คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2766/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มาตรา 15 ที่บัญญัติว่า “กรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งมีข้อความระบุถึง ความรับผิดของบริษัทแตกต่าง ไปจากที่กำหนดไว้ในบทแห่งพระราชบัญญัตินี้บริษัทจะยกเป็นข้อต่อสู้เพื่อปฏิเสธความรับผิดต่อผู้ประสบภัยในการชดใช้ค่าเสียหายเบื้องต้นมิได้” นั้น เป็นบทบัญญัติที่ห้ามมิให้ผู้รับประกันภัยกำหนดเงื่อนไขความรับผิดแตกต่างไปจากบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติฉบับนี้เกี่ยวกับการชดใช้ค่าเสียหายเบื้องต้นเท่านั้น ส่วนกรณีที่มีการกำหนดเงื่อนไขความรับผิดของผู้รับประกันภัยที่เป็นเงื่อนไขความรับผิดเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนนอกจากค่าเสียหายเบื้องต้น ย่อมไม่ต้องด้วยข้อห้ามตามมาตรา 15 ดังกล่าวและเมื่อ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถมิได้มีบทบัญญัติอื่นใดห้ามการตกลงกำหนดเงื่อนไขดังกล่าว เงื่อนไขดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อเจตนารมณ์หรือความมุ่งหมายของพระราชบัญญัติฉบับนี้หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนย่อมไม่เป็นโมฆะ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนางทองเหรียญ กัญญมาสา เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2538นางทองเหรียญ ได้นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ซึ่งขับโดยนายวิเชียร ทำชอบ ต่อมาเมื่อเวลา 19.30 นาฬิกาได้เกิดอุบัติเหตุขึ้น โดยมีรถยนต์ไม่ทราบยี่ห้อและหมายเลขทะเบียนชนรถจักรยานยนต์คันที่นายวิเชียรขับจนเป็นเหตุให้นายวิเชียรและนายทองเหรียญถึงแก่ความตายจำเลยจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้โจทก์เพียง 10,000 บาทจำเลยมีหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถพ.ศ. 2535 และตามสัญญากรมธรรม์ประกันภัยต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าปลงศพเพิ่มแก่โจทก์อีกเป็นจำนวนเงิน 40,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ตามสัญญากรมธรรม์ประกันภัยเลขที่ 719-3897-3463 และตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535เป็นจำนวนเงิน 40,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่จำเลยได้ปฏิเสธการจ่ายเงินคือวันที่ 23 สิงหาคม 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายทองเหรียญ กัญญมาสา เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2538 นางทองเหรียญได้นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่ขับโดยนายวิเชียร ทำชอบจากจังหวัดอุบลราชธานีเพื่อไปยังจังหวัดอำนาจเจริญ ได้มีรถยนต์ไม่ทราบยี่ห้อและหมายเลขทะเบียนแล่นเข้ามาชนรถจักรยานยนต์คันดังกล่าว เป็นเหตุให้นายทองเหรียญและนายวิเชียรถึงแก่ความตาย รถจักรยานยนต์คันดังกล่าวได้ทำการประกันภัยกับจำเลยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถพ.ศ. 2535 โจทก์นำกรมธรรม์ประกันภัยของจำเลยตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.3 ไปขอรับเงินแต่จำเลยชำระเงินให้เพียง 10,000 บาท โดยจำเลยได้ปฏิเสธการจ่ายเงินจำนวนอีก 40,000 บาท เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2538 กรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.3มีข้อตกลงในรายการที่ 4 จำนวนเงินคุ้มครองผู้ประสบภัยจำนวนเงินคุ้มครองสูงสุด 50,000 บาท ต่อหนึ่งคนรายการที่ 5 จำนวนค่าเสียหายเบื้องต้น ความเสียหายต่อชีวิต 10,000 บาท ต่อหนึ่งคน และสัญญาหมวดที่ 2 ส่วนที่ 1การคุ้มครองความรับผิดต่อผู้ประสบภัย การคุ้มครองตามสัญญาหมวดที่ 2 ส่วนที่ 1 นี้เป็นการคุ้มครองความรับผิดต่อผู้ประสบภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 การคุ้มครองเงื่อนไขและข้อยกเว้นที่กำหนดไว้ในสัญญาส่วนนี้ใช้บังคับโดยไม่นำเอาเงื่อนไขทั่วไปในสัญญาหมวดที่ 1 มาใช้บังคับ ข้อ 2 การคุ้มครองผู้ประสบภัยบริษัทจะใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายต่อชีวิตร่างกายหรืออนามัยของผู้ประสบภัยเนื่องจากรถที่ใช้หรืออยู่ในทางหรือเนื่องจากสิ่งที่บรรทุกหรือติดตั้งในรถนั้นในระหว่างระยะเวลาประกันภัยให้แก่ 2.1 ผู้ประสบภัยในนามของผู้เอาประกันภัย ซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย 2.2 ผู้ประสบภัยซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยหรือบุคคลในครอบครัวของผู้เอาประกันภัย ซึ่งมิใช่เป็นผู้ขับ ทั้งนี้ในกรณีผู้ขับขี่เป็นฝ่ายที่ต้องรับผิดต่ออุบัติเหตุ และข้อเท็จจริงได้ความว่า ที่เกิดอุบัติเหตุคดีนี้นายวิเชียรผู้ขับเป็นฝ่ายที่ไม่ต้องรับผิด
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์อุทธรณ์ว่า เงื่อนไขตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 2 เป็นโมฆะหรือไม่ เห็นว่าพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถพ.ศ. 2535 มาตรา 15 บัญญัติว่า “กรมธรรม์ประกันภัยซึ่งมีข้อความระบุถึงความรับผิดของบริษัทแตกต่างไปจากที่กำหนดไว้ในบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ บริษัทจะยกเป็นข้อต่อสู้เพื่อปฏิเสธความรับผิดต่อผู้ประสบภัยในการชดใช้ค่าเสียหายเบื้องต้นมิได้” ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ห้ามมิให้ผู้รับประกันภัยกำหนดเงื่อนไขความรับผิดแตกต่างไปจากบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติฉบับนี้เกี่ยวกับการชดใช้ค่าเสียหายเบื้องต้นแต่กรณีคดีนี้ที่กำหนดเงื่อนไขความรับผิดของผู้รับประกันภัยหรือจำเลยตามข้อ 2 เป็นเงื่อนไขความรับผิดเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนนอกจากค่าเสียหายเบื้องต้นจึงไม่ต้องด้วยข้อห้ามตามมาตรา 15 ดังกล่าว และพระราชบัญญัติฉบับนี้ก็มิได้มีบทบัญญัติอื่นใดห้ามการตกลงกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวด้วยดังนั้น เงื่อนไขตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 2จึงไม่ขัดต่อเจตนารมณ์หรือความมุ่งหมายของพระราชบัญญัติฉบับนี้ หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนดังที่โจทก์อุทธรณ์ และไม่เป็นโมฆะ
พิพากษายืน

Share