คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6619/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2547 คู่ความไม่อุทธรณ์ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาได้ภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในชั้นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 แต่โจทก์เพิ่งยื่นคำร้องขอให้ส่งคำบังคับแก่จำเลยเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2557 หลังจากระยะเวลาในการบังคับคดีล่วงเลยมานานถึง 9 ปีเศษ ใกล้จะพ้นกำหนดระยะเวลาบังคับคดีแล้วจึงนับว่าเป็นความบกพร่องอันเป็นความผิดของโจทก์เองที่ไม่รีบดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยเสียแต่เนิ่น ๆ ซึ่งศาลชั้นต้นวินิจฉัยแล้วว่า ตามคำร้องขอขยายระยะเวลาบังคับคดีของโจทก์ไม่มีพฤติการณ์พิเศษและไม่มีเหตุสุดวิสัย เท่ากับศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าไม่มีเหตุดังที่โจทก์อ้างมาในคำร้อง อันเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่ามีพฤติการณ์พิเศษและมีเหตุสุดวิสัยที่ศาลควรอนุญาตขยายระยะเวลาบังคับคดีให้โจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 หรือไม่ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ตามคำร้องขอขยายระยะเวลาบังคับคดีฉบับลงวันที่ 8 กันยายน 2557 มีเหตุที่จะขยายระยะเวลา เนื่องจากรายงานผลการส่งคำบังคับยังไม่เข้าสำนวน โจทก์จึงสามารถยื่นคำขอให้ออกหมายบังคับคดีได้และตามคำร้องขอขยายระยะเวลาบังคับคดีฉบับลงวันที่ 1 ตุลาคม 2557 โจทก์สืบทราบว่าจำเลยทำงานที่บริษัท บ. ซึ่งอยู่ภายในระยะเวลาบังคับคดีเช่นเดียวกัน ถือว่าเป็นพฤติการณ์พิเศษหรือมีเหตุสุดวิสัยนั้น เป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจของศาลชั้นต้นในการรับฟังข้อเท็จจริง จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง เมื่อคดีมีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง อุทธรณ์ของโจทก์แม้จะเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นซึ่งไม่เกี่ยวกับเนื้อหาของคดีที่คู่ความพิพาทกัน ก็ย่อมต้องห้ามตามบทบัญญัติเช่นกัน

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2547 ให้จำเลยชำระเงิน 29,307 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยดอกเบี้ยคำนวณถึงวันที่ 15 มีนาคม 2547 ซึ่งเป็นวันฟ้องให้ไม่เกิน 7,326 บาท กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท และออกคำบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาในวันเดียวกัน ต่อมาวันที่ 25 กรกฎาคม 2557 โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ส่งคำบังคับแก่จำเลย วันที่ 30 สิงหาคม 2557 เจ้าหน้าที่ศาลนำคำบังคับไปส่งให้แก่จำเลยได้โดยวิธีปิดคำบังคับ
วันที่ 8 กันยายน 2557 โจทก์ยื่นคำร้องว่า โจทก์ไม่พบทรัพย์สินของจำเลยที่จะบังคับคดีได้ และยังไม่ทราบผลการส่งคำบังคับ ขอขยายระยะเวลาบังคับคดีเป็นเวลา 6 เดือน และในวันที่ 1 ตุลาคม 2557 โจทก์ยื่นคำร้องว่า โจทก์สืบทราบว่าจำเลยทำงานอยู่ที่บริษัทบิทไว้ส์ (ประเทศไทย) จำกัด แต่การบังคับคดีไม่ทันภายในระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด ขอขยายระยะเวลาบังคับคดีเป็นเวลา 6 เดือน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตามคำร้องทั้งสองฉบับว่า ตามคำร้องของโจทก์ไม่มีพฤติการณ์พิเศษและไม่มีเหตุสุดวิสัยให้ยกคำร้อง
วันที่ 1 ตุลาคม 2557 โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ออกหมายบังคับคดีและคำร้องขอให้แก้ชื่อสกุลของจำเลยในคำพิพากษาจาก “พนมพิรัตน์” เป็น “พนพพิรัตน์”
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า โจทก์มิได้ร้องขอให้บังคับคดีภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา และคำฟ้องของโจทก์พิมพ์ผิดโดยคำพิพากษาของศาลมิได้ผิดหลง ให้ยกคำร้องทั้งสองฉบับ
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องขอขยายระยะเวลาบังคับคดี คำร้องขอให้ออกหมายบังคับคดี และคำร้องขอให้แก้ชื่อสกุลของจำเลยในคำพิพากษา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์โจทก์ คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดแก่โจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ชอบหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า อุทธรณ์ของโจทก์ที่โต้แย้งว่าคำร้องขอขยายระยะเวลาบังคับคดีมีพฤติการณ์พิเศษและมีเหตุสุดวิสัย เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายและเป็นอุทธรณ์ในชั้นบังคับคดี ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยจึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2547 คู่ความไม่อุทธรณ์ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาได้ภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในชั้นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 แต่โจทก์เพิ่งยื่นคำร้องขอให้ส่งคำบังคับแก่จำเลยเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2557 หลังจากระยะเวลาในการบังคับคดีล่วงเลยมานานถึง 9 ปีเศษ ใกล้จะพ้นกำหนดระยะเวลาบังคับคดีแล้ว จึงนับว่าเป็นความบกพร่องอันเป็นความผิดของโจทก์เองที่ไม่รีบดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยเสียแต่เนิ่น ๆ ซึ่งศาลชั้นต้นวินิจฉัยแล้วว่า ตามคำร้องขอขยายระยะเวลาบังคับคดีของโจทก์ไม่มีพฤติการณ์พิเศษและไม่มีเหตุสุดวิสัยเท่ากับศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าไม่มีเหตุดังที่โจทก์อ้างมาในคำร้อง อันเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่ามีพฤติการณ์พิเศษและมีเหตุสุดวิสัยที่ศาลควรอนุญาตขยายระยะเวลาบังคับคดีให้โจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 หรือไม่ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ตามคำร้องขอขยายระยะเวลาบังคับคดีฉบับลงวันที่ 8 กันยายน 2557 มีเหตุที่จะขยายระยะเวลาบังคับคดีให้โจทก์เนื่องจากรายงานผลการส่งคำบังคับยังไม่เข้าสำนวน โจทก์จึงไม่สามารถยื่นคำขอให้ออกหมายบังคับคดีได้ และตามคำร้องขอขยายระยะเวลาบังคับคดีฉบับลงวันที่ 1 ตุลาคม 2557 โจทก์สืบทราบว่าจำเลยทำงานที่บริษัทบิทไว้ส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งอยู่ภายในระยะเวลาบังคับคดีเช่นเดียวกัน จึงถือได้ว่าเป็นพฤติการณ์พิเศษหรือมีเหตุสุดวิสัยนั้น เป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจของศาลชั้นต้นในการรับฟังข้อเท็จจริง จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง เมื่อคดีนี้มีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง อุทธรณ์ของโจทก์แม้จะเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นซึ่งไม่เกี่ยวกับเนื้อหาของคดีที่คู่ความพิพาทกัน ก็ย่อมต้องห้ามตามบทบัญญัติเช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้กลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยให้ออกหมายบังคับคดีและแก้ชื่อสกุลของจำเลยในคำพิพากษานั้น เห็นว่า โจทก์ฎีกาโดยมิได้ยกเหตุผลขึ้นโต้แย้งคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ว่าไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share