แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ที่โจทก์ฎีกาว่าสิทธิพื้นฐานในการอุทธรณ์ควรมี 30 วัน เมื่อมีเอกสารครบถ้วนนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 229 กำหนดให้คู่ความยื่นอุทธรณ์ได้ภายในเวลาหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่ง กำหนดเวลาดังกล่าวย่อมหมายความว่าคู่ความที่ประสงค์จะอุทธรณ์ต้องดำเนินการต่าง ๆให้แล้วเสร็จตามกำหนด มิใช่เมื่อมีเอกสารครบถ้วนแล้วจึงเริ่มนับระยะเวลาอุทธรณ์ตามที่โจทก์อ้างซึ่งไม่มีบทกฎหมายบทใดสนับสนุนหากโจทก์ได้รับสำเนาเอกสารในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ตามนัด โจทก์ก็จะมีเวลาสำหรับคำฟ้องอุทธรณ์ 12 วัน ซึ่งก็เป็นไปตามที่โจทก์ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์และน่าจะเป็นการเพียงพอแล้วสำหรับคดีที่ไม่ได้มีปัญหามากนักดังคดีนี้ การที่โจทก์อ้างว่าได้รับสำเนาเอกสารครบถ้วนในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ช้ากว่ากำหนดนัดไปเพียง 1 วัน จึงไม่ใช่พฤติการณ์พิเศษที่จะเป็นเหตุสมควรขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้ตามที่โจทก์ขออีก
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ห้ามมิให้จำเลยทั้งสามและบริวารเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับที่ดินของโจทก์ และร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 375,000 บาท เนื่องจากจำเลยทั้งสามบุกรุกเข้าไปทำถนนในที่ดินของโจทก์ นอกจากส่วนที่โจทก์บริจาค จำเลยทั้งสามให้การว่า ไม่ได้บุกรุกเข้าไปทำถนนในที่ดินของโจทก์ แต่การทำถนนเป็นเรื่องของสุขาภิบาลบางศรีเมือง ซึ่งว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด2928 ดีไซน์ ดำเนินการก่อสร้าง ระหว่างพิจารณาโจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกสุขาภิบาลบางศรีเมืองและห้างหุ้นส่วนจำกัด 2928 ดีไซน์เข้ามาเป็นจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ จำเลยร่วมทั้งสองให้การว่าไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ เพราะทำถนนตามแนวเขตที่สามีโจทก์ชี้กำหนด ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2542 วันที่ 20 มกราคม 2543 โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ออกไป 15 วัน นับแต่วันครบกำหนดศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ถึงวันที่ 14กุมภาพันธ์ 2543 ต่อมาในวันครบกำหนดของระยะเวลาที่ขยายให้โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไปอีก 15 วัน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าตามคำร้องยังถือไม่ได้ว่ามีพฤติการณ์พิเศษ ไม่อนุญาต ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า มีเหตุสมควรอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ตามที่โจทก์ขอหรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่าสิทธิพื้นฐานในการอุทธรณ์ควรมี 30 วัน เมื่อมีเอกสารครบถ้วนแล้วนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229กำหนดให้คู่ความยื่นอุทธรณ์ได้ภายในเวลาหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่ง กำหนดเวลาดังกล่าวย่อมหมายความว่าคู่ความที่ประสงค์จะอุทธรณ์ต้องดำเนินการต่าง ๆ ให้แล้วเสร็จตามกำหนดมิใช่เมื่อมีเอกสารครบถ้วนแล้วจึงเริ่มนับระยะเวลาอุทธรณ์ตามที่โจทก์อ้างซึ่งไม่มีกฎหมายบทใดสนับสนุน ตามเอกสารท้ายฎีกาของโจทก์ซึ่งเป็นใบนัดรับสำเนาเอกสารของศาลชั้นต้นลงวันที่ 20 มกราคม2543 แสดงว่าเจ้าหน้าที่ของศาลชั้นต้นนัดให้โจทก์ไปรับสำเนาเอกสารในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2543 แต่ในวันที่ 20 มกราคม 2543 นั้นเอง โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไป 15 วัน นับแต่วันครบกำหนดคือภายในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2543 เห็นได้ว่าหากโจทก์ได้รับสำเนาเอกสารในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2543 ตามนัด โจทก์ก็จะมีเวลาสำหรับทำคำฟ้องอุทธรณ์เพียง 12 วัน ซึ่งก็เป็นไปตามที่โจทก์ขอและน่าจะเป็นการเพียงพอแล้วสำหรับคดีที่ไม่ได้มีปัญหามากนักดังคดีนี้ การที่โจทก์อ้างว่าได้รับสำเนาเอกสารครบถ้วนในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2543 ช้ากว่ากำหนดนัดไปเพียง1 วัน จึงไม่ใช่พฤติการณ์พิเศษที่จะเป็นเหตุสมควรขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้ตามที่โจทก์ขออีก คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลอนาคตในชั้นอุทธรณ์และฎีกามาด้วยโดยไม่มีเหตุที่จะต้องเสีย จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลดังกล่าวแก่โจทก์”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ คืนค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์และฎีกาส่วนที่เสียเกินมาให้แก่โจทก์