คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6624/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยกับ อ. ไปหาโจทก์ร่วมที่ห้องทำงานเพื่อให้โจทก์ร่วมลงนามในหนังสือรับรองการเบิกค่ารักษาพยาบาลของจำเลย โจทก์ร่วมให้ จ. นำไปตรวจสอบจึงเกิดการโต้เถียงกัน จำเลยพูดขึ้นว่า”แม่มึงไม่ต้องไปฟัง กูจะเอาอย่างนี้ ถ้าเซ็นไม่ได้ก็ไม่เป็นไรคุณเป็นหัวหน้าคนได้อย่างไร ทำงานไม่รับผิดชอบ ตัดสินปัญหาไม่ได้พอมีปัญหาก็โยนกันไปโยนกันมา คน ร.ส.พ. ทำงานกันอย่างนี้หรือ”ต่อหน้าโจทก์ร่วมในขณะที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ เป็นการสบประมาททำให้โจทก์ร่วมอับอายขายหน้า จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 393 แต่ถ้อยคำดังกล่าวเป็นการดูหมิ่นและวิจารณ์การทำงานของโจทก์ร่วมและกล่าวถึงโจทก์ร่วมโดยตรง ไม่มีลักษณะเป็นการใส่ความโจทก์ร่วมต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์ร่วมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง จึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326,393, 90
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายสุวัฒิชัย ทองรัตน์ ผู้เสียหาย ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ร่วมฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมเพียงประการเดียวว่า ถ้อยคำที่จำเลยพูดต่อหน้าโจทก์ร่วมตามที่โจทก์กล่าวในฟ้องนั้นจะเป็นการหมิ่นประมาท หรือดูหมิ่นซึ่งหน้าหรือไม่ ซึ่งในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายนี้ศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222ซึ่งศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า วันเกิดเหตุ จำเลยกับนายอำนวย พลเภรีย์ไปหาโจทก์ร่วมที่ห้องทำงานเพื่อให้โจทก์ร่วมลงนามในหนังสือรับรองการเบิกค่ารักษาพยาบาลของจำเลย โจทก์ร่วมให้นางสาวจินตนา มีสุวรรณ์ นำไปตรวจสอบจึงเกิดการโต้เถียงกันจำเลยพูดขึ้นว่า “แม่มึงไม่ต้องไปฟัง กูจะเอาอย่างนี้ ถ้าเซ็นไม่ได้ก็ไม่เป็นไร คุณเป็นหัวหน้าคนได้อย่างไร ทำงานไม่รับผิดชอบตัดสินปัญหาไม่ได้ พอมีปัญหาก็โยนกันไปโยนกันมา คน ร.ส.พ.ทำงานกันอย่างนี้หรือ” พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยกล่าวถ้อยคำดังกล่าวต่อหน้าโจทก์ร่วม ในสถานที่ทำงานของโจทก์ร่วมและในขณะที่โจทก์ร่วมกำลังปฏิบัติหน้าที่ จึงเป็นการสบประมาทโจทก์ร่วม ทำให้โจทก์ร่วมอับอายขายหน้า จำเลยจึงต้องมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393แต่ถ้อยคำดังกล่าวข้างต้นเป็นการดูหมิ่นและวิจารณ์การทำงานของโจทก์ร่วมและกล่าวถึงโจทก์ร่วมโดยตรง ไม่มีลักษณะเป็นการใส่ความโจทก์ร่วมต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์ร่วมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ฎีกาโจทก์ร่วมฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 393 ให้ลงโทษปรับจำเลย 1,000 บาท หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share