แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีแรกจำเลยที่ 3 ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาท ซึ่งจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 3 ทำขึ้นกับจำเลยที่ 2 และคดีถึงที่สุดโดยศาลพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าว
คดีนี้แม้ว่าศาลชั้นต้นจะสั่งให้พิจารณาพิพากษารวมกับคดีแรก แต่คำพิพากษาในคดีแรกก็ผูกพันเฉพาะคู่ความในคดีเท่านั้น หามีผลผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่ โจทก์ในฐานะบุคคลภายนอกจึงอาจพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิ ดีกว่าจำเลยที่ 3 และคำพิพากษาในคดีแรกที่ให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาท เพราะเหตุจำเลยที่ 2 รับโอน ที่ดินพิพาทโดยปราศจากอำนาจ ก็มิใช่คำพิพากษาที่วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินใด ๆ ตามนัยแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคสอง (2) อันจะเข้าข้อยกเว้นที่จะใช้ยันบุคคลภายนอกได้ จึงใช้ยันโจทก์ซึ่งไม่ใช่เป็นคู่ความด้วยไม่ได้ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงมีอำนาจพิพากษาให้ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์ได้
ย่อยาว
คดีนี้เดิมศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 906/2540 ของศาลชั้นต้น แต่คดีดังกล่าวถึงที่สุดโดยคู่ความมิได้อุทธรณ์ คงขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินระหว่างจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 652/2535 (ต่อมาเป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 906/2540) ของศาลชั้นต้น และขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จดทะเบียนโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 2957 แก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยหักค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนโอนและค่าภาษีเงินได้จากการขายที่ดินจากเงินค่าที่ดินที่โจทก์ยังไม่ได้ชำระ เหลือเท่าไรให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับไปหรือหากการจดทะเบียนโอนที่ดินไม่อาจกระทำได้ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้เงิน 2,372,767 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหาย 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสามจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้เงิน 2,372,767 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 3 ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จดทะเบียนโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 2957 ให้แก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยหักค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนโอนและค่าภาษีเงินได้จากการขายที่ดินพิพาทจากเงินค่าที่ดินที่โจทก์ยังมิได้ชำระเหลือเท่าไรให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับไป ถ้าการจดทะเบียนโอนที่ดินไม่อาจทำได้ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชดใช้เงิน 2,372,767 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าเสียหาย 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 40,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้แม้ศาลชั้นต้นจะพิจารณาพิพากษารวมกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 906/2540 และพิพากษาในส่วนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 906/2540 ให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 3 กับที่ 2 คดีดังกล่าวถึงที่สุดโดยคู่ความมิได้อุทธรณ์ก็ตาม แต่คำพิพากษาส่วนนี้ผูกพันเฉพาะจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นคู่ความในคดีเท่านั้น หามีผลผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่ โจทก์ในฐานะบุคคลภายนอกจึงอาจพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่าจำเลยที่ 3 และคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 906/2540 ที่ให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาท เพราะเหตุจำเลยที่ 2 รับโอนที่ดินพิพาทโดยปราศจากอำนาจ ก็หาใช่คำพิพากษาที่วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินใด ๆ ตามนัยแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคสอง (2) ไม่ จึงใช้ยันโจทก์ซึ่งไม่ใช่เป็นคู่ความด้วยไม่ได้ ฉะนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์ได้ ส่วนระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ผู้ใดจะมีสิทธิดีกว่ากันนั้น จะต้องไปว่ากล่าวในชั้นบังคับคดีหรือฟ้องร้องกันไม่ใช่เป็นปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นนี้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ชดใช้ค่าเสียหาย 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลส่วนนี้ในศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นฎีกา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.