คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6627/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้จำเลยร่วมทั้งสองให้การต่อสู้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นของตน ประเด็นเรื่องการแย่งการครอบครองจึงไม่มี เพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดขึ้นได้ก็แต่ในที่ดินของบุคคลอื่น ไม่ใช่ที่ดินของตนเอง ฎีกาของจำเลยและจำเลยร่วมทั้งสองจึงเป็นฎีกาในข้อนอกประเด็น ไม่ใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 249 (เดิม)
จำเลยร่วมทั้งสองเป็นคู่ความที่ถูกหมายเรียกให้เข้ามาในคดีตามคำร้องของจำเลยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) ย่อมมีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนได้ฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่และอาจได้รับหรือถูกบังคับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 58 วรรคหนึ่ง เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดินตามใบจองของโจทก์ ก็ชอบที่จะบังคับห้ามมิให้จำเลยร่วมทั้งสองเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท ตลอดจนรับผิดชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมด้วย ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 (เดิม)
จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสองต่างยื่นฎีกามาแต่ละฉบับแยกต่างหากจากกัน โดยต่างเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาเต็มตามทุนทรัพย์ เมื่อกรณีแห่งคดีมีลักษณะเป็นคดีที่มีมูลความแห่งคดีอันไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงชอบที่ศาลฎีกาจะมีคำสั่งคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เกินแก่จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 150 วรรคท้าย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1164 ตำบลเกาะยาวใหญ่ กิ่งอำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา กับห้ามจำเลยและบริวารเข้ายุ่งเกี่ยวกับที่ดินของโจทก์ตามใบจองเลขที่ 191 หมู่ที่ 3 ตำบลเกาะยาวใหญ่ กิ่งอำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นหมายเรียกนายประสิทธิ์ และนายธวัช เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต โดยให้เรียกนายประสิทธิ์ว่า จำเลยร่วมที่ 1 เรียกนายธวัชว่า จำเลยร่วมที่ 2
จำเลยร่วมทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับเป็นว่า ให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1164 เลขที่ดิน 28 ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 35,000 บาท
จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า เดิมในปี 2505 ทางราชการได้จัดที่ดินแปลงเล็กแปลงน้อยซึ่งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลเกาะยาวใหญ่ กิ่งอำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา ให้ราษฎรเข้าจับจองที่ดินเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยและทำมาหาเลี้ยงชีพ ปี 2508 โจทก์ยื่นเรื่องขอจับจองเข้าอยู่อาศัย และปี 2515 โจทก์ได้รับใบจองจากทางราชการให้เข้าครอบครองที่ดินที่รัฐจัดสรรให้เป็นเนื้อที่ประมาณ 8 ไร่ 2 งาน 90 ตารางวา ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1164 ตำบลเกาะยาวใหญ่ กิ่งอำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา เนื้อที่ 8 ไร่ 3 งาน 13 ตารางวา ที่ทางราชการออกให้แก่จำเลยร่วมที่ 1 ในปี 2521 ก่อนที่จำเลยร่วมที่ 1 จะจดทะเบียนโอนให้จำเลยร่วมที่ 2 ในปี 2544 และจำเลยร่วมที่ 2 จดทะเบียนโอนขายให้จำเลยในปี 2549 ต่อมา ตามภาพถ่ายหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1164
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยและจำเลยร่วมทั้งสองว่า โจทก์สิ้นสิทธิฟ้องเรียกคืนการครอบครองในที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 แล้วนั้น เห็นว่า คดีนี้จำเลยร่วมทั้งสองให้การต่อสู้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นของตนเองประเด็นเรื่องการแย่งการครอบครองจึงไม่มี เพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดขึ้นได้ก็แต่ในที่ดินของบุคคลอื่น ไม่ใช่ในที่ดินของตนเอง ฎีกาจำเลยและจำเลยร่วมทั้งสองจึงเป็นฎีกาในข้อนอกประเด็น ไม่ใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ขณะที่มีการฟ้องคดีนี้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
อนึ่ง จำเลยร่วมทั้งสองเป็นคู่ความที่ถูกหมายเรียกให้เข้ามาในคดีตามคำร้องของจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) ย่อมมีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนได้ฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ และอาจได้รับหรือถูกบังคับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 58 วรรคหนึ่ง ดังนี้ เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดินตามใบจองของโจทก์ ก็ชอบที่จะบังคับห้ามมิให้จำเลยร่วมทั้งสองเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท ตลอดจนรับผิดชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามาโดยมิได้บังคับจำเลยร่วมทั้งสองจึงไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ขณะที่มีการฟ้องคดีนี้ นอกจากนี้จำเลยฝ่ายหนึ่งและจำเลยร่วมทั้งสองอีกฝ่ายหนึ่งต่างยื่นฎีกามาฝ่ายละฉบับแยกต่างหากจากกัน โดยต่างเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาเต็มตามทุนทรัพย์ เมื่อกรณีแห่งคดีมีลักษณะเป็นคดีที่มีมูลความแห่งคดีอันไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงชอบที่ศาลฎีกาจะมีคำสั่งคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เสียเกินแก่จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 150 วรรคท้าย
พิพากษาแก้เป็นว่า ห้ามมิให้จำเลย จำเลยร่วมทั้งสองและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท ให้จำเลยร่วมทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ร่วมกับจำเลย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาที่เสียมาแก่จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสองฝ่ายละครึ่งหนึ่ง กับให้จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนโจทก์ 10,000 บาท

Share