แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่ตรงกับเจตนาที่แท้จริงของคู่กรณี เป็นการแสดงเจตนาลวงด้วยสมรู้ระหว่างคู่กรณี นิติกรรมที่แสดงออกมาว่าเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ส่วนเจตนาที่แท้จริงของคู่กรณีคือจำเลยยอมชำระเงินแทน ฉ. ในมูลหนี้ที่ ฉ. ทำสัญญากู้เงิน ป. สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทจึงถือได้ว่าเป็นการค้ำประกันการกู้ยืมเงินของ ฉ. โดยมีจำเลยเป็นผู้ค้ำประกัน
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยคืนเงินมัดจำกรณีโอนที่ดินกันไม่ได้เท่ากับโจทก์ขอให้ชำระหนี้ค้ำประกัน หาใช่เป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์ หากเพิกเฉยให้ถือเอา
คำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ถ้าไม่สามารถจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์ได้ ให้จำเลยชำระเงิน 621,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 540,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 540,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 22 มีนาคม 2555) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า จำเลยต้องชำระเงินแก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า สัญญาจะซื้อจะขายหรือสัญญาวางมัดจำ ที่ระบุที่ดินที่จะซื้อจะขายตามโฉนดเลขที่ 3707 นั้น ไม่ตรงกับเจตนาที่แท้จริงของคู่กรณีและคู่กรณีไม่ประสงค์ให้มีผลตามกฎหมาย เป็นการแสดงเจตนาลวงด้วยสมรู้ระหว่างคู่กรณี นิติกรรมที่แสดงออกมาว่าเป็นที่ดิน
โฉนดเลขที่ 3707 จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ส่วนเจตนาที่แท้จริงของคู่กรณีที่ประสงค์ให้ใช้บังคับระหว่างกันคือที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 261 ที่ไม่เปิดเผยและถูกอำพรางไว้ กรณีจึงต้องบังคับตามนิติกรรมที่ถูกอำพรางนี้
เมื่อครบกำหนดโอนที่ดินตามสัญญาในวันที่ 30 ธันวาคม 2552 นายฉลาดผิดสัญญาโอนที่ดินแก่
นายประหยัดไม่ได้ ดังนี้ นายประหยัดย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้นายฉลาดปฏิบัติตามสัญญาหรือเรียกค่าเสียหายได้ การที่นายฉลาดทำสัญญากู้ยืมเงินนายประหยัด 880,000 บาท เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2553 โดยจำเลยเป็นผู้เขียนสัญญา และจำเลยยอมนำที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 2703 ของจำเลยให้ยึดถือเป็นประกันด้วยนั้น จึงเป็นที่มาแห่งมูลหนี้ ชอบที่นายประหยัดจะบังคับให้นายฉลาดชำระค่าเสียหายที่
ไม่สามารถโอนที่ดินแก่ตน แต่เนื่องเพราะนายฉลาดไม่มีทรัพย์สินอะไร เป็นบุคคลล้มละลายและ
นายประหยัดกลัวว่านายฉลาดจะโกงบิดพลิ้วไม่ยอมชำระเงินตามสัญญากู้เงิน การที่จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 2703 ของจำเลยแก่โจทก์ในราคา 880,000 บาท เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2553 ตามหนังสือสัญญาจะซื้อจะขาย เพื่อเป็นประกันไว้แทนสัญญากู้เงินดังกล่าวให้อีก เห็นว่า สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 2703 ของจำเลยระหว่างโจทก์กับจำเลยนั้น ไม่ตรงกับเจตนาที่แท้จริงของคู่กรณี และคู่กรณีใม่ประสงค์ให้มีผลตามกฎหมายเป็นการแสดงเจตนาลวงด้วยสมรู้ระหว่างคู่กรณี นิติกรรมที่แสดงออกมาว่าเป็นสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทจึงตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ส่วนเจตนาที่แท้จริงของคู่กรณีที่ประสงค์ให้ใช้บังคับระหว่างกันคือ จำเลยยอมชำระเงินแทนนายฉลาดในมูลหนี้ที่นายฉลาดทำสัญญากู้เงินนายประหยัด 880,000 บาท นั่นเอง และสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท ถือได้ว่าเป็นการกู้ยืมเงินของนายฉลาด โดยมีจำเลยเป็นผู้ค้ำประกัน ซึ่งสัญญาตามเจตนาที่แท้จริงดังกล่าวนี้เป็นนิติกรรมอีกอันหนึ่งที่คู่กรณีสมัครใจตกลงทำขึ้นเพื่อเป็นการค้ำประกันเงินที่นายประหยัดได้วางมัดจำแก่นายฉลาดเพื่อชำระราคาที่ดินไปแล้วพร้อมค่าเสียหายมิใช่นิติกรรมอำพรางของสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างนายฉลาดกับนายประหยัด ซึ่งเป็นคนละส่วนต่างหากจากกัน เมื่อนายฉลาดมิได้ชำระเงินที่ต้องรับผิดแก่นายประหยัดหรือโจทก์และการที่จำเลยยอมทำสัญญารับผิดในหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์ตามที่นายฉลาด นายประหยัดและโจทก์ยินยอม โดยทุกฝ่ายต่างลงลายมือชื่อในสัญญาจะซื้อจะขาย เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยคืนเงินมัดจำกรณีโอนที่ดินกันไม่ได้เท่ากับโจทก์ขอให้ชำระหนี้ค้ำประกัน หาใช่เป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่งไม่ ส่วนที่จำเลยอ้างว่า ฝ่ายโจทก์ตกลงว่าหากนายประหยัดได้รับโอนที่ดินจากนางสาวแล้วก็ให้สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท เป็นอันยกเลิกนั้น เห็นว่า นายฉลาดเบิกความยอมรับว่า เมื่อโจทก์กับจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทแล้ว หลังจากนั้นประมาณ 2 เดือน นายฉลาดจึงทราบว่า นายประหยัดไปดำเนินการไถ่ถอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 261 ของนางสาวจากธนาคาร และวันที่ 30 มีนาคม 2553 นางสาวโอนที่ดินดังกล่าวแก่นายประหยัดตามสำเนาโฉนดที่ดิน แสดงว่าเมื่อนายฉลาดไม่สามารถดำเนินการโอนที่ดินดังกล่าวแก่นายประหยัดตามสัญญาภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2552 หลังจากนั้นนายฉลาดก็ไม่ได้ดำเนินการใดให้เห็นว่านายประหยัดคงให้นายฉลาดปฏิบัติตามสัญญาต่อไป และข้อกล่าวอ้างของจำเลยไม่มีหลักฐานยืนยันได้สมจริง จึงเป็นการกล่าวอ้างลอยๆ การได้ที่ดินดังกล่าวของนายประหยัดไม่มีมูลเกี่ยวข้องกับคดีนี้ ข้ออ้างดังกล่าวของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น จำเลยจึงต้องรับผิดคืนเงินมัดจำ 540,000 บาท แก่โจทก์ แต่ข้อเท็จจริงได้ความตามที่โจทก์ตอบทนายจำเลยถามค้านยอมรับว่า เมื่อบิดาโจทก์และโจทก์ได้รับโอนที่ดินจากนางสาวและนางสร้อยสน โจทก์ได้รับเงิน 150,000 บาท เข้าใจว่าเป็นส่วนของนายฉลาด เมื่อหักหนี้กันแล้ว คงเหลือหนี้ต่อกัน 390,000 บาท ดังนั้น จำเลยจึงต้องรับผิดคืนเงิน 390,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป ตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาเพียงบางส่วน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 390,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 22 มีนาคม 2555) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น