คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 767/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ความผิดฐานพรากเด็กและพรากผู้เยาว์นั้นเป็นการกระทำต่อบิดามารดาหรือผู้ปกครองหรือผู้ดูแล และเป็นความผิดสำเร็จตั้งแต่จำเลยได้พาหรือแยกเด็กหรือผู้เยาว์ออกจากความปกครองดูแลของบิดามารดา การที่บิดามารดาของผู้เสียหายได้รับเงินค่าสินไหมทดแทนแล้วก็ดี และการที่ศาลอนุญาตให้ ผู้เสียหายสมรสกับจำเลยก็ดี ล้วนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังเกิดเหตุแล้ว ไม่อาจลบล้างความผิดที่จำเลยกระทำได้ และความผิดฐานพรากเด็กและ ผู้เยาว์ไม่มีบทบัญญัติยกเว้นโทษให้แก่ผู้กระทำความผิดดังเช่นบทบัญญัติในเรื่องการกระทำชำเราเด็กตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสี่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277,317, 319 และ 91

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 277 วรรคหนึ่ง, 317 วรรคสาม, 319 วรรคหนึ่ง เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 แต่สำหรับความผิดตามมาตรา 277 วรรคหนึ่ง เนื่องจากศาลอนุญาตให้จำเลยและผู้เสียหายสมรสกันแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษตามมาตรา 277วรรคสี่ ความผิดตามมาตรา 317 วรรคสาม จำคุก 6 ปี ความผิดตามมาตรา 319วรรคหนึ่ง จำคุก 4 ปี รวมจำคุก 10 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 5 ปี

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม จำคุก 5 ปี ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 วรรคหนึ่ง จำคุก 2 ปี รวมจำคุก 7 ปีลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุกจำเลย 3 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยพรากนางสาวสุนิสา จำเริญจิตร ผู้เสียหายไปเสียจากนางสาคร จำเริญจิตร มารดาซึ่งเป็นผู้ปกครองเพื่อการอนาจารรวม 2 ครั้ง โดยครั้งแรกพรากไปขณะที่ผู้เสียหายเป็นเด็กอายุ 14 ปีเศษและกระทำชำเราผู้เสียหายด้วย ครั้งที่สองพรากไปเมื่อผู้เสียหายเป็นผู้เยาว์อายุ 15 ปีเศษ โดยขณะเกิดเหตุจำเลยมีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่ก่อนแล้ว แต่หลังเกิดเหตุจึงได้หย่าขาดจากกัน และต่อมาภายหลังศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยกับผู้เสียหายสมรสกันแล้ว มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าจำเลยต้องรับโทษสำหรับความผิดฐานพรากเด็กและพรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจารหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ความผิดฐานพรากเด็กและพรากผู้เยาว์นั้นเป็นการกระทำต่อบิดามารดาหรือผู้ปกครองหรือผู้ดูแลและเป็นความผิดสำเร็จตั้งแต่จำเลยได้พาหรือแยกเด็กหรือผู้เยาว์ออกจากความปกครองดูแลของบิดามารดา การที่บิดามารดาของผู้เสียหายได้รับเงินค่าสินไหมทดแทนแล้วก็ดี และการที่ศาลอนุญาตให้ผู้เสียหายสมรสกับจำเลยก็ดี ล้วนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังเกิดเหตุแล้ว ไม่อาจลบล้างความผิดที่จำเลยกระทำได้ นอกจากนี้ความผิดฐานพรากเด็กและผู้เยาว์ไม่มีบทบัญญัติยกเว้นโทษให้แก่ผู้กระทำความผิด ดังเช่นบทบัญญัติในเรื่องการกระทำชำเราเด็กตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสี่ แต่ประการใดที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share