คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6612/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้กู้ยืมอันเป็นหนี้ประธานก่อนก็ตาม แต่โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องด้วยว่า หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ และบังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองได้จนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้ครบถ้วน แสดงว่าโจทก์ประสงค์จะบังคับคดีเอาจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์จำนอง จึงเป็นการฟ้องบังคับจำนองด้วย เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าสัญญาจำนองไม่มีข้อตกลงกันว่า หากโจทก์ผู้รับจำนองเอาทรัพย์ที่จำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้แก่ผู้รับจำนองได้เงินสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระให้ยึดทรัพย์สินอื่นของผู้จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาใช้หนี้แก่ผู้รับจำนองโดยครบถ้วนอันเป็นการตกลงยกเว้น ป.พ.พ. มาตรา 733 ไว้ ดังนั้น เมื่อโจทก์ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ หากได้เงินมาไม่พอชำระหนี้ โจทก์ไม่อาจขอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วนได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 7/2559)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระหนี้จำนวน 94,477,083.33 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 65,000,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 16955, 8626 และ 25687 ตำบลแม่เจดีย์ใหม่ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย พร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดเอาเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์และบังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองได้จนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้ครบถ้วน
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 94,477,083.33 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 65,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 24 ธันวาคม 2551) จนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระ ให้ยึดที่ดินตามโฉนดเลขที่ 16955, 8626 และ 25687 ตำบลแม่เจดีย์ใหม่ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย พร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า หากยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แล้ว จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดในหนี้ที่ขาด นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นที่ยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2548 จำเลยที่ 1 ได้กู้ยืมเงินจำนวน 55,000,000 บาท จากโจทก์ ต่อมาวันที่ 25 กันยายน 2549 จำเลยที่ 1 ได้กู้ยืมเงินจำนวน 10,000,000 บาท จากโจทก์ โดยจำเลยทั้งสองได้จดทะเบียนจำนองที่ดินตามฟ้องไว้แก่โจทก์เพื่อเป็นหลักประกันหนี้เงินกู้ยืมทั้งสองจำนวนดังกล่าว ตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดิน โดยโจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงให้ถือว่าหนังสือสัญญาจำนองที่ดินดังกล่าวเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินด้วย หลังทำสัญญาแล้วจำเลยทั้งสองไม่เคยชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า ในการกู้ยืมเงินและจำนองตามฟ้อง จำเลยทั้งสองตกลงให้ดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี หรือไม่ ในปัญหาข้อนี้จำเลยทั้งสองฎีกาว่า แม้ตามหนังสือสัญญาจำนองในข้อ 1 จะระบุว่า “ให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี” ก็ตาม แต่โจทก์ตกลงกับจำเลยทั้งสอง ว่าให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เท่านั้น หากจำเลยทั้งสองต้องจ่ายดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี คิดดอกเบี้ยที่จำเลยทั้งสองต้องจ่ายให้โจทก์สูงมากถึง 29,477,083.33 บาท ซึ่งเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมขอให้ศาลฎีกาพิจารณาลดดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 7.5 ต่อปี ศาลฎีกาได้พิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์ในข้อนี้คือหนังสือสัญญาจำนองที่ดิน ซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินด้วยแล้ว เห็นว่า เมื่อหนังสือสัญญาจำนองที่ดินดังกล่าวได้ระบุไว้ข้อ 1 โดยชัดแจ้งแล้วว่า จำเลยที่ 1 ยอมเสียดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ที่จำเลยทั้งสองให้การแก้คดีในข้อนี้โดยอ้างว่า โจทก์ตกลงคิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองเพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จึงไม่อาจรับฟังได้ เพราะเป็นข้ออ้างที่ต้องห้ามมิให้จำเลยทั้งสองนำสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างดังกล่าวเพื่อหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ในข้อนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 (ข) คดีจึงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองตกลงให้ดอกเบี้ยแก่โจทก์อัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามที่ระบุไว้ในหนังสือสัญญาจำนองที่ดิน ส่วนที่จำเลยทั้งสองขอให้ศาลฎีกาลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวลงเหลือร้อยละ 7.5 ต่อปี นั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องฟ้องให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามอัตราที่คู่สัญญาตกลงกันไว้ในหนังสือสัญญาจำนองที่ดินดังกล่าว ศาลฎีกาจะใช้ดุลพินิจลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวให้น้อยลงตามที่จำเลยทั้งสองขอมาในฎีกาหาได้ไม่ เพราะไม่ใช่อัตราดอกเบี้ยที่ถือว่าเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 หรือเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ “เกินกว่า” อัตราดอกเบี้ยที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 บัญญัติไว้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เป็นข้อสุดท้ายว่า ในกรณีที่ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ หากได้เงินมาไม่พอชำระหนี้ โจทก์จะขอยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วนได้หรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้กู้ยืมเงิน โดยจำเลยทั้งสองทำสัญญาจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่โจทก์ และให้ถือหนังสือสัญญาจำนองเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินด้วย ตามหนังสือสัญญาจำนอง แม้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้กู้ยืมอันเป็นหนี้ประธานก่อนก็ตาม แต่โจทก์มีคำขอมาในคำขอท้ายฟ้องด้วยว่า หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระ ให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ และบังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองได้จนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้ครบถ้วน แสดงว่าโจทก์ประสงค์จะบังคับคดีเอาจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์จำนอง จึงเป็นการฟ้องบังคับจำนองด้วย เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงในคดีว่าหนังสือสัญญาจำนองไม่มีข้อความว่า หากบังคับชำระหนี้เอาทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดได้เงินไม่พอชำระหนี้ ให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้หรือลูกหนี้จะต้องรับผิดในส่วนที่ขาด กรณีดังกล่าวนี้จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 733 คือ ต้องห้ามมิให้ลูกหนี้ต้องรับผิดในส่วนที่ขาดจำนวน ดังนั้นเมื่อโจทก์ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ หากได้เงินมาไม่พอชำระหนี้ โจทก์ไม่อาจขอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วนได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยทั้งสองมิได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นไว้ในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 5 และศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 (เดิม) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์และจำเลยทั้งสองล้วนฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง โจทก์ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 23 มิถุนายน 2554 ขอแก้ไขคำฟ้องฎีกาคัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาอย่างคดีมีทุนทรัพย์และศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องฎีกาได้นั้น เห็นว่า ยังไม่ถูกต้องเพราะโจทก์ยื่นคำร้องดังกล่าวเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลายื่นฎีกาที่ศาลชั้นต้นขยายให้โจทก์แล้ว จึงเห็นสมควรให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวเสียและมีคำสั่งใหม่เป็นว่าให้ยกคำร้องฉบับดังกล่าวของโจทก์ แต่อย่างไรก็ตาม ศาลฎีกาได้พิจารณาคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวแล้ว เห็นว่า ฎีกาของโจทก์ที่คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่วินิจฉัยว่า หากยึดทรัพย์จำนอง (ของจำเลยทั้งสอง) ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ (ตามคำพิพากษา) แล้ว จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดในหนี้ที่ขาด เป็นฎีกาปัญหาข้อกฎหมายในชั้นบังคับคดี อันเป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ โจทก์ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกา 200 บาท ตามตาราง 1 ค่าธรรมเนียมศาล (ค่าขึ้นศาล) ข้อ 2 (ก) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง หาใช่คดีมีทุนทรัพย์และโจทก์ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาตามจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไม่ เห็นสมควรให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่โจทก์เสียเกินมาตามคำสั่งศาลชั้นต้นเป็นเงิน 244,477 บาท แก่โจทก์
พิพากษายืน และให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาที่โจทก์เสียเกินมา 244,477 บาท ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกนั้นให้เป็นพับ

Share