แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157, 162 (1) (4) ที่โจทก์ฟ้องและศาลลงโทษจำเลยที่ 10 เป็นความผิดอาญาต่อแผ่นดิน อันมิใช่ความผิดต่อส่วนตัวที่ห้ามพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเว้นแต่จะมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคสอง เมื่อมีความผิดอาญาเกิดขึ้น หรืออ้าง หรือเชื่อว่าได้เกิดขึ้น และก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนหรือหน่วยงานของรัฐ ย่อมเป็นหน้าที่โดยตรงของเจ้าพนักงานตำรวจที่จะต้องสืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิดให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพื่อเอาความผิดแก่ผู้กระทำความผิดอาญาทั้งปวงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 18, 19 ประกอบมาตรา 121 วรรคหนึ่ง ไม่ว่าจะมีผู้เสียหายร้องทุกข์หรือมีผู้กล่าวโทษผู้กระทำความผิดหรือไม่ ดังนั้น แม่ทัพภาค 2 จะมีอำนาจในการมอบอำนาจให้บุคคลใดไปทำการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนหรือไม่ จึงไม่จำต้องวินิจฉัย เมื่อมีการสอบสวนในความผิดที่ได้ฟ้องซึ่งเป็นคดีอาญาต่อแผ่นดินแล้ว โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานอัยการย่อมมีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นสั่งให้พิจารณาพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ และเรียกจำเลยทั้งสองสำนวนว่า จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๑ ตามลำดับ
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสิบเอ็ดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๑๕๗, ๑๖๒ (๑) (๔), ๒๖๕, ๒๖๘ และนับโทษจำเลยทั้งสิบเอ็ดทั้งสองสำนวนต่อกัน
จำเลยทั้งสิบเอ็ดให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ ๗ ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ ๗ ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ที่ ๙ และที่ ๑๐ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗, ๑๖๒ (๑) (๔) ประกอบมาตรา ๘๓ เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา ๑๕๗ ประกอบมาตรา ๘๓ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ วางโทษจำคุกคนละ ๒ ปี รวม ๒ กรรม (ที่ถูก รวม ๒ กระทง) เป็นจำคุกคนละ ๔ ปี จำเลยที่ ๕ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗, ๑๖๒ (๑) (๔), ๒๖๘ วรรคแรก (ที่ถูกประกอบ มาตรา ๒๖๕) เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ความผิดฐานเจ้าพนักงานปฎิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา ๑๕๗ เป็นกรรมเดียวกับฐานเจ้าพนักงานทำเอกสารเท็จ ตามมาตรา ๑๖๒ (๑) (๔) ให้ลงโทษตาม มาตรา ๑๕๗ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ วางโทษจำคุกจำเลยที่ ๕ รวม ๒ กรรม จำคุกกรรมละ ๒ ปี (ที่ถูก รวม ๒ กระทง จำคุกกระทงละ ๒ ปี) และฐานใช้เอกสารราชการปลอม ตามมาตรา ๒๖๘ วรรคแรก (ที่ถูก ประกอบมาตรา ๒๖๕) รวม ๒ กรรม จำคุกกรรมละ ๒ ปี (ที่ถูก รวม ๒ กระทง จำคุกกระทงละ ๒ ปี) รวมจำคุกจำเลยที่ ๕ มีกำหนด ๘ ปี ทางนำสืบของ
จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ที่ ๕ ที่ ๙ และที่ ๑๐ ในชั้นพิจารณาเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุกจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ที่ ๙ และที่ ๑๐ คนละ ๒ ปี ๘ เดือน จำคุกจำเลยที่ ๕ มีกำหนด ๕ ปี ๔ เดือน ให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๒ ที่ ๔ ที่ ๖ ที่ ๘ และที่ ๑๑ และยกฟ้องข้อหาอื่นสำหรับจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ที่ ๕ ที่ ๙ และที่ ๑๐
จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ที่ ๕ ที่ ๙ และที่ ๑๐ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ที่ ๙ และที่ ๑๐ กระทงละ ๑ ปี รวม ๒ กระทง จำคุกคนละ ๒ ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุกคนละ ๑ ปี ๔ เดือน ส่วนจำเลยที่ ๕ ให้จำคุกกระทงละ๑ ปี รวม ๔ กระทง จำคุก ๔ ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๒ ปี ๘ เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๑๐ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ ๑๐ ในปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องในความผิดตามที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ ๑๐ มาหรือไม่ จำเลยที่ ๑๐ ฎีกาว่า ในคดีอาญาที่เป็นความผิดต่อแผ่นดินอันมิใช่ความผิดต่อส่วนตัว การเริ่มคดีก็ต้องมีผู้กล่าวหาว่ามีการกระทำความผิดนั้น ผู้กล่าวหาอาจเป็นผู้เสียหายโดยตรงหรือเจ้าพนักงานตำรวจ หรือเจ้าพนักงานฝ่ายปกครอง จะโดยการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒ (๗) หรือ (๘) ก็ได้ พนักงานสอบสวนจึงจะทำการสอบสวนต่อไปได้ คดีนี้มีแต่แม่ทัพภาคที่ ๒ มอบอำนาจให้บุคคลเข้าดำเนินการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษว่ามีการกระทำความผิดขึ้น
ซึ่งกระทรวงกลาโหมเพียงมอบอำนาจให้แม่ทัพภาคที่ ๒ มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจคัดเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ ไม่ได้มอบให้มีอำนาจร้องทุกข์ แม่ทัพภาคที่ ๒ จึงไม่มีอำนาจมอบอำนาจให้บุคคลใดร้องทุกข์ การร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจสอบสวน และโจทก์ไม่มีอำนาจดำเนินคดี เห็นว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗, ๑๖๒ (๑) (๔) ที่โจทก์ฟ้องและศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยที่ ๑๐ เป็นความผิดอาญาต่อแผ่นดิน อันมิใช่ความผิดต่อส่วนตัวที่ห้ามพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเว้นแต่จะมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๒๑ วรรคสอง เมื่อมีความผิดอาญาเกิดขึ้น หรืออ้าง หรือเชื่อว่าได้เกิดขึ้น และก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนหรือหน่วยงานของรัฐ ย่อมเป็นหน้าที่โดยตรงของเจ้าพนักงานตำรวจที่จะต้องสืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิดให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพื่อเอาความผิดแก่ผู้กระทำความผิดอาญาทั้งปวง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๘, ๑๙ ประกอบมาตรา ๑๒๑ วรรคหนึ่ง ไม่ว่าจะมีผู้เสียหายร้องทุกข์หรือมีผู้กล่าวโทษผู้กระทำผิดหรือไม่ ดังนั้น แม่ทัพภาคที่ ๒ จะมีอำนาจในการมอบอำนาจให้บุคคลใดไปทำการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนหรือไม่ จึงไม่จำต้องวินิจฉัย เมื่อมีการสอบสวนในความผิดที่ได้ฟ้องซึ่งเป็นคดีอาญาต่อแผ่นดินแล้ว โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานอัยการย่อมมีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๒๐ ฎีกาของจำเลยที่ ๑๐ ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน