แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ 8305/2549 ระบุว่าให้โจทก์รับผิดในมูลหนี้ละเมิดและจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 รับผิดในมูลหนี้สัญญาซื้อขาย แต่ บ. ขอให้โจทก์ร่วมรับผิดในค่าเสียหายจำนวนเดียวกันกับที่ บ. ขอให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต้องรับผิดต่อ บ. จึงถือเป็นหนี้อันจะแบ่งกันชำระมิได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 301 ซึ่งบัญญัติให้โจทก์ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ด้วย ซึ่งตามคำพิพากษาดังกล่าวระบุไว้ชัดแจ้งแล้วว่า โจทก์ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในมูลหนี้ละเมิดแก่ บ. ส่วนจำเลยทั้งสามแต่ละคนต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในมูลหนี้สัญญาซื้อขายแก่ บ. เพียงแต่ค่าเสียหายที่ บ. เรียกจากโจทก์และจำเลยทั้งสามนั้นเป็นจำนวนเดียวกันถือเป็นหนี้อันจะแบ่งกันชำระมิได้ จึงมีผลให้ความรับผิดของโจทก์กับจำเลยแต่ละคนต่อ บ. เป็นอย่างลูกหนี้ร่วมในค่าเสียหายจำนวนเดียวกัน แต่ไม่ได้ทำให้ความรับผิดของโจทก์ในมูลหนี้ละเมิดต่อ บ. หมดไป โจทก์ยังคงมีความรับผิดต้องชดใช้ค่าเสียหายในมูลหนี้ละเมิดแก่ บ. ตามส่วนของตน การที่โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายแก่ บ. เต็มจำนวนที่โจทก์ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยทั้งสาม จึงเป็นการชำระหนี้มูลละเมิดของโจทก์ที่มีต่อ บ. ครึ่งหนึ่งและชำระหนี้มูลสัญญาซื้อขายของจำเลยทั้งสามที่มีต่อ บ. ครึ่งหนึ่ง โจทก์จึงเข้ารับช่วงสิทธิของ บ. ที่จะไล่เบี้ยจากจำเลยทั้งสามได้เพียงครึ่งหนึ่งของจำนวนที่โจทก์ชำระไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 1,520,793.83 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 685,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 77,704.79 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 35,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 3 ชำระเงิน 1,110,068.49 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 500,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยโจทก์มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยทั้งสามไม่เกินเงินต้น 685,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2537 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 3ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 436,324.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2550 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 15,486.84 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2550 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท สำหรับค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี ยกฟ้องโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 221,940 บาท จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 7,877.50 บาท และจำเลยที่ 3 ชำระเงิน 112,682.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2537 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์รับช่วงสิทธิมาเรียกร้องจากจำเลยทั้งสามได้ตามจำนวนที่โจทก์ชำระไปหรือไม่ ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ 8305/2549 ระบุว่าให้โจทก์รับผิดในมูลหนี้ละเมิดและจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 รับผิดในมูลหนี้สัญญาซื้อขาย แต่นายบุญช่วยขอให้โจทก์ร่วมรับผิดในค่าเสียหายจำนวนเดียวกันกับที่นายบุญช่วยขอให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต้องรับผิดต่อนายบุญช่วย จึงถือเป็นหนี้อันจะแบ่งกันชำระมิได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 301 ซึ่งบัญญัติให้โจทก์ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ด้วย โจทก์ฎีกาว่าคำพิพากษาดังกล่าวมิได้ให้โจทก์ร่วมรับผิดในมูลหนี้สัญญาซื้อขาย ดังนั้นการกำหนดให้โจทก์ร่วมรับผิดกับจำเลยทั้งสาม จึงเป็นการกำหนดหลักประกันแก่นายบุญช่วยว่าจะสามารถเรียกให้โจทก์ชำระหนี้แทนจำเลยทั้งสามได้ เมื่อโจทก์ชำระหนี้ให้นายบุญช่วยแล้วโจทก์จึงรับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ฟ้องไล่เบี้ยแก่ลูกหนี้ได้ จำเลยทั้งสามจึงมีหน้าที่ต้องชดใช้เงินให้แก่โจทก์ตามส่วนที่ตนต้องมีหน้าที่ชำระแก่นายบุญช่วย นั้น เห็นว่า ตามคำพิพากษาดังกล่าวระบุไว้ชัดแจ้งแล้วว่า โจทก์ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในมูลหนี้ละเมิดแก่นายบุญช่วย ส่วนจำเลยทั้งสามแต่ละคนต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในมูลหนี้สัญญาซื้อขายแก่นายบุญช่วย เพียงแต่ค่าเสียหายที่นายบุญช่วยเรียกจากโจทก์และจำเลยทั้งสามนั้นเป็นจำนวนเดียวกันถือเป็นหนี้อันจะแบ่งกันชำระมิได้ จึงมีผลให้ความรับผิดของโจทก์กับจำเลยแต่ละคนต่อนายบุญช่วยเป็นอย่างลูกหนี้ร่วมในค่าเสียหายจำนวนเดียวกัน แต่ไม่ได้ทำให้ความรับผิดของโจทก์ในมูลหนี้ละเมิดต่อนายบุญช่วยหมดไป โจทก์ยังคงมีความรับผิดต้องชดใช้ค่าเสียหายในมูลหนี้ละเมิดแก่นายบุญช่วยตามส่วนของตน การที่โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายแก่นายบุญช่วยเต็มจำนวนที่โจทก์ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยทั้งสาม จึงเป็นการชำระหนี้มูลละเมิดของโจทก์ที่มีต่อนายบุญช่วยครึ่งหนึ่งและชำระหนี้มูลสัญญาซื้อขายของจำเลยทั้งสามที่มีต่อนายบุญช่วยครึ่งหนึ่ง โจทก์จึงเข้ารับช่วงสิทธิของนายบุญช่วยที่จะไล่เบี้ยจากจำเลยทั้งสามได้เพียงครึ่งหนึ่งของจำนวนที่โจทก์ชำระไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง จำเลยที่ 3 ยื่นคำแก้ฎีกาขอให้แก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 นั้น เป็นกรณีที่ต้องทำเป็นฎีกา ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความในชั้นฎีกา 10,000 บาท แทนจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีการะหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้เป็นพับ