คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6604/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การกระทำอันเป็นองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่ง ของความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ก็คือการหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และการกระทำดังกล่าวผู้กระทำจะต้องมีเจตนามาตั้งแต่ต้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคหนึ่ง ได้ความว่าโจทก์ร่วมซื้อที่ดินเนื้อที่ 500 ไร่ แล้วพาจำเลยไปดูที่ดินดังกล่าวเพื่อปรึกษาว่าจะพัฒนาที่ดินอย่างไร หลังจากนั้นจำเลยมาเสนอให้โจทก์ร่วมปลูกมันสำปะหลังหรือทำการเกษตรแบบผสมซึ่งโจทก์ร่วมเห็นชอบด้วยจำเลยบอกว่าต้องเสียค่าใช้จ่ายในการปรับ พื้นที่ โจทก์ร่วมตกลงให้จำเลยดำเนินการโดยจ่ายเงินให้จำเลยเป็นค่าใช้จ่ายหลังจากที่ได้จ่ายเงินครั้งที่สามแล้วโจทก์ร่วมไปดูที่ดินพบว่ามีการปรับพื้นที่ไปประมาณ 5 ถึง 6 ไร่ซึ่งโจทก์ร่วมตรวจดูมิได้คัดค้านแต่ประการใด ตรงกันข้ามกลับจ่ายค่าพัฒนาที่ดินให้จำเลยอีกถึง 85,000 บาท แสดงว่าโจทก์ร่วมพอใจในการพัฒนาที่ดินของจำเลย แม้ต่อมาจำเลยจะไม่ได้ดำเนินการพัฒนาที่ดินต่อไปจนเสร็จสิ้นซึ่งจะต้องด้วยเหตุผลประการใดก็ตามกรณีจึงยังฟังไม่ได้โดยแน่ชัดว่าจำเลยมีเจตนาหลอกลวงโจทก์ร่วมมาตั้งแต่ต้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341และให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 315,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานายบุญเลี้ยง อดุลยฤทธิกุล ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ร่วมอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ร่วมฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้ รับฟังเป็นยุติว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง จำเลยตกลงพัฒนาที่ดินที่ตำบลศรีมงคล อำเภอไทรโยคจังหวัดกาญจนบุรี เนื้อที่ 500 ไร่ ให้แก่โจทก์ร่วม โดยจำเลยได้รับเงินค่าใช้จ่ายไปจากโจทก์ร่วมแล้วจำนวน 315,000 บาทตามหลักฐานการรับจ่ายเงินเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 1 แต่จำเลยพัฒนาที่ดินไม่สำเร็จ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมว่าจำเลยได้กระทำผิดฐานฉ้อโกงหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าการกระทำอันเป็นองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งของความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ก็คือ “หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง” และการกระทำดังกล่าวผู้กระทำจะต้องมีเจตนามาตั้งแต่ต้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคหนึ่งข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ร่วมว่า เมื่อปี 2533โจทก์ร่วมซื้อที่ดินที่ตำบลศรีมงคล อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรีเนื้อที่ 500 ไร่ ต่อมาประมาณกลางปี 2534 โจทก์ร่วมพาจำเลยไปดูที่ดินดังกล่าวเพื่อปรึกษาว่าจะพัฒนาที่ดินอย่างไร หลังจากนั้นประมาณ 3 ถึง 4 สัปดาห์ จำเลยมาพบโจทก์ร่วมที่ห้องอาหารดาราคาเฟ่ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่เสนอให้โจทก์ร่วมปลูกมันสำปะหลังหรือทำการเกษตรแบบผสมในที่ดินโจทก์ร่วมเห็นชอบด้วย จำเลยบอกว่าต้องเสียค่าใช้จ่ายในการปรับพื้นที่โดยรถแทรกเตอร์ประมาณ250,000 บาท ค่าแรงประมาณ 300,000 ถึง 400,000 บาทโจทก์ร่วมตกลงให้จำเลยและน้องของจำเลยดำเนินการตามที่จำเลยเสนอโดยจ่ายเงินให้จำเลยเป็นค่าใช้จ่ายครั้งแรก 10,000 บาทครั้งที่สอง 120,000 บาท ครั้งที่สาม 100,000 บาท การจ่ายเงินแต่ละครั้งห่างกันประมาณ 1 สัปดาห์ หลังจากจ่ายเงินครั้งที่สามแล้วโจทก์ร่วมไปดูที่ดินพบว่ามีการปรับพื้นที่ไปประมาณ 5 ถึง 6 ไร่โจทก์ร่วมจึงจ่ายเงินให้แก่จำเลยอีก 55,000 บาท ครั้งสุดท้ายโจทก์ร่วมจ่ายเงินให้แก่จำเลย 30,000 บาท รวมเงินที่จ่ายให้แก่จำเลยทั้งสิ้น 315,000 บาท ตามคำเบิกความของโจทก์ร่วมดังกล่าวจะเห็นได้ว่าหลังจากจำเลยตกลงพัฒนาที่ดินให้แก่โจทก์ร่วมและรับเงินจากโจทก์ร่วมไปแล้ว 3 ครั้ง จำเลยได้ดำเนินการพัฒนาที่ดินบางส่วน ซึ่งโจทก์ร่วมตรวจดูแล้วมิได้คัดค้านแต่ประการใด ตรงกันข้ามกลับจ่ายเงินค่าพัฒนาที่ดินให้แก่จำเลยอีกถึง 85,000 บาท แสดงว่าโจทก์ร่วมพอใจในการพัฒนาที่ดินของจำเลย แม้จำเลยจะดำเนินการไปเพียงบางส่วนก็ตาม อันเป็นการสอดคล้องกับข้อนำสืบของจำเลยว่าหลังจากจำเลยตกลงรับพัฒนาที่ดินให้แก่โจทก์ร่วมแล้ว จำเลยได้ตระเตรียมการหลายด้านมีการร่างรายละเอียดแผนโครงการตามเอกสารหมาย ล.1 ติดต่อกับบุคคลที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ที่จะพัฒนาเพื่อให้อำนาจความสะดวกเช่นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นต้นว่าจ้างให้มีการกรุยทางเข้าไปสู่ที่ดิน และนำรถแทรกเตอร์พร้อมคนงานเข้าไปปรับพื้นที่จนเสร็จไปบางส่วน เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยเข้าไปพัฒนาที่ดินตามข้อตกลงแล้วบางส่วนเช่นนี้ แม้ต่อมาจำเลยจะไม่ได้ดำเนินการพัฒนาที่ดินต่อไปจนเสร็จสิ้นซึ่งจะด้วยเหตุผลประการใดก็ตาม กรณีจึงยังฟังไม่ได้โดยแน่ชัดว่าจำเลยมีเจตนาหลอกลวงโจทก์ร่วมมาตั้งแต่ต้น ศาลฎีกาเห็นว่าตามพฤติการณ์แห่งคดี พยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมมีเหตุสงสัยตามสมควรว่า จำเลยได้กระทำผิดฐานฉ้อโกงหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาให้ยกฟ้องนั้นชอบแล้วฎีกาของโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share