คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 664/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขัดทรัพย์ว่าทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์ อันดับ 1 ซึ่งมีราคา 30,000 บาทเป็นของผู้ร้องที่ 1และอันดับที่ 2 ถึงที่ 9 รวมราคา 28,680 บาท เป็นของผู้ร้องที่ 2 แม้ผู้ร้องจะตีราคารวมกันมาในคำร้องเป็นจำนวนเงิน 58,680 บาท ก็ถือว่าคดีสำหรับผู้ร้องที่ 1 เป็นคดีมีทุนทรัพย์เพียง 30,000 บาทคดีสำหรับผู้ร้องที่ 2 มีทุนทรัพย์เพียง 28,680 บาทเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงต้องห้ามมิให้ผู้ร้องทั้งสองฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248
เอกสารสัญญาเช่าซื้อแม้ผู้ร้องจะมิได้อ้างเป็นพยานหลักฐานเพื่อบังคับการตามสัญญาเช่าซื้อหากแต่อ้างมาประกอบพยานบุคคลว่าทรัพย์ที่โจทก์นำยึดมาเพื่อการบังคับคดีเป็นของผู้ร้องโดยเช่าซื้อมานั้นก็จะต้องพิจารณาวินิจฉัยว่าผู้ร้องได้เช่าซื้อทรัพย์ดังกล่าวมาจริงหรือไม่ ซึ่งต้องพิเคราะห์จากสัญญาเช่าซื้อที่ผู้ร้องอ้างมา สัญญาเช่าซื้อดังกล่าวจึงเป็นพยานหลักฐานโดยตรงในคดี เมื่อไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ตามกฎหมาย จึงใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118

ย่อยาว

ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องว่าทรัพย์ที่โจทก์นำยึดตามบัญชีทรัพย์ท้ายคำร้องรวมราคา 58,680 บาท เป็นทรัพย์ของผู้ร้องทั้งสอง โดยทรัพย์อันดับที่ 1 เป็นของผู้ร้องที่ 1 และอันดับที่ 2 ถึงที่ 9 เป็นทรัพย์ของผู้ร้องที่ 2 ขอให้สั่งปล่อยการยึด

โจทก์ให้การว่าทรัพย์ทั้ง 9 รายการเป็นของจำเลยที่ 1 มิใช่เป็นทรัพย์ของผู้ร้อง ขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ปล่อยทรัพย์เฉพาะทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์อันดับ 3คำร้องของผู้ร้องเกี่ยวกับทรัพย์รายการอื่นให้ยก

ผู้ร้องทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ผู้ร้องทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องว่าทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์ท้ายคำร้องขัดทรัพย์อันดับที่ 1 เป็นทรัพย์ของผู้ร้องที่ 1 อันดับที่ 2 ถึง 9เป็นทรัพย์ของผู้ร้องที่ 2 ผู้ร้องทั้งสองตีราคาเป็นทุนทรัพย์ในคดีนี้มารวมทั้งสิ้น58,680 บาท เท่าที่เจ้าพนักงานบังคับคดีตีราคาไว้ ปรากฏในบัญชียึดทรัพย์ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีทำมาในการยึดทรัพย์ดังกล่าว เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน2519 และ 14 มิถุนายน 2519 ว่าทรัพย์ซึ่งผู้ร้องที่ 1 ยื่นคำร้องขัดทรัพย์ว่าเป็นของผู้ร้องที่ 1 มีราคา 30,000 บาท ทรัพย์ซึ่งผู้ร้องที่ 2 ยื่นคำร้องขัดทรัพย์ว่าเป็นของผู้ร้องที่ 2 มีราคารวม 28,680 บาท คดีสำหรับผู้ร้องที่ 1 จึงเป็นคดีที่มีทุนทรัพย์เพียง 30,000 บาท และคดีสำหรับผู้ร้องที่ 2 เป็นคดีที่มีทุนทรัพย์เพียง 28,680 บาท คดีนี้เป็นคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 บัญญัติห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ปัญหาตามฎีกาของผู้ร้องทั้งสองที่ว่าทรัพย์ท้ายคำร้องขัดทรัพย์ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาว่าเป็นทรัพย์ของจำเลยนั้นเป็นของผู้ร้องทั้งสองหรือไม่ อันเป็นปัญหาข้อเท็จจริงฎีกาของผู้ร้องทั้งสองในปัญหานี้จึงเป็นฎีกาที่ต้องห้ามตามกฎหมายมาตราดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

ที่ผู้ร้องทั้งสองฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายมาว่า ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า สัญญาเช่าซื้อทรัพย์อันดับที่ 1 และ 3 มิได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์ตามประมวลกฎหมายรัษฎากร จึงใช้อ้างเป็นพยานในคดีแพ่งไม่ได้ ไม่เป็นการถูกต้องเพราะผู้ร้องทั้งสองมิได้อ้างมาเป็นพยานหลักฐานบังคับการตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารที่ผู้ร้องทั้งสองส่งศาลเป็นเพียงสำเนา อ้างมาประกอบการพิจารณาของศาล เพื่อแสดงว่าผู้ร้องได้เช่าซื้อทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์อันดับ 1 และ 3มาเป็นการอ้างหลักฐานประกอบพยานบุคคลเพื่อแสดงว่าทรัพย์ดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องปิดอากรแสตมป์และย่อมรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ตามกฎหมายนั้น เห็นว่าคดีนี้ผู้ร้องอ้างว่าทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์อันดับ 1 และที่ 3 ซึ่งโจทก์นำยึดมาเพื่อการบังคับคดีเป็นของผู้ร้องโดยเช่าซื้อมา คดีจะต้องพิจารณาวินิจฉัยว่าผู้ร้องได้เช่าซื้อทรัพย์ดังกล่าวมาจริงหรือไม่ ซึ่งก็ต้องพิเคราะห์จากสัญญาเช่าซื้อที่ผู้ร้องอ้างมาเป็นพยานนั่นเอง สัญญาเช่าซื้อดังกล่าวจึงเป็นพยานหลักฐานโดยตรงในคดี ได้ตรวจเอกสารดังกล่าวแล้ว ไม่ปรากฏว่ามีการปิดอากรแสตมป์เลยเอกสารดังกล่าวจึงเป็นตราสารที่มิได้ปิดอากรแสตมป์ ซึ่งจะใช้ต้นฉบับคู่ฉบับ คู่ฉีก หรือสำเนาเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งเช่นคดีนี้ไม่ได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 ศาลล่างทั้งสองไม่รับฟังพยานเอกสารสองฉบับนี้ชอบแล้ว

พิพากษายืน

Share