คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8387/2550

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การกระทำผิดของลูกจ้างจะเป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่นั้น ต้องวิเคราะห์ถึงปัจจัยต่าง ๆ ประกอบกันหลายประการ อาทิ ตำแหน่งหน้าที่การงานของลูกจ้าง ลักษณะและพฤติการณ์การกระทำความผิดของลูกจ้าง ตลอดจนผลเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำผิดว่ามีมากน้อยเพียงใด คดีนี้ ส. ซึ่งเป็นพนักงานรีดกาสมัครใจทะเลาะวิวาทกับ ว. พนักงานแผนกปั้มในบริเวณที่ทำงาน ขณะเกิดเหตุเป็นช่วงเวลาที่โจทก์อนุญาตให้พนักงานในโรงงานรับประทานอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าลูกจ้างของโจทก์ต่างก็มีการดื่มสุรากันภายในบริเวณโรงงานโดยไม่ได้มีการทำงานตามปกติ ซึ่งทั้ง ส. และ ว. ต่างก็ดื่มสุรา ดังนั้น เมื่อโจทก์อนุญาตให้พนักงานรับประทานอาหารและเครื่องดื่มโดยพนักงานต่างก็ดื่มสุรากัน จึงเป็นกรณีที่โจทก์มิได้ถือเอาการดื่มสุราในบริเวณโรงงานในช่วงเวลานั้นเป็นความผิดวินัยแก่พนักงาน จึงจะนำมาเป็นโทษแก่ ส. มิได้ สำหรับการทะเลาะวิวาทนั้นโดยตำแหน่งหน้าที่ของ ส. และ ว. ต่างก็เป็นพนักงานระดับปฏิบัติการซึ่งเหตุวิวาทมาจาก ว. เดินมาแผนกรีดกาแล้วกล่าววาจาท้าทายก่อน ส. จึงใช้แผ่นเหล็กซึ่งวางอยู่บริเวณดังกล่าวตี ว. แต่ก็ตีไปเพียง 1 ที โดยไม่แรง เมื่อมีผู้ห้ามปรามก็เลิกรากันไปโดยดี แม้จะปรากฏว่าหลังเลิกจากงานแล้ว ว. ได้ไปแย่งชิงมีดพกของพนักงานรักษาความปลอดภัยก็เป็นการกระทำของ ว. โดย ส. มิได้เกี่ยวข้องแต่อย่างใดอีก การทะเลาะวิวาทจึงมิได้เกิดขึ้นในระหว่างการทำงานและมิได้เกิดขึ้นต่อหน้าลูกค้าผู้มาติดต่องานกับโจทก์ จึงไม่มีผลกระทบต่อชื่อเสียงหรือการบังคับบัญชาของโจทก์ ทั้งไม่ปรากฏว่า ว. ได้รับอันตรายถึงบาดเจ็บ แม้ ส. จะฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์เอกสารหมาย จ.4 หมวดที่ 11 วินัยข้อ 12 แต่ก็ยังถือมิได้ว่าเป็นกรณีที่ร้ายแรงที่นายจ้างเลิกจ้างได้โดยไม่จำต้องตักเตือนตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 68/2548 ลงวันที่ 24 มิถุนายน 2548 ให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยแก่นายสมชาย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า มีเหตุเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่าการที่นายสมชายดื่มสุราภายในบริเวณโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาตแล้วมีเรื่องทะเลาะวิวาทกับนายวีระเป็นการกระทำผิดกรณีร้ายแรง โจทก์จึงเลิกจ้างนายสมชายได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยนั้น เห็นว่า การกระทำผิดของลูกจ้างจะเป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่นั้น ต้องวิเคราะห์ถึงปัจจัยต่าง ๆ ประกอบกันหลายประการ อาทิ ตำแหน่งหน้าที่การงานของลูกจ้าง ลักษณะและพฤติการณ์การกระทำความผิดของลูกจ้าง ตลอดจนผลเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำผิดว่ามีมากน้อยเพียงใด คดีนี้นายสมชายซึ่งเป็นพนักงานรีดกาสมัครใจทะเลาะวิวาทกับนายวีระพนักงานแผนกปั้มในบริเวณที่ทำงาน ขณะเกิดเหตุเป็นช่วงเวลาที่โจทก์อนุญาตให้พนักงานในโรงงานรับประทานอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า ลูกจ้างของโจทก์ต่างก็มีการดื่มสุรากันภายในโรงงานโดยไม่ได้มีการทำงานตามปกติ ซึ่งทั้งนายสมชายและนายวีระต่างก็ดื่มสุรา ดังนั้น เมื่อโจทก์อนุญาตให้พนักงานรับประทานอาหารและเครื่องดื่มโดยพนักงานต่างก็ดื่มสุรากัน จึงเป็นกรณีที่โจทก์มิได้ถือเอาการดื่มสุราในบริเวณโรงงานในช่วงเวลานั้นเป็นความผิดวินัยแก่พนักงาน จึงจะนำมาเป็นโทษแก่นายสมชายมิได้ สำหรับการทะเลาะวิวาทนั้นโดยตำแหน่งหน้าที่ของนายสมชายและนายวีระต่างก็เป็นพนักงานระดับปฏิบัติการซึ่งเหตุวิวาทมาจากนายวีระเดินมาแผนกรีดกาแล้วกล่าววาจาท้าทายก่อน นายสมชายจึงใช้แผ่นเหล็กซึ่งวางอยู่บริเวณดังกล่าวตีนายวีระแต่ก็ตีไปเพียง 1 ที โดยไม่แรง เมื่อมีผู้ห้ามปรามก็เลิกรากันไปโดยดี แม้จะปรากฏว่าหลังเลิกจากงานแล้วนายวีระได้ไปแย่งชิงมีดของพนักงานรักษาความปลอดภัยก็เป็นการกระทำของนายวีระโดยนายสมชายมิได้เกี่ยวข้องแต่อย่างใดอีก การทะเลาะวิวาท จึงมิได้เกิดขึ้นในระหว่างการทำงานและมิได้เกิดขึ้นต่อหน้าลูกค้าผู้มาติดต่องานกับโจทก์ จึงไม่มีผลกระทบต่อชื่อเสียงหรือการบังคับบัญชาของโจทก์ ทั้งไม่ปรากฏว่านายวีระได้รับอันตรายถึงบาดเจ็บ แม้นายสมชายจะฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์เอกสารหมาย จ.4 หมวดที่ 11 วินัยข้อ 12 แต่ก็ยังถือมิได้ว่าเป็นกรณีที่ร้ายแรงที่นายจ้างเลิกจ้างได้โดยไม่จำต้องตักเตือนตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า แม้การกระทำของนายสมชายจะผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานก็ยังถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีที่ร้ายแรง คำสั่งของจำเลยจึงชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยนั้น จึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share