คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6630/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ใบมอบอำนาจที่จำเลยยื่นต่อศาลแรงงานได้ระบุไว้ชัดแจ้งว่า ป. ผู้มีอำนาจลงนามแทนจำเลยมอบอำนาจให้ ย. เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยเกี่ยวกับการพิจารณาและการสืบพยานโจทก์ที่ศาลแรงงาน เมื่อคำให้การเป็นกระบวนพิจารณาอย่างหนึ่งและเป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1(8) ย. จึงมีอำนาจให้การด้วยวาจาต่อศาลแรงงานได้
การห้ามมิให้ว่าความอย่างทนายความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 60 หมายถึงห้ามมิให้ผู้รับมอบอำนาจซักถามพยานในศาลอย่างทนายความเท่านั้น แต่มิได้ห้ามมิให้รับมอบอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างอื่นต่อศาล
การยื่นคำให้การหรือการให้การด้วยวาจาต่อศาลแรงงาน เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างหนึ่งที่มิใช่เป็นการว่าความอย่างทนายความ ย. ผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยจึงมีอำนาจให้การด้วยวาจาต่อศาลแทนจำเลยได้ และเมื่อเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่อยู่ในขอบอำนาจที่ได้รับมอบอำนาจจากจำเลย ศาลแรงงานจึงรับคำให้การด้วยวาจาของ ย. ไว้พิจารณาได้
จำเลยให้การด้วยวาจา ศาลแรงงานได้บันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาว่า จำเลยได้ค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์ และจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์โดยยังไม่ได้จ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตามที่โจทก์ฟ้องจริง แต่ตามคำให้การที่ศาลบันทึกไว้ดังกล่าว จำเลยมิได้ยอมรับว่าเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด กรณีจะถือว่าจำเลยไม่ได้ให้การโดยแจ้งชัดว่าปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด และจะนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง มาใช้อย่างเคร่งครัดในกรณีเช่นนี้ไม่ได้ เพราะศาลแรงงานเป็นผู้บันทึกคำให้การจำเลยไว้เอง
เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติไม่ได้ว่า จำเลยยอมรับว่าเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดตามคำฟ้อง การที่ศาลแรงงานสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้ววินิจฉัยว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด จึงเป็นการวินิจฉัยโดยไม่มีข้อเท็จจริงดังกล่าวในสำนวน เป็นการไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง
คดีแรงงานเป็นคดีมีลักษณะพิเศษอันควรระงับลงได้ด้วยความเข้าใจอันดีต่อกันดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 38 วรรคหนึ่ง เมื่อไม่ปรากฏว่าศาลแรงงานได้ไกล่เกลี่ยให้โจทก์จำเลยได้ตกลงกันหรือประนีประนอมยอมความกัน ศาลฎีกาจึงให้ศาลแรงงานดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ตั้งแต่การไกล่เกลี่ยโจทก์จำเลยตามมาตรา 38 เป็นต้นไป แล้วมีคำสั่งหรือคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อเดือนมีนาคม 2539 จำเลยจ้างโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้าง ตำแหน่งพนักงานบัญชี ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 10,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2541 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้กระทำความผิด และระหว่างที่โจทก์ทำงานกับจำเลยจำเลยค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2541 ถึงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2541 เป็นเงิน10,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย 10,000 บาท และค่าชดเชย 30,000 บาท แก่โจทก์

จำเลยให้การด้วยวาจาว่า จำเลยค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์ 10,205 บาท และเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้จ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ตามที่โจทก์ฟ้องจริง

ระหว่างพิจารณา จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน 10,205 บาท แก่โจทก์

ศาลแรงงานกลางเห็นว่าข้อเท็จจริงพอวินิจฉัยได้ ให้งดสืบพยานโจทก์ และจำเลยแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยเมื่อเดือนมีนาคม 2539 ตำแหน่งพนักงานบัญชีได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 10,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือนและจำเลยค้างจ่ายค่าจ้างจำนวน 10,000 บาท วันที่ 25 พฤศจิกายน 2541 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ตามกฎหมาย พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์จำนวน 30,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยอุทธรณ์ประการแรกว่าผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยมิใช่ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากจำเลยให้เข้าดำเนินคดีแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 60 ผู้รับมอบอำนาจจึงไม่มีอำนาจให้การด้วยวาจาต่อศาลและไม่มีอำนาจว่าความหรือดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างทนายความนั้น เห็นว่า ใบมอบอำนาจฉบับลงวันที่ 21 ธันวาคม 2541 ที่จำเลยยื่นต่อศาลแรงงานกลางได้ระบุไว้ชัดแจ้งว่านายหวง หมิง กวน ผู้มีอำนาจลงนามแทนจำเลยมอบอำนาจให้นายยงยุทธ ชาญวิรวงค์ เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยเกี่ยวกับการพิจารณาและการสืบพยานโจทก์ที่ศาลแรงงานกลาง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1(8) คำว่า “การพิจารณา” หมายความว่ากระบวนพิจารณาทั้งหมดในศาลใดศาลหนึ่งก่อนศาลนั้นชี้ขาดตัดสินหรือจำหน่ายคดีโดยคำพิพากษาหรือคำสั่ง มาตรา 1(7) คำว่า “กระบวนพิจารณา” หมายความว่าการกระทำใด ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้อันเกี่ยวด้วยคดีซึ่งได้กระทำโดยคู่ความในคดีนั้นหรือโดยศาลหรือตามคำสั่งศาลไม่ว่าการนั้นจะเป็นโดยคู่ความฝ่ายใดทำต่อศาลหรือต่อคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งหรือศาลทำต่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทุกฝ่าย และมาตรา 1(4) คำว่า “คำให้การ” หมายความว่า กระบวนพิจารณาใด ๆ ซึ่งคู่ความฝ่ายหนึ่งยกข้อต่อสู้เป็นข้อแก้คำฟ้อง ดังนั้น คำให้การซึ่งเป็นกระบวนพิจารณาอย่างหนึ่งจึงเป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณา เมื่อจำเลยมอบอำนาจให้นายยงยุทธมีอำนาจเกี่ยวกับการพิจารณานายยงยุทธจึงมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาทั้งปวงซึ่งรวมถึงการให้การต่อศาลแรงงานกลางด้วยวาจาด้วย ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 60 วรรคสอง ห้ามมิให้ผู้รับมอบอำนาจจากคู่ความว่าความอย่างทนายความนั้น การห้ามมิให้ว่าความอย่างทนายความหมายถึงห้ามมิให้ผู้รับมอบอำนาจซักถามพยานในศาลอย่างทนายความเท่านั้น แต่มิได้ห้ามมิให้ผู้รับมอบอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างอื่นต่อศาล การยื่นคำให้การหรือการให้การด้วยวาจาต่อศาลเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างหนึ่งที่มิใช่เป็นการว่าความอย่างทนายความ นายยงยุทธผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยจึงมีอำนาจให้การด้วยวาจาต่อศาลแทนจำเลยได้และเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่อยู่ในขอบอำนาจที่ได้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ศาลแรงงานกลางรับคำให้การด้วยวาจาของนายยงยุทธไว้พิจารณาชอบแล้ว

จำเลยอุทธรณ์ประการที่สองว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด จำเลยไม่ได้รับข้อเท็จจริงเรื่องนี้ ศาลแรงงานกลางพิพากษาคดีไปทันที คำพิพากษาขัดต่อพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 51 เห็นว่า นายยงยุทธผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยให้การด้วยวาจา ซึ่งศาลแรงงานกลางได้บันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 21 ธันวาคม 2542 ว่า “ได้ค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์จำนวน 10,205 บาท และจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์โดยยังไม่ได้จ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตามที่โจทก์ฟ้องจริง” ซึ่งตามคำให้การไม่ได้ครอบคลุมไปถึงจำเลยยอมรับว่าเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด จะถือว่าจำเลยไม่ได้ให้การโดยแจ้งชัดว่าปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด โดยนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง มาใช้อย่างเคร่งครัดไม่ได้ เพราะศาลแรงงานกลางเป็นผู้บันทึกคำให้การไว้เอง ซึ่งยังฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติไม่ได้ว่า จำเลยยอมรับว่าเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดจริงตามคำฟ้อง ดังนั้นที่ศาลแรงงานกลางสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้ววินิจฉัยว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดจึงเป็นการวินิจฉัยโดยไม่มีข้อเท็จจริงดังกล่าวในสำนวน ย่อมไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง

อนึ่ง ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลแรงงานกลางลงวันที่ 21 ธันวาคม 2541 และวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2542 ไม่ปรากฏชัดแจ้งว่าศาลแรงงานกลางได้ไกล่เกลี่ยให้โจทก์จำเลยได้ตกลงกันหรือประนีประนอมยอมความกันหรือไม่ ด้วยเหตุที่คดีแรงงานเป็นคดีมีลักษณะพิเศษอันควรระงับได้ด้วยความเข้าใจอันดีต่อกันดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 38 วรรคหนึ่ง จึงเห็นสมควรให้ศาลแรงงานกลางดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ตั้งแต่การไกล่เกลี่ยโจทก์จำเลยตามมาตรา 38 เป็นต้นไป ไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในข้อที่ว่าศาลแรงงานกลางดำเนินกระบวนพิจารณาชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 20, 39 หรือไม่อีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง

พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางและคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2542 ให้ศาลแรงงานกลางดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ตั้งแต่การไกล่เกลี่ยโจทก์จำเลยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 38 แล้วให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปตามมาตรา 39 โดยให้สืบพยานโจทก์จำเลยในประเด็นจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดหรือไม่ด้วย แล้วมีคำสั่งหรือคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share