คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6615/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้คำร้องของผู้ร้องจะใช้คำว่าผู้แทนเฉพาะคดีต่างจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา73ที่ใช้คำว่าผู้แทนชั่วคราวก็ตามแต่ก็พึงเห็นได้ว่าผู้ร้องประสงค์จะให้ศาลตั้งผู้ร้องให้มีอำนาจเข้าไปแก้ไขอุปสรรค์ข้อบกพร่องของจำเลยในการที่จะยื่นคำให้การต่อสู้คดีกับโจทก์เพียงแต่ผู้ร้องใช้ถ้อยคำในคำร้องผิดจากถ้อยคำในกฎหมายเท่านั้นชอบที่ศาลจะปรับบทกฎหมายให้เข้ากับข้อเท็จจริงตามคำร้องได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นของจำเลยที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2537 คดีอยู่ระหว่างส่งหมายเรียกสำเนาคำฟ้องให้จำเลย ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ตามข้อบังคับของจำเลยกำหนดให้กรรมการสามคนร่วมลงนามพร้อมประทับตราสำคัญของจำเลย โดยกรรมการทั้งสามคนต้องเป็นกรรมการจากผู้ถือหุ้นในกลุ่ม ก. กลุ่ม ข. และกลุ่ม ค.กลุ่มละหนึ่งคนร่วมลงนามทำการแทนจำเลยได้ แต่นายศักดา บุณยรักษ์กรรมการกลุ่ม ข. ซึ่งมีเพียงคนเดียวและเป็นกรรมการที่สนิทสนมกับโจทก์ได้ลาออกจากกรรมการจำเลยก่อนโจทก์>ยื่นคำฟ้องคดีนี้ทำให้จำเลยขาดกรรมการจากกลุ่ม ข.ที่จะร่วมลงนามทำการแทนจำเลยในการต่อสู้คดีกับโจทก์ทั้งข้อบังคับจำเลยไม่มีวิธีการแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวผู้ร้องเป็นกรรมการและประธานกรรมการจำเลยโดยความเห็นชอบของกรรมการจำเลยอื่น ๆ จึงขอให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้แทนเฉพาะคดี ให้ผู้ร้องมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย และมีคำสั่งให้รับคำให้การของจำเลยที่ผู้ร้องลงนามในฐานะกรรมการไว้พิจารณาพิพากษาต่อไป
ศาลชั้นต้นพิจารณาคำร้องแล้วมีคำสั่งว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้แทนจำเลยเฉพาะคดีโดย อ้างมูลเหตุที่นายศักดา บุณยรักษ์ กรรมการผู้มีอำนาจคนหนึ่งของจำเลยลาออกจากการเป็นกรรมการของจำเลยทำให้กรรมการของจำเลยที่เหลือไม่มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยได้ กรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 73และ 75 ซึ่งเป็นเรื่องการตั้งตัวแทนชั่วคราวเท่านั้น และทั้งไม่ใช่การแก้ไขข้อบกพร่องของผู้แทนนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 66 ด้วยนอกจากนี้ตามคำร้องก็ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการที่บุคคลภายนอกยื่นคำร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความในคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1)-(3)ที่ศาลจะพึงรับพิจารณาได้ จึงยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามคำร้อง ของ ผู้ร้อง ผู้ร้องบรรยายมูลเหตุ อุปสรรคข้อบกพร่องในการที่บริษัทจำเลยจะต่อสู้คดีกับโจทก์ และขอศาลให้แก้ไขโดยอนุญาตให้ผู้ร้องเป็นผู้แทนเฉพาะคดีเพื่อจำเลยจะได้ต่อสู้คดีกับโจทก์ได้แม้คำร้อง ของ ผู้ร้องจะใช้คำว่า ผู้แทนเฉพาะคดีต่างจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 73 ที่ใช้คำว่าผู้แทนชั่วคราวก็ตาม แต่ก็ฟังเห็นได้ว่าผู้ร้องประสงค์จะให้ศาลตั้งผู้ร้องให้มีอำนาจเข้าไปแก้ไขอุปสรรค์บกพร่องของจำเลยในการที่จะยื่นคำให้การต่อสู้คดีกับโจทก์ เพียงแต่ผู้ร้องใช้ถ้อยคำในคำร้องผิดจากถ้อยคำในกฎหมายเท่านั้นชอบที่ศาลจะปรับบทกฎหมายให้เข้ากับข้อเท็จจริงตามคำร้องได้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่ากรณีตามคำร้องไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 73 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น
พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องของผู้ร้องฉบับลงวันที่ 30 มกราคม 2538 ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาคำร้อง ของ ผู้ร้องและมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี

Share