่าหลักประกันดังกล่าวเป็นการวางไว้ล่วงหน้าเพื่อความเสียหายในกรณีที่มีการผิดสัญญาเมื่อโจทก์ได้เรียกร้องให้จำเลยชำระค่าเสียหายเต็มจำนวนแล้วจึงต้องคืนหลักประกันดังกล่าวให้จำเลยโดยนำไปคิดหักกลบลบกับค่าเสียหายที่จำเลยพึงชดใช้ให้แก่โจทก์
สรุปแล้วจำเลยต้องรับผิดชำระค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 417,054.40 บาท เมื่อหักกลบลบกันกับราคาซองกระสุนที่ถูกต้องตามตัวอย่างและโจทก์รับไว้ต้องชำระราคาแก่จำเลยจำนวน 7,600 ซอง เป็นเงิน 501,600 บาท รวมกับเงินประกันการปฏิบัติตามสัญญาที่โจทก์ต้องคืนแก่จำเลยจำนวน 13,530 บาท แล้วโจทก์จะต้องชำระราคาแก่จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 98,075.60 บาท
พิพากษาแก้เป็นว่าให้โจทก์ชำระเงินจำนวน 98,075.60 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 1ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาทั้งสองฝ่ายให้เป็นพับนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.