คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4539/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องเรียกทรัพย์สินเฉพาะส่วนของตน การที่ศาลพิพากษาให้แบ่งทรัพย์พิพาทออกเป็น 18 ส่วน โดยคำนวณจากจำนวนทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกทั้งหมดเพื่อกำหนดส่วนแบ่งของโจทก์ตามฟ้อง มิได้พิพากษาให้จำเลยโอนหรือแบ่งทรัพย์พิพาทให้ทายาทอื่นด้วย ไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายพวง นางเรไร คงหมืนไวย์ มีพี่น้อยร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๘ คน นายพวงได้ซื้อที่ดินพิพาทโดยให้นายประเสริฐ พี่ชายโจทก์เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์แทน แล้วปลูกบ้านในที่ดินดังกล่าวรวม ๕ หลัง เมื่อนายพวงถึงแก่กรรมทรัพย์ดังกล่าวครึ่งหนึ่งจึงตกเป็นมรดกของนายพวงต้องแบ่งให้ทายาทคนละส่วนเท่า ๆ กัน ทายาททุกคนตกลงยังไม่แบ่งที่ดินดังกล่าวโดยครอบครองร่วมกัน ต่อมานายประเสริฐมอบอำนาจให้จำเลยที่ ๑ ทำนิติกรรมยกที่ดินและบ้านดังกล่าวให้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ โดยเสน่หาโดยไม่มีอำนาจ ทายาทุกคนได้แจ้งให้จำเลยทั้งสี่เพิกถอนการโอนแต่จำเลยทั้งสี่เพิกเฉยทรัพย์ดังกล่าวมีราคา ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท เป็นของนางเรไรครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งตกเป็นมรดกแก่ทายาท ๙ คน คนละส่วนเท่า ๆ กัน โจทก์มีสิทธิได้รับ ๕๕,๕๐๐ บาท ขอให้ศาลพิพากษาให้เพิกถอนการให้ที่ดินและบ้านตามฟ้องจำนวน ๕ หลังแล้วนำมาเป็นทรัพย์สินกองมรดกของนายพวงและให้โจทก์ได้รับส่วนแบ่ง ๕๕,๕๐๐ บาท ให้จำเลยทั้งสี่ไปจดทะเบียนเพิกถอนถ้าไม่ไปให้ถือคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสี่ หากจำเลยทั้งสี่ไม่โอนที่ดินคืนให้ ก็ให้ใช้ราคา ๕๕,๕๐๐ บาทแก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า นายประเสริฐซึ่งเป็นบิดาของจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ และเป็นสามีจำเลยที่ ๑ ถึงแก่กรรมไปแล้ว ทรัพย์พิพาทเป็นมรดกของนายประเสริญ ไม่ใช่มรดกของนายพวง คงหมี่นไวย์ ไม่มีทายาทของนายพวงคนใดมาเกี่ยวข้องกับทรัพย์พิพาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ ๘๐๐ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมากับบ้านเลขที่ ๓๙๑/๔, ๓๙๑/๗ และ ๓๙๑/๘ ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินแปลงนี้ให้แบ่งออกเป็น ๑๘ ส่วน เป็นทรัพย์มรดกของนายพวง คงหมื่นไวย์ ครึ่งหนึ่งจำนวน ๙ ส่วน ซึ่งตกเป็นมรดกแก่โจทก์ ๑ ส่วน ให้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ จดทะเบียนให้โจทก์ถือกรรมสิทธิ์ร่วมด้วย ๑ ใน ๑๘ ส่วน หากฝ่าฝืนก็ให้ดำเนินการจดทะเบียนได้โดยให้ถือเอาคำพิพากษานี้แทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ การแบ่งแยกที่ดินพิพาทและบ้าน ๓ หลังข้างต้นถ้าไม่สามารถตกลงกันได้ก็ให้ประมูลกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ เอาเงินแบ่งให้โจทก์ตามส่วน หากการประมูลไม่ตกลงกันก็ให้นำออกขายทอดตลาดเอาเงินสุทธิแบ่งให้โจทก์ตามส่วน ให้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมสองศาลโดยกำหนดค่าทนายความรวม ๓,๐๐๐ บาท แทนโจทก์ ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ที่ดินพิพาทและบ้านรวม ๓ หลัง ที่ปลูกในที่ดิน ดังกล่าวเป็นของนายพวง ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกตกทอดแก่ทายาทของนายพวงทุกคน โจทก์มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ววินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์เพียงคนเดียวฟ้องเรียกทรัพย์สินรายนี้เฉพาะส่วนของตน การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้แบ่งทรัพย์พิพาทออกเป็น ๑๘ ส่วน เป็นทรัพย์มรดกของนายพวง คงหมื่นไวย์ครึ่งหนึ่ง จำนวน ๙ ส่วน ซึ่งตกเป็นมรดกแก่โจทก์ ๑ ส่วน ให้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ จดทะเบียนให้โจทก์ถือกรรมสิทธิ์ร่วมด้วย ๑ ใน ๑๘ ส่วน เป็นการพิพากษาเกินคำขอ ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การที่ศาลอุทธรณ์แบ่งทรัพย์พิพาทออกเป็น ๑๘ ส่วน โดยคำนวณจากจำนวนทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกทั้งหมดก็เพื่อกำหนดส่วนแบ่งของโจทก์ตามฟ้อง มิได้พิพากษาให้จำเลยโอนหรือแบ่งทรัพย์พิพาทให้ทายาทอื่นด้วย จึงไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๒
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share