คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 664/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยส่งมอบซอง กระสุนจำนวน 4,100 ซอง ไม่ถูกต้องตามตัวอย่างโจทก์จึงแจ้งให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาแม้สัญญาระบุเรื่องการจัดการแก้ไขไว้โดยมิได้ระบุให้ส่งไปให้ผู้ผลิตทำการแก้ไข แต่การแก้ไขชิ้น ส่วนของซอง กระสุนปืน เอ็ม 16 ซึ่งใช้ในราชการสงคราม พึงเป็นที่เข้าใจว่าผู้ที่จะจัดการแก้ไขซ่อมแซมได้ จะต้องเป็นผู้ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย ซอง กระสุนปืนดังกล่าวโรงงานแอ็ดเวนเจอร์ไลน์ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ผลิต การแก้ไขก็ต้องให้โรงงานผู้ผลิตเป็นผู้จัดการ การที่จำเลยจะรับไปจัดการแก้ไขเอง โดยอ้างว่าเป็นการแก้ไขเล็กน้อย จึงเป็นการไม่ชอบ จำเลยหาอาจอ้างเอาเหตุนี้มาเป็นข้อต่อสู้ว่าจำเลยไม่ใช่เป็นฝ่ายผิดสัญญาได้ไม่ หลังจากที่โจทก์แจ้งให้จำเลยรับเอาซอง กระสุนปืนไปแก้ไขจำเลยเพิกเฉยไม่แจ้งให้โรงงานผู้ผลิตในประเทศสหรัฐอเมริการับไปดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องแล้วนำมาส่งมอบแก่โจทก์จนกระทั่งโจทก์ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญา และให้นำซอง กระสุนที่ถูกต้องส่งมอบแก่โจทก์ภายใน 30 วัน นับจากวันที่จำเลยได้รับหนังสือดังกล่าว จำเลยได้รับหนังสือวันที่ 25 มกราคม 2523ครบกำหนดวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2523 จำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญาถือได้ว่าจำเลยผิดนัด โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทันที ดังนั้นโจทก์มีสิทธิเรียกค่าปรับจากจำเลยนับแต่วันครบกำหนดส่งตามสัญญาคือวันที่ 27 มกราคม 2521 ถึงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2523 ป.พ.พ. มาตรา 380 บัญญัติถึงเบี้ยปรับในกรณีที่ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามสัญญาโดยเรียกเอาเบี้ยปรับในฐานเป็นจำนวนน้อยที่สุดแห่งค่าเสียหาย ดังนั้นเบี้ยปรับจึงเป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหายเมื่อโจทก์เรียกร้องเอาเบี้ยปรับแล้ว และจำนวนเบี้ยปรับสูงกว่าค่าเสียหายที่โจทก์ต้องซื้อซอง กระสุนในราคาที่แพงกว่าราคาเดิม โจทก์จึงจะเรียกเอาค่าเสียหายอีกไม่ได้ สัญญาระหว่างโจทก์ จำเลย กำหนดให้ธนาคารฯ วางหนังสือค้ำประกันต่อโจทก์เพื่อค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญา และจะคืนให้แก่ผู้ค้ำประกันเมื่อผู้ขายพ้นจากข้อผูกพัน เช่นนี้เมื่อโจทก์ได้เรียกให้จำเลยชำระค่าเสียหายเต็ม จำนวนแล้ว ต้องคืนหลักประกันที่ธนาคารวางไว้เพื่อค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญา โดยนำไปคิดหักกลบลบกับค่าเสียหายที่จำเลยพึงชดใช้ให้แก่โจทก์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญา ไม่ส่งมอบซองกระสุนปืนที่ถูกต้องและไม่นำไปแก้ไข ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าปรับและค่าเสียหาย
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่ยอมคืนซองกระสุนปืนให้จำเลยนำกลับไปแก้ไข ขอให้โจทก์ชำระค่าซองกระสุนปืนทั้งสิ้น
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่อาจมอบซองกระสุนปืนให้อยู่ในความครอบครองของจำเลย ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินจำนวน7,477.60 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย ยกฟ้องแย้ง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์ใช้เงิน 97,072.40 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่จำเลย
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยประเด็นแรกว่าจำเลยผิดสัญญาหรือไม่ เห็นว่าตามฟ้องของโจทก์ ให้จำเลยรับผิดตามสัญญาซื้อขายและชดใช้ค่าเสียหาย 2 กรณีคือ กรณีที่จำเลยไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร กล่าวคือ จำเลยส่งมอบซองกระสุนช่าช้ากว่ากำหนดในข้อนี้ตามสัญญาซื้อขายหมาย จ.3 ข้อ 4 จำเลยจะต้องส่งมอบของภายในกำหนด 120 วัน นับแต่วันลงนามในสัญญา ซึ่งครบกำหนดในวันที่26 มกราคม 2521 แต่จำเลยส่งมอบซองกระสุนเฉพาะที่ถูกต้องตามสัญญา จำนวน 7,600 ซองในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2521 จึงล่วงเลยกำหนดเวลาส่งมอบไป 17 วัน จำเลยมิได้ให้การหรือนำสืบต่อสู้ในประเด็นข้อนี้ จึงฟังได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายในกรณีไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรได้ สำหรับกรณีที่ 2คือ จำเลยส่งมอบซองกระสุนจำนวน 4,100 ซองไม่ถูกต้องตามตัวอย่างได้ความว่าโจทก์แจ้งให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญา โดยรับเอาซองกระสุนดังกล่าวไปทำการแก้ไขให้ถูกต้อง จำเลยขอรับคืนไปเพื่อแก้ไขเองโจทก์ไม่ยอมเพราะเป็นยุทธภัณฑ์จะต้องส่งออกไปให้ผู้ผลิตในต่างประเทศเป็นผู้แก้ไข พิเคราะห์สัญญาซื้อขายตามเอกสารหมาย จ.3 แล้ว แม้จะได้ระบุเรื่องการจัดการแก้ไขไว้โดยมิได้ระบุให้ส่งไปให้ผู้ผลิตทำการแก้ไขก็ตาม แต่การแก้ไขชิ้นส่วนของซองกระสุนปืน ปลก.08 (เอ็ม.16)อันเป็นเครื่องกระสุนปืนตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน ซึ่งใช้ในราชการสงครามจึงพึงเป็นที่เข้าใจว่าผู้ที่จะจัดการแก้ไขซ่อมแซมได้ จะต้องเป็นผู้ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย ซองกระสุนปืนดังกล่าวโรงงานแอ็ดเวนเจอร์ไลน์ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นผู้ผลิต การแก้ไขก็ต้องให้โรงงาน ผู้ผลิต เป็นผู้จัดการแก้ไข ดังนั้นการที่จำเลยจะรับไปจัดการแก้ไขเอง โดยอ้างว่าเป็นการแก้ไขเล็กน้อยไม่จำต้องส่งไปให้โรงงานผู้ผลิตทำการแก้ไข จึงเป็นการไม่ชอบและเป็นการกระทำที่ขัดต่อบทกฎหมายดังกล่าว จำเลยจึงหาอาจอ้างเอาเหตุนี้มาเป็นข้อต่อสู้ว่า จำเลยไม่ใช่เป็นฝ่ายผิดสัญญาได้ไม่เมื่อจำเลยเพิกเฉยไม่ดำเนินการให้โรงงานผู้ผลิตรับเอาซองกระสุนไปแก้ไข ให้ถูกต้องตามสัญญาแล้ว จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาและโจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้
ประเด็นต่อไปตามฎีกาของโจทก์ว่า ค่าเสียหายของโจทก์มีเพียงใดสำหรับกรณีที่จำเลยส่งมอบซองกระสุนจำนวน 7,600 ซอง ล่าช้ากว่ากำหนดตามสัญญา 17 วัน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ตามสัญญาข้อ 9 ได้กำหนดค่าปรับในกรณีที่ชำระหนี้ไม่ถูกต้องสมควร ไว้ในอัตราวันละ0.2 เปอร์เซ็นต์ของราคาสิ่งของที่ส่งมอบ ซองกระสุนที่ส่งมอบจำนวน7,600 ซอง ราคาซองละ 66 บาท เป็นเงิน 501,600 บาท จำเลยจึงต้องเสียค่าปรับในส่วนนี้ให้โจทก์เป็นเงิน 17,054.40 บาท ส่วนค่าเสียหายในกรณีที่จำเลยผิดสัญญาไม่ส่งมอบซองกระสุนจำนวน 4,100 บาท ให้ถูกต้องตามตัวอย่างนั้น หลังจากที่โจทก์แจ้งให้จำเลยรับเอาซองกระสุนดังกล่าวไปแก้ไขแล้ว จำเลยก็เพิกเฉยไม่แจ้งให้โรงงานผู้ผลิตในประเทศสหรัฐอเมริการับไปดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องแล้วนำมาส่งมอบแก่โจทก์ จนกระทั่งโจทก์ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญา และให้นำซองกระสุนที่ถูกต้องส่งมอบแก่โจทก์ภายใน 30 วัน นับจากวันที่จำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวตามเอกสารหมาย จ.7 และจำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวในวันที่ 25 มกราคม 2523ครบกำหนดที่โจทก์ให้โอกาสแก่จำเลยปฏิบัติตามสัญญาในวันที่ 24กุมภาพันธ์ 2523 แต่จำเลยก็ไม่ปฏิบัติตามสัญญาภายในกำหนดดังกล่าวจึงถือได้ว่าจำเลยผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทันทีดังนั้น โจทก์มีสิทธิเรียกค่าปรับแก่จากจำเลย นับแต่วันครบกำหนดส่งตามสัญญาคือวันที่ 27 มกราคม 2521 ถึงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2523เป็นเวลา 759 วัน คิดเป็นเงินค่าปรับ ในกรณีที่จำเลยไม่ส่งมอบซองกระสุนดังกล่าวเป็นเงิน 410,770.80 บาท ซึ่งศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยรับผิดในค่าเสียหายส่วนนี้เป็นเงิน 400,000 บาท จึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์จำเลยฟังไม่ขึ้น
ข้อที่โจทก์ฎีกาว่า แม้โจทก์จะเรียกร้องเอาเบี้ยปรับแล้วโจทก์ยังมีสิทธิเรียกเอาค่าเสียหายในการที่โจทก์ต้องซื้อกระสุนแพงขึ้นจากราคาเดิมเป็นเงิน 104,550 บาท ได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 380 บัญญัติถึงเบี้ยปรับในกรณีที่ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามสัญญา โดยเรียกเอาเบี้ยปรับในฐานเป็นจำนวนน้อยที่สุดแห่งค่าเสียหาย ดังนั้น เบี้ยปรับจึงเป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหาย เมื่อโจทก์เรียกร้องเอาเบี้ยปรับดังกล่าวแล้ว และจำนวนเบี้ยปรับสูงกว่าค่าเสียหายที่โจทก์ต้องซื้อซองกระสุนในราคาที่แพงกว่าราคาเดิม โจทก์จึงจะเรียกเอาค่าเสียหายดังกล่าวอีกไม่ได้เพราะเป็นการเรียกร้องค่าเสียหายนอกเหนือไปจากความเสียหายที่โจทก์ได้รับขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 380 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้อีก จึงชอบแล้วฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
โจทก์ฎีกาข้อสุดท้ายว่า โจทก์ไม่ต้องคืนเงินประกันสัญญาจำนวน13,530 บาท ให้แก่จำเลย เพราะเงินจำนวนนี้ โจทก์ได้รับมาจากธนาคารผู้ค้ำประกัน โจทก์มีสิทธิรับได้เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญานี้ ศาลฎีกาเห็นว่า ตามสัญญาข้อ 7 กำหนดให้ธนาคารกรุงเทพ จำกัดวางหนังสือค้ำประกันต่อโจทก์ เพื่อค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาและจะคืนให้แก่ผู้ค้ำประกันเมื่อผู้ขายพ้นจากข้อผูกพันตามสัญญาดังนั้นจึงถือได้ว่าหลักประกันดังกล่าวเป็นการวางไว้ล่วงหน้าเพื่อความเสียหายในกรณีที่มีการผิดสัญญา เมื่อโจทก์ได้เรียกร้องให้จำเลยชำระค่าเสียหายเต็มจำนวนแล้ว จึงต้องคืนหลักประกันดังกล่าวให้จำเลย โดยนำไปคิดหักกลบลบกับค่าเสียหายที่จำเลยพึงชดใช้ให้แก่โจทก์ ซึ่งจะได้วินิจฉัยในข้อต่อไป
สำหรับข้อที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์มีหน้าที่จะต้องชำระราคาซองกระสุนจำนวน 4,100 ซอง เป็นเงิน 270,600 บาท ให้แก่จำเลยนั้นเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาและโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาดังได้วินิจฉัยมาแล้ว โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดชำระราคาซองกระสุนดังกล่าวให้จำเลยอีก ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
สรุปแล้ว จำเลยต้องรับผิดชำระค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 417,054.40 บาท เมื่อหักกลบลบกันกับราคาซองกระสุนที่ถูกต้องตามตัวอย่างและโจทก์รับไว้แล้วต้องชำระราคาแก่จำเลยจำนวน7,600 ซอง เป็นเงิน 501,600 บาท รวมกับเงินประกันการปฏิบัติตามสัญญาที่โจทก์ต้องคืนแก่จำเลย จำนวน 13,530 บาทแล้ว โจทก์จะต้องชำระราคาแก่จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 98,075.60 บาท”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทกำระเงินจำนวน 98,075.60 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาทั้งสองฝ่ายให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share