คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 434/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ฟ้องเดิมของโจทก์เป็นเรื่องที่ขอให้บังคับจำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์สินที่ยักยอกไป ส่วนจำเลยฟ้องแย้งอ้างว่าโจทก์ขู่บังคับให้จำเลยลาออกโดยมิชอบ ขอให้บังคับโจทก์จ่ายค่าจ้างสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชย ดังนั้น ฟ้องเดิมเป็นคดีอันเกิดแต่มูลละเมิดเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานและฟ้องแย้งเป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิตามสัญญาจ้างแรงงานและตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน แม้ว่าทั้งฟ้องเดิมและฟ้องแย้งจะเป็นคดีแรงงานก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงตลอดจนหลักฐานที่จะนำสืบเป็นคนละเรื่องคนละประเด็นแตกต่างกัน ไม่มีความเกี่ยวข้องเกี่ยวพันกัน ฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่อาจรับไว้พิจารณารวมกับฟ้องเดิมของโจทก์ได้

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์ ได้ยักยอกทรัพย์สินของโจทก์ไปหลายรายการ โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาต่อศาลแขวงพระนครเหนือศาลไต่สวนมูลฟ้องและประทับรับฟ้องแล้ว คดีอยู่ในระหว่างพิจารณาเนื่องจากโจทก์ได้เรียกให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยักยอกไปศาลแขวงพระนครเหนือได้สั่งให้โจทก์แยกฟ้องต่อศาลที่มีอำนาจเพราะศาลดังกล่าวไม่มีอำนาจพิจารณาในทุนทรัพย์ดังกล่าว โจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์สินที่ยักยอกไปรวมดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า ทรัพย์สินของโจทก์ตามฟ้องไม่ได้สูญหายไป โจทก์ขู่บังคับให้จำเลยลาออกโดยมิชอบ โจทก์จึงต้องจ่ายเงินเดือนที่ค้างและค่าชดเชยแก่จำเลย 180 วัน ตามกฎหมายขอให้ยกฟ้องโจทก์และให้โจทก์จ่ายเป็นเงิน 80,000 บาท แก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยลาออกจากงานโดยสมัครใจจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างและค่าชดเชย ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งเกี่ยวกับฟ้องแย้งว่า ฟ้องแย้งของจำเลยไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม เนื่องจากมูลฟ้องคดีนี้เป็นเรื่องกล่าวหาว่ายักยอกทรัพย์เป็นมูลละเมิดหรือยักยอก ส่วนฟ้องแย้งมีมูลเหตุมาจากการเลิกจ้าง อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ประกอบกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 31 มีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งศาลที่ให้รับฟ้องแย้งของจำเลยไว้ จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “อุทธรณ์ข้อ 2.2 ของจำเลยที่ว่า ฟ้องแย้งของจำเลยกล่าวหาว่าโจทก์ประพฤติผิดหน้าที่นายจ้างโดยมิได้จ่ายค่าจ้าง สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยจึงเป็นคดีแรงงานที่มีมูลมาจากฟ้องเดิมฟ้องแย้งจึงชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลแรงงานกลางไม่รับฟ้องแย้งเป็นคำสั่งที่ไม่ถูกต้อง เห็นว่า ตามฟ้องเดิมของโจทก์เป็นเรื่องที่ขอให้บังคับจำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์สินที่ยักยอกไป ส่วนจำเลยฟ้องแย้งอ้างว่าโจทก์ขู่บังคับให้จำเลยลาออกโดยมิชอบขอให้บังคับโจทก์จ่ายค่าจ้าง สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชย ดังนั้น ฟ้องเดิมเป็นคดีอันเกิดแต่มูลละเมิดเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน และฟ้องแย้งเป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิตามสัญญาจ้างแรงงานและตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานแม้ว่าทั้งฟ้องเดิมและฟ้องแย้งจะเป็นคดีแรงงานก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงตลอดจนหลักฐานที่จะนำสืบเป็นคนละเรื่องคนละประเด็นแตกต่างกันไม่มีความเกี่ยวข้องเกี่ยวพันกัน ฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่อาจรับไว้พิจารณารวมกับฟ้องเดิมของโจทก์ได้ ที่ศาลแรงงานกลางไม่รับฟ้องแย้งนั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share