คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6637/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยให้การว่า โจทก์สละมรดกและอ้างสัญญาประนีประนอม-ยอมความ คดีมีประเด็นว่า โจทก์ทำบันทึกสละมรดกให้ผู้จัดการมรดกไว้จริงหรือไม่การที่จำเลยนำสืบพยานบุคคลว่าโจทก์ตกลงโอนที่ดินพิพาทให้จำเลย เพื่อให้เอาไปจำนองแก่ธนาคารเอาเงินมาทำศพบิดา และจำเลยรับจะเลี้ยงมารดาและทำศพมารดาให้ด้วย จึงเป็นการนำสืบถึงมูลเหตุของการทำเอกสารดังกล่าว และนำสืบถึงความเป็นมาของเอกสาร ย่อมไม่ใช่การนำสืบนอกประเด็นหรือนำสืบเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร
เอกสารมีใจความว่า โจทก์และ ส.ทายาทโดยธรรม ล.ยินยอมให้ผู้จัดการมรดกแบ่งสรรที่ดินมรดกแปลงพิพาทให้แก่ทายาทคนใดก็ได้ โดยโจทก์และ ส.ไม่ขอรับและไม่คัดค้านแต่ประการใดทั้งสิ้น โจทก์ ส.และ บ.ได้ลงชื่อไว้ต่อหน้าพยาน ดังนี้ เมื่อปรากฏว่านอกจากที่ดินดังกล่าวแล้วยังมีบ้านพิพาทเป็นทรัพย์มรดกอีกส่วนหนึ่งด้วย เอกสารทั้งสองฉบับกล่าวถึงที่ดินแต่ไม่กล่าวถึงบ้านด้วยจึงเป็นการสละสิทธิบางส่วน ถือว่าเป็นการสละมรดกไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา1613 อย่างไรก็ตามข้อความตามเอกสารฉบับนี้เป็นกรณีที่โจทก์และ ส.ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของ ล.แสดงเจตนาสละสิทธิในที่ดินพิพาท เพื่อระงับข้อพิพาทว่าโจทก์และส.ไม่ขอรับและไม่คัดค้านที่ บ.ผู้จัดการมรดกจะแบ่งที่ดินพิพาทให้แก่ทายาทคนใดก็ได้แม้จะทำไว้แก่ บ.ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดก แต่ บ.ก็เป็นภรรยา ล. จึงมีฐานะเป็นทายาท มีสิทธิได้รับมรดก ล.ด้วย และ ส.ในฐานะผู้จัดการมรดกย่อมเป็นผู้มีหน้าที่แบ่งปันทรัพย์มรดกแก่ทายาท การที่โจทก์ ส.และ บ.ทำเอกสารดังกล่าวไว้นั้นแสดงถึงเจตนาของโจทก์ที่จะไม่รับส่วนแบ่งมรดกที่ดินพิพาทและยอมให้ผู้จัดการมรดกแบ่งให้ทายาทคนใดก็ได้ จึงเป็นสัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดกระหว่างโจทก์ ส.และ บ.ผู้จัดการมรดก ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1750 แม้จำเลยไม่ได้ลงชื่อด้วย สัญญาดังกล่าวก็ไม่เสียไปและมีผลผูกพันโจทก์ผู้ต้องรับผิดที่ลงชื่อในสัญญาไว้ให้ต้องปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว ดังนั้นการที่ บ.ผู้จัดการมรดกจัดการโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยโดยไม่แบ่งให้โจทก์ก็เป็นไปตามเจตนาของโจทก์ตามเอกสารสัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าว จึงเป็นการโอนโดยชอบแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งห้า แต่ในส่วนบ้านพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกอีกส่วนหนึ่งนั้น โจทก์มิได้สละสิทธิด้วย โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยแบ่งให้โจทก์ได้ตามส่วน
หลังจาก ล.เจ้ามรดกถึงแก่กรรมแล้ว ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้ง บ.เป็นผู้จัดการมรดก ถือได้ว่าผู้จัดการมรดกครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งปันแทนทายาทซึ่งรวมถึงโจทก์ด้วย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1748โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกคือบ้านพิพาทได้ แม้จะล่วงพ้นกำหนดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 แล้ว สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

Share