คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1448-1449/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ.2517 มาตรา 4 “นา” หมายความว่าที่ดินซึ่งโดยสภาพใช้เป็นที่เพาะปลูกข้าวหรือพืชไร่ ส่วนคำว่า “พืชไร่” นั้น หมายความว่า พืชซึ่งต้องการน้ำน้อยและมีอายุสั้นอย่างหนึ่ง กับพืชซึ่งต้องการน้ำน้อยและสามารถเก็บเกี่ยวครั้งแรกได้ภายในสิบสองเดือนอีกอย่างหนึ่ง
ที่ดินพิพาท จำเลยไม่ได้ใช้ปลูกข้าว แต่ได้ปลูกพริก หอม กะเทียม ผักกาด คะน้า มันเทศ มีคันดินโดยรอบทั้งสี่ด้าน แล้วปลูกมะม่วงและกล้วยบนคันดินนั้นภายในยกเป็นร่องสวนมีน้ำอยู่ข้างๆร่องปลูกมะละกอบนร่องทุกร่องมีเครื่องสูบน้ำออกเพื่อไม่ให้น้ำท่วมหลังร่องที่ยก ตอนน้ำท่วมหรือใกล้จะท่วมไม่ปลูกพืช ดังนี้ แสดงว่าพืชที่ปลูกต้องการน้ำน้อย เมื่อฟังว่าเป็นพืชมีอายุสั้นหรือสามารถเก็บเกี่ยวครั้งแรกได้ภายในสิบสองเดือนด้วยแล้วก็เป็นพืชไร่ ที่พิพาทจึงเป็น “นา” ตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ.2517 มาตรา 4

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยสำนวนแรกอาศัยผู้มีชื่อทำประโยชน์ในที่ดินมีโฉนดของโจทก์ทางด้านใต้ จำเลยสำนวนหลังอาศัยผู้มีชื่อทำประโยชน์ในที่ดินแปลงเดียวกันทางด้านเหนือ ปรากฏตามแผนที่ท้ายฟ้อง บัดนี้โจทก์ประสงค์จะใช้ทำประโยชน์เอง บอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองสำนวนออกไปจำเลยไม่ยอมออก จึงขอให้ศาลบังคับให้ออก กับให้ใช้ค่าเสียหายด้วย

จำเลยทั้งสองสำนวนให้การและฟ้องแย้งว่า ที่พิพาทเป็นนา ซึ่งจำเลยเช่าจากเจ้าของเดิมเพาะปลูกพืชไร่มีกำหนด 6 ปี โจทก์ซื้อนาดังกล่าวไปในระหว่างอายุสัญญาเช่า โจทก์ไม่เสียหายตามฟ้อง เจ้าของเดิมขายนาพิพาทให้โจทก์โดยมิได้แจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านาพ.ศ. 2517 จำเลยทั้งสองบอกกล่าวให้โจทก์ขายนาพิพาทให้จำเลยในราคาส่วนละ35,000 บาท โดยวิธีชำระเงินสดตามวิธีการและราคาที่โจทก์ซื้อจากเจ้าของเดิมแต่โจทก์ไม่ปฏิบัติตาม ขอให้ศาลยกฟ้องและบังคับให้โจทก์ขายที่นาพิพาทแก่จำเลยทั้งสองคนละกึ่งในราคาส่วนละ 35,000 บาท หาไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ที่ดินตามฟ้องเป็นที่สวนไม่ใช่ที่นา ก่อนขายที่ดินนี้ เจ้าของเดิมได้แจ้งจำเลยทั้งสองทราบแล้ว แต่จำเลยไม่ซื้อ ขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ที่พิพาทเป็นที่นาซึ่งจำเลยทั้งสองเช่าปลูกพืชไร่จากนางปอฮงเจ้าของเดิม ก่อนขายที่พิพาททั้งแปลงให้โจทก์ นางปอฮงมิได้แจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านาพ.ศ. 2517 จำเลยทั้งสองมีสิทธิที่จะซื้อที่พิพาทคนละครึ่งจากโจทก์ พิพากษายกฟ้องโจทก์ให้โจทก์ขายที่พิพาทแก่จำเลยทั้งสองคนละครึ่ง ในราคาส่วนละ35,000 บาท ถ้าโจทก์ไม่จัดการโอน ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์

โจทก์อุทธรณ์ทั้งสองสำนวน

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกาทั้งสองสำนวน

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517มาตรา 4 กำหนดว่า “นา” หมายความว่า ที่ดินซึ่งโดยสภาพใช้เป็นที่เพาะปลูกข้าวหรือพืชไร่ ส่วนคำว่า “พืชไร่” นั้นเห็นด้วยกับฎีกาของโจทก์ว่า หมายถึง พืชซึ่งต้องการน้ำน้อยและมีอายุสั้นอย่างหนึ่ง กับพืชซึ่งต้องการน้ำน้อยและสามารถเก็บเกี่ยวครั้งแรกได้ภายในสิบสองเดือนอีกอย่างหนึ่ง

คดีคงมีปัญหาแต่เพียงว่าพืชที่จำเลยปลูกเป็นพืชที่ต้องการน้ำน้อยหรือน้ำมากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่พิพาทตามฟ้องจำเลยไม่ได้ใช้ปลูกข้าว แต่ได้ปลูกพริก หอมกะเทียม ผักกาด คะน้า มันเทศ มีคันดินโดยรอบทั้งสี่ด้านแล้วปลูกมะม่วง และกล้วยไว้บนคันดินนั้น ส่วนภายในของคันดินยกเป็นร่องสวนมีน้ำอยู่ข้างร่องทุกร่อง บนร่องปลูกมะละกอไว้ทุกร่องมีเครื่องสูบน้ำออกเพื่อไม่ให้น้ำท่วมหลังร่องที่ยก ตอนน้ำท่วมหรือใกล้จะท่วมไม่ปลูกพืชแสดงว่าพืชที่ปลูกกลัวน้ำ น้ำท่วมตาย เป็นพืชที่ต้องการน้ำน้อยเป็นพืชไร่ที่พิพาททั้งสองสำนวนจึงเป็น “นา” ตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 มาตรา 4 ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว

พิพากษายืน

Share