แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานเสพวัตถุออกฤทธิ์และฐานปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ขับขี่รถโดยสารเสพวัตถุออกฤทธิ์เป็นความผิดสองกรรมโดยในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ขับขี่รถโดยเสพวัตถุออกฤทธิ์ศาลชั้นต้นมิได้ปรับบทลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯมาตรา157ทวิวรรคหนึ่งซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดศาลอุทธรณ์ภาค1จึงพิพากษาแก้โดยปรับบทลงโทษฐานปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ขับขี่รถโดยเสพวัตถุออกฤทธิ์ให้ถูกต้องเท่านั้นแสดงว่าศาลอุทธรณ์ภาค1ยังคงลงโทษจำเลยเป็นความผิดสองกรรมดังนั้นที่โจทก์ฎีกาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดสองกรรมนั้นจึงเป็นการฎีกาในข้อกฎหมายที่ไม่ได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค1เป็นฎีกาที่ไม่ชอบและแม้โจทก์จะบรรยายฟ้องมาว่าจำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันแต่ฟ้องโจทก์ระบุวันเวลากระทำความผิดฐานต่างๆเป็นวันเวลาเดียวกันทั้งมิได้บรรยายว่าวัตถุออกฤทธิ์ที่จำเลยเสพก่อนขับรถกับที่จำเลยเสพขณะขับรถนั้นเป็นคนละจำนวนกันดังนั้นการเสพวัตถุออกฤทธิ์กับการปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ขับขี่รถโดยเสพวัตถุออกฤทธิ์เป็นการกระทำหลายอันที่เป็นผลต่อเนื่องกันจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวอันเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทหาใช่เป็นความผิดสองกรรมดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยไม่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นอุทธรณ์หรือฎีกาศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา195วรรคสองประกอบมาตรา225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 5, 6, 62 ตรี, 106 ตรีพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 102(3ตรี),127 ทวิ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ,157 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และขอให้สั่งพัดใช้หรือถอนใบอนุญาตขับขี่ของจำเลย
จำเลย ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 5,6, 62 ตรี, 106 ตรี พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 102(3ตรี), 127 ทวิ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 43 ทวิ, 157 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเสพวัตถุออกฤทธิ์ จำคุก 1 ปี ปรับ 20,000 บาท ฐานปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ขับขี่รถโดยเสพวัตถุออกฤทธิ์ ปรับ 5,000 บาท รวมจำคุก1 ปี ปรับ 25,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน และปรับ12,500 บาท โทษจำคุกรอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 และให้พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยมีกำหนด 6 เดือน
โจทก์ อุทธรณ์ ขอให้ ไม่รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ขับขี่รถโดยเสพวัตถุออกฤทธิ์ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 157 ทวิ วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดต่างกรรมต่างวาระกันโดยบรรยายว่าจำเลยได้เสพเมทแอมเฟตามีน อันเป็นวัตถุออกฤทธิ์เข้าสู่ร่างกายอันเป็นความผิดต่อกฎหมายกรรมหนึ่ง และภายหลังจำเลยเสพวัตถุออกฤทธิ์เข้าสู่ร่างกายแล้ว จำเลยได้ขับรถยนต์ในขณะเสพวัตถุออกฤทธิ์นั้น อันเป็นการต้องห้ามตามกฎหมายอีกกรรมหนึ่งการกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำความผิดต่างกรรมต่างวาระกันมิใช่เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทดังศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยนั้น เห็นว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานเสพวัตถุออกฤทธิ์และฐานปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ขับขี่รถโดยเสพวัตถุออกฤทธิ์เป็นความผิดสองกรรม โดยในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ขับขี่รถโดยเสพวัตถุออกฤทธิ์ ศาลชั้นต้นมิได้ปรับบทลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 157 ทวิ วรรคหนึ่งซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่าไม่ถูกต้อง จึงพิพากษาแก้โดยปรับบทลงโทษฐานปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ขับขี่รถโดยเสพวัตถุออกฤทธิ์ให้ถูกต้องเท่านั้นแสดงว่าศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังคงลงโทษจำเลยเป็นความผิดสองกรรมตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ดังนั้น ที่โจทก์ฎีกาว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดสองกรรมนั้นจึงเป็นการฎีกาในข้อกฎหมายที่ไม่ได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 เป็นฎีกาที่ไม่ชอบ อย่างไรก็ตาม การที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยเป็นความผิดสองกรรมมานั้นศาลฎีกาเห็นว่า แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องมาว่าจำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันแต่ฟ้องโจทก์ระบุวันเวลากระทำความผิดฐานต่าง ๆเป็นวันเวลาเดียวกัน ทั้งมิได้บรรยายว่าวัตถุออกฤทธิ์ที่จำเลยเสพก่อนขับรถกับที่จำเลยเสพขณะขับรถนั้นเป็นคนละจำนวนกัน เมื่อพิจารณาประกอบลักษณะของความผิดฐานต่าง ๆ ตามฟ้องแล้ว เห็นได้ว่าการเสพวัตถุออกฤทธิ์กับการปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ขับขี่รถโดยเสพวัตถุออกฤทธิ์ เป็นการกระทำหลายอันที่เป็นผลต่อเนื่องกันจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวอันเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท หาใช่เป็นความผิดสองกรรมดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยไม่ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นอุทธรณ์หรือฎีกาศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 62 ตรี, 106 ตรีอันเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90เมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้วคงจำคุก 6 เดือน และปรับ 10,000 บาทนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1