แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีนี้เป็นคดีที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตาม ป.อ. มาตรา 297 มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปีซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลจังหวัด และตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 26 บัญญัติให้การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลจังหวัดต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคนและต้องไม่เป็นผู้พิพากษาประจำศาลเกินหนึ่งคนจึงเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้ แต่ปรากฏว่าการพิจารณาของศาลชั้นต้นตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 23 สิงหาคม 2544 วันที่ 4 กันยายน 2544 วันที่ 30 พฤศจิกายน 2544 และวันที่ 13 มีนาคม 2545 มีผู้พิพากษานั่งพิจารณาเพียงผู้เดียว จึงเป็นการพิจารณาที่ไม่ชอบตามบทบัญญัติดังกล่าว ซึ่งมีผลให้การพิจารณาและคำพิพากษาของศาลชั้นต้นภายหลังย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีผลให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเช่นกัน แม้คู่ความจะมิได้หยิบยกปัญหาดังกล่าวเป็นข้อโต้แย้งในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกา แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297, 83
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายธงชัย ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 ประกอบมาตรา 83 ลงโทษจำคุกคนละ 1 ปี
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาพิพากษาว่า คดีนี้เป็นคดีที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปีซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลจังหวัด และตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 26 บัญญัติให้การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลจังหวัดต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคนและต้องไม่เป็นผู้พิพากษาประจำศาลเกินหนึ่งคนจึงเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้ แต่ปรากฏว่าการพิจารณาของศาลชั้นต้นตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 23 สิงหาคม 2544 วันที่ 4 กันยายน 2544 วันที่ 30 พฤศจิกายน 2544 และวันที่ 13 มีนาคม 2545 มีผู้พิพากษานั่งพิจารณาคดีเพียงคนเดียว จึงเป็นการพิจารณาที่ไม่ชอบตามบทบัญญัติดังกล่าว ซึ่งมีผลให้การพิจารณาและคำพิพากษาของศาลชั้นต้นภายหลังย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีผลให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้เช่นกัน แม้คู่ความจะมิได้หยิบยกปัญหาดังกล่าวเป็นข้อโต้แย้งในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกา แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาให้ถูกต้องและพิพากษาใหม่ต่อไป