คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 645/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คดีอาญาที่ผู้คัดค้านทั้งสองกับพวกถูกฟ้อง ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องสำหรับผู้คัดค้านทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ ที่บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี หรือมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องผู้ต้องหาหรือจำเลยรายใดให้การยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้น รวมทั้งทรัพย์สินของผู้อื่นที่ได้ยึดหรืออายัดไว้เนื่องจากเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดของผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้นสิ้นสุดลง…” การยึดทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสองที่ผู้ร้องอ้างว่าเนื่องจากเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดของผู้คัดค้านทั้งสองย่อมสิ้นสุดลง ศาลย่อมไม่มีอำนาจสั่งริบทรัพย์สินนั้นได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากพนักงานอัยการยื่นฟ้องผู้คัดค้านทั้งสองกับพวกอีก 2 คน ในความผิดฐานร่วมกันมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1940/2542 ของศาลชั้นต้น ระหว่างพิจารณาคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินได้ใช้อำนาจตามกฎหมายตรวจสอบทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสอง รวม 29 รายการ คือ (1) ธนบัตรไทย จำนวน 5,971,710 บาท (2) ธนบัตรประเทศสหรัฐอเมริกา จำนวน 8,700 ดอลลาร์สหรัฐ (3) ธนบัตรฮ่องกง จำนวน 179,000 บาท ดอลลาร์ฮ่องกง (4) ธนบัตรประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 4,700 หยวน (5) ธนบัตรประเทศออสเตรเลีย จำนวน 200 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (6) โทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อโมโตโรล่า รุ่นไมโครแท็ค หมายเลขเครื่องซีเอที 42514/38 ไม่มีแบตเตอรี่ (7) โทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อโนเกียหมายเลขเครื่อง ปท.6409351/39 พร้อมแบตเตอรี่ จำนวน 1 ก้อน (8) โทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อโนเกียหมายเลขเครื่อง ปท.6406255/38 พร้อมแบตเตอรี่ จำนวน 1 ก้อน (9) โทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อโนเกีย รุ่นจีเอสเอ็ม หมายเลขเครื่อง ปท.490520/30/2284850/0 พร้อมแบตเตอรี่ จำนวน 1 ก้อน (10) สร้อยคอทอง ลายห่วงสลับปล้องฉลุลาย จำนวน 1 เส้น น้ำหนักประมาณ 45 กรัม (11) สร้อยคอทอง ลายเกลียวบิดห้อยระย้า จำนวน 1 เส้น น้ำหนักประมาณ 30 กรัม (12) สร้อยคอทองลายเกลียวบิด จำนวน 1 เส้น น้ำหนักประมาณ 15 กรัม (13) สร้อยข้อมือทอง ลายห่วงสลับปล้องพร้อมลูกตุ้มหัวใจฉลุลาย จำนวน 1 เส้น น้ำหนักประมาณ 30 กรัม (14) รูปหล่อหลวงพ่อคูณล้อมพลอยขาวพร้อมกรอบทองจำนวน 1 องค์ น้ำหนักประมาณ 12 กรัม (15) พระผงสมเด็จพุฒาจารย์โตพร้อมกรอบทอง จำนวน 1 องค์ น้ำหนักประมาณ 17 กรัม (16) พระผงเนื้อสีน้ำตาลพร้อมกรอบทอง จำนวน 1 องค์ น้ำหนักประมาณ 15 กรัม (17) พระผงปางสมาธิสีน้ำตาลเข้มพร้อมกรอบทอง จำนวน 1 องค์ น้ำหนักประมาณ 5 กรัม (18) พระผงปางสมาธิเนื้อสีน้ำตาลแดงพร้อมกรอบทอง จำนวน 1 องค์ น้ำหนักประมาณ 5 กรัม (19) จี้ทองทรงกระบอกฉลุลาย จำนวน 1 อัน น้ำหนักประมาณ 6 กรัม (20) แหวนทองประดับเพชร 9 เม็ด จำนวน 1 วง น้ำหนักประมาณ 10 กรัม (21) แหวนทองประดับพลอยแดงล้อมพลอยขาว จำนวน 1 วง น้ำหนักประมาณ 5 กรัม (22) แหวนทองสัญลักษณ์กรมตำรวจประดับเพชร จำนวน 1 วง น้ำหนักประมาณ 17 กรัม (23) แหวนทองรูปผีเสื้อประดับเพชร จำนวน 1 วง น้ำหนักประมาณ 4 กรัม (24) แหวนทองประดับพลอยสีฟ้า ประดับเพชร 2 เม็ด จำนวน 1 วง น้ำหนักประมาณ 6 กรัม (25) แหวนทองรูปหัวใจ 5 ดวง ประดับเพชร 5 เม็ด จำนวน 1 วง น้ำหนักประมาณ 1 กรัม (26) แหวนทองสลับเงินประดับเพชร 1 เม็ด จำนวน 1 วง น้ำหนักประมาณ 3 กรัม (27) นาฬิกาข้อมือ ยี่ห้อโรเล็กซ์ เรือนสีทองสลับเงิน จำนวน 1 เรือน (28) นาฬิกาข้อมือ ยี่ห้อโรเล็กซ์ ตัวเรือนประดับเพชร (สายหนัง) จำนวน 1 เรือน (29) นาฬิกาข้อมือ ยี่ห้อโรเล็กซ์ เรือนสีทอง จำนวน 1 เรือน ผู้คัดค้านทั้งสองไม่สามารถแสดงหลักฐานได้ว่าทรัพย์สินที่ถูกตรวจสอบดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือได้รับโอนทรัพย์สินนั้นมาโดยสุจริต และมีค่าตอบแทน หรือเป็นทรัพย์สินที่ได้มาตามสมควรในทางศีลธรรมอันดี หรือในทางกุศลสาธารณะ คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินมีคำสั่งให้ยึดทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสอง จำนวน 29 รายการ ตามคำสั่งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินที่ 167/2542 ผู้ร้องขอให้ริบทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสอง จำนวน 29 รายการ และให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 27, 29, 31
ศาลชั้นต้นได้ประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์ตามกฎหมายให้บุคคลซึ่งอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินดังกล่าวยื่นคำร้องคัดค้านคำร้องขอให้ริบทรัพย์สินเข้ามาในคดี
ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำคัดค้านว่า ทรัพย์สินจำนวน 29 รายการ เป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสองซึ่งได้มาโดยสุจริต ไม่ได้เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิด ไม่ได้ใช้ในการกระทำความผิดหรือไม่ได้ใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิด หรือไม่ได้มีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดในการค้ายาเสพติด
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ริบทรัพย์สินทั้ง 29 รายการ ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามมาตรา 29, 31 แห่งพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534
ผู้คัดค้านทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้คัดค้านทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2541 เวลา 8.30 นาฬิกา เจ้าพนักงานตำรวจกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดร่วมกันจับกุมผู้คัดค้านทั้งสองกับพวกอีก 2 คน กล่าวหาว่าร่วมกันมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและยึดทรัพย์สินจำนวน 29 รายการ ต่อมาผู้ร้องเป็นโจทก์ฟ้องผู้คัดค้านทั้งสองกับพวกเป็นจำเลยข้อหาร่วมกันมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต ภายหลังจับกุมผู้คัดค้านทั้งสองกับพวก คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินมีคำสั่งให้ยึดทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสอง รวม 29 รายการ โดยอ้างว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องคดีนี้เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งริบทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสอง รวม 29 รายการดังกล่าว ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 29, 31 ที่ผู้คัดค้านทั้งสองฎีกาขอให้ยกคำร้องของผู้ร้องนั้น เห็นว่า คดีอาญาที่ผู้คัดค้านทั้งสองกับพวกถูกฟ้อง ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องสำหรับผู้คัดค้านทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติ มาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 ที่บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีหรือมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องผู้ต้องหาหรือจำเลยรายใดให้การยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้น รวมทั้งทรัพย์สินของผู้อื่นที่ได้ยึดหรืออายัดไว้เนื่องจากเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดของผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้นสิ้นสุดลง…” เมื่อศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องสำหรับผู้คัดค้านทั้งสอง การยึดทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสองที่ผู้ร้องอ้างว่าเนื่องจากเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดของผู้คัดค้านทั้งสองย่อมสิ้นสุดลง ศาลย่อมไม่มีอำนาจสั่งริบทรัพย์สินนั้นได้ จึงไม่จำต้องพิจารณาในประเด็นที่ว่า ทรัพย์สินนั้นเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือไม่รวมทั้งผู้คัดค้านทั้งสองได้ทรัพย์สินนั้นมาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนหรือได้มาตามสมควรในทางศีลธรรมอันดีหรือในทางกุศลสาธารณะหรือไม่ ตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวอีกต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้ริบทรัพย์สินรวม 29 รายการ ของผู้คัดค้านทั้งสองนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสองฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง และให้คืนทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสองตามคำร้องรวม 29 รายการ แก่ผู้คัดค้านทั้งสอง

Share