แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คำพิพากษาหรือคำสั่งศาลแรงงานให้อุทธรณ์ได้เฉพาะในข้อกฎหมายไปยังศาลฎีกาภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น การที่จำเลยยื่นอุทธรณ์เกินกำหนด 15 วันจำเลยจะอ้างว่าไม่ทราบบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว โดยเข้าใจว่ายื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 1 เดือน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหาได้ไม่ ชอบที่ศาลจะสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลย
ย่อยาว
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 4,800 บาท ค่าชดเชยจำนวน 6,000 บาท และออกใบสำคัญแสดงการผ่านงานแก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ศาลแรงงานกลางสั่งว่า จำเลยยื่นอุทธรณ์เมื่อพ้นกำหนด 15 วันนับแต่วันที่ศาลอ่านคำพิพากษาแล้ว จึงไม่รับจำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งว่า จำเลยไม่เคยถูกฟ้องดังเช่นคดีนี้มาก่อน จำเลยมีอาชีพค้าขายไม่มีความรู้ และไม่ทราบขั้นตอนของกฎหมาย จึงเข้าใจว่าระยะเวลาในการยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลแรงงานกลางมีกำหนดระยะเวลา 1 เดือน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งอีกทั้งจำเลยได้กระตือรือร้นและตั้งใจจะยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาโดยทนายจำเลยรีบทำอุทธรณ์และยื่นต่อศาลในวันเดียวกับที่จำเลยได้พบและแต่งตั้งให้เป็นทนาย ประกอบกับจำเลยได้วางเงินที่จะต้องชำระให้โจทก์ตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางและศาลมีคำสั่งให้รับไว้แล้ว โปรดมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของจำเลยไว้พิจารณาพิพากษาต่อไป
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 บัญญัติว่าคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแรงงานให้อุทธรณ์ได้เฉพาะในข้อกฎหมายไปยังศาลฎีกาภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น คดีนี้ศาลแรงงานกลางได้อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2533 จำเลยยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่30 มีนาคม 2533 ซึ่งเกินกำหนด15 วัน นับแต่วันที่ศาลแรงงานกลางอ่านคำพิพากษาอุทธรณ์ของจำเลยจึงยื่นเมื่อพ้นกำหนดตามกฎหมายแล้วจำเลยจะอ้างว่าไม่ทราบบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวโดยเข้าใจว่ายื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 1 เดือนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหาได้ไม่ที่ศาลแรงงานกลางสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง”