แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
พระภิกษุ พ. มีถิ่นที่อยู่ 2 แห่ง คือที่วัด ห. และวัดผู้คัดค้าน ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 38 ให้ถือเอาแห่งใดแห่งหนึ่งเป็นภูมิลำเนาของบุคคลนั้น จึงต้องถือว่าวัด ห. เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุ พ. อีกแห่งหนึ่งด้วย เมื่อพระภิกษุ พ. มีทรัพย์มรดกและมีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดก ผู้ร้องในฐานะเป็นพนักงานอัยการย่อมมีสิทธิร้องขอต่อศาลชั้นต้น ซึ่งเป็นศาลที่เจ้ามรดกมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลในขณะถึงแก่ความตายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 จัตวา วรรคหนึ่ง ให้แต่งตั้งผู้จัดการมรดกได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งนายพ่วงให้เป็นผู้จัดการมรดกของพระภิกษุเพิ่ม ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องขอนี้
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้องขอ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนายพ่วง คงจันทร์ เป็นผู้จัดการทรัพย์สิน (ที่ถูก เป็น ผู้จัดการมรดก) ของพระภิกษุเพิ่ม คุณวโร ซึ่งถึงแก่มรณภาพ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 ให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกอุทธรณ์ของผู้คัดค้าน
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ไม่รับวินิจฉัยว่า นายพ่วง คงจันทร์ไม่ได้เป็นไวยาวัจกรของวัดหัวป่าโดยชอบด้วยกฎหมาย พระภิกษุเพิ่มมิใช่เจ้าอาวาสของวัดหัวป่า และวัดหัวป่าไม่มีสิทธิได้รับมรดกของพระภิกษุเพิ่ม เนื่องจากวัดหัวป่าไม่ใช่ภูมิลำเนาของพระภิกษุเพิ่มนั้น เห็นว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกรายนี้โดยได้รับคำร้องจากนายพ่วง ไวยาวัจกรของวัดหัวป่า การโต้แย้งของผู้คัดค้านจึงเป็นกรณีที่ผู้คัดค้านโต้แย้งอำนาจยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ร้องอันเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ไม่รับวินิจฉัยเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไปโดยไม่ย้อนสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (1) ประกอบมาตรา 247 ข้อเท็จจริงจากการนำสืบของผู้ร้องและผู้คัดค้านได้ความว่า พระภิกษุเพิ่มอุปสมบทที่วัดหัวป่าเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2499 ตามหนังสือสุทธิประจำตัวพระภิกษุ ต่อมาวันที่ 1 มิถุนายน 2514 พระภิกษุเพิ่มได้ย้ายไปอยู่ที่วัดผู้คัดค้านเพราะประสงค์จะศึกษาต่อ โดยพระภิกษุเพิ่มเดินทางไปมาระหว่างวัดทั้งสองแห่งจนกระทั่งวันที่ 1 เมษายน 2540 เจ้าคณะจังหวัดสงขลาได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้พระภิกษุเพิ่มเป็นเจ้าอาวาสวัดหัวป่า ตามตราตั้งเจ้าอาวาส พระภิกษุเพิ่มเจ็บป่วยด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหลายแห่งตลอดมา จนกระทั่งมรณภาพเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2543 ที่โรงพยาบาลกรุงเทพ – หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ตามใบมรณบัตร มีทรัพย์มรดกเป็นเงินฝากที่ธนาคารออมสิน สาขาระโนด จังหวัดสงขลา จำนวน 200,233.72 บาท และเงินฝากที่ธนาคารออมสิน สาขาพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 939,986.09 บาท ดังนี้ เห็นได้ว่าพระภิกษุเพิ่มมีถิ่นที่อยู่ 2 แห่ง คือที่วัดหัวป่าและวัดผู้คัดค้าน ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 38 ให้ถือเอาแห่งใดแห่งหนึ่งเป็นภูมิลำเนาของบุคคลนั้นจึงต้องถือว่าวัดหัวป่าเป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุเพิ่มแห่งหนึ่งด้วย เมื่อปรากฏว่าพระภิกษุเพิ่มมีทรัพย์มรดกและมีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดก ผู้ร้องในฐานะเป็นพนักงานอัยการย่อมมีสิทธิร้องขอต่อศาลชั้นต้น ซึ่งเป็นศาลที่เจ้ามรดกมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลในขณะถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4 จัตวา วรรคหนึ่ง ให้แต่งตั้งผู้จัดการมรดกได้ตามมาตรา 1713 และที่ผู้ร้องขอให้แต่งตั้งนายพ่วง คงจันทร์ เป็นผู้จัดการมรดกของพระภิกษุเพิ่มนั้น เห็นว่า นายพ่วง เป็นไวยาวัจกรของวัดหัวป่า และไม่มีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นผู้จัดการมรดกตามมาตรา 1718 นายพ่วงจึงเป็นผู้สมควรที่จะจัดการมรดกรายนี้ ฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยให้ยกคำคัดค้าน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9