คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 66/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ. ยาสูบฯ มาตรา 43 บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งแสตมป์ยาสูบปลอมหรือใช้แล้วเพื่อขายหรือเพื่อนำออกใช้โดยรู้ว่าเป็นแสตมป์ยาสูบปลอมหรือใช้แล้ว เมื่อปรากฏว่าเครื่องหมายอย่างอื่นที่ใช้แทนแสตมป์ยาสูบตามคำฟ้อง อันถือว่าเป็นแสตมป์ยาสูบตามบทนิยามในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ. ยาสูบฯ นั้น มีผู้อื่นทำปลอมขึ้นและได้ถูกนำมาใช้ปิดอยู่บนซองบรรจุของกลางแต่ละซองแล้ว โดยจำเลยมียาสูบของกลางแต่ละซองไว้เพื่อขาย ซึ่งในการขายยาสูบของกลางแต่ละซองแม้จะมีแสตมป์ยาสูบปลอมปิดอยู่บนซองบรรจุยาสูบด้วยก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาที่จะมีแสตมป์ยาสูบปลอมดวงนั้นๆ ไว้เพื่อขายหรือเพื่อนำออกใช้ตามความหมายในมาตรา 43 แห่ง พ.ร.บ. ยาสูบฯ เพราะบทมาตราดังกล่าว มุ่งประสงค์ที่จะลงโทษผู้กระทำความผิดที่มีแสตมป์ยาสูบปลอมไว้ในครอบครองเพื่อขายหรือเพื่อนำออกใช้เท่านั้น หาได้ประสงค์ที่จะลงโทษผู้ที่มียาสูบซึ่งมีผู้อื่นทำปลอมแสตมป์ยาสูบนั้นแล้วนำมาปิดแสดงอยู่บนซองยาสูบดังกล่าวไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509 มาตรา 4, 5, 5 ทวิ, 5 ตรี, 16, 49, 50, 53 พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 4, 115 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 ริบบุหรี่ซิกาแรตของกลาง จำนวน 260 ซอง เป็นของกรมสรรพสามิต และริบรถจักรยานยนต์คันหมายเลขทะเบียน นกจ 984 กรุงเทพมหานคร ของกลางด้วย
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 โดยให้โจทก์แยกฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีใหม่
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509 มาตรา 19, 24, 49, 53 และพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานมีไว้ในครอบครองเพื่อขายซึ่งยาสูบที่มิได้ปิดอากรแสตมป์ยาสูบเกินกว่าห้าร้อยกรัม ให้ลงโทษปรับ 68,250 บาท ฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งแสตมป์ยาสูบปลอมเพื่อขายหรือเพื่อนำออกใช้โดยรู้ว่าเป็นแสตมป์ยาสูบปลอม ให้ปรับ 102,375 บาท ฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม ให้จำคุก 3 เดือน และปรับ 20,000 บาท รวมโทษทุกกระทงความผิดเป็นจำคุก 3 เดือน และปรับ 190,625 บาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอันเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 เดือน 15 วัน และปรับ 95,312.50 บาท ให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบบุหรี่ซิกาแรตของกลางจำนวน 260 ซอง เป็นของกรมสรรพาสามิต ริบรถจักรยานยนต์ คันหมายเลขทะเบียน นจก 984 กรุงเทพมหานคร ของกลาง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ขอให้ลงโทษปรับสถานเบานั้น เห็นว่า ในการวินิจฉัยปัญหาข้อนี้จำต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่า การกระทำของจำเลยตามคำฟ้องข้อ (ข) เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509 มาตรา 43 ประกอบด้วยมาตรา 53 ตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว มาตรา 43 บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งแสตมป์ยาสูบปลอมหรือใช้แล้วเพื่อขายหรือเพื่อนำออกใช้โดยรู้ว่าเป็นแสตมป์ยาสูบปลอมหรือใช้แล้วปรากฏข้อเท็จจริงตามคำฟ้องของโจทก์ว่า เครื่องหมายอย่างอื่นที่ใช้แทนแสตมป์ยาสูบตามคำฟ้องข้อ (ข) อันถือว่าเป็นแสตมป์ยาสูบตามบทนิยามในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509 นั้น มีผู้อื่นทำปลอมขึ้นและได้ถูกนำมาใช้ปิดอยู่บนซองบรรจุยาสูบของกลางแต่ละซองแล้ว โดยจำเลยมียาสูบของกลางแต่ละซองดังกล่าวไว้เพื่อขาย ซึ่งในการขายยาสูบของกลางแต่ละซองนั้น แม้จะมีแสตมป์ยาสูบปลอมปิดอยู่บนซองบรรจุยาสูบด้วยก็ถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาที่จะมีแสตมป์ยาสูบปลอมดวงนั้นๆ ไว้เพื่อขายหรือเพื่อนำออกใช้ตามความหมายในมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509 เพราะบทมาตราดังกล่าวมุ่งประสงค์ที่จะลงโทษผู้กระทำความผิดที่มีแสตมป์ยาสูบปลอมไว้ในครอบครองเพื่อขายหรือเพื่อนำออกใช้เท่านั้น หาได้ประสงค์ที่จะลงโทษผู้ที่มียาสูบซึ่งมีผู้อื่นทำปลอมแสตมป์ยาสูบนั้นแล้วนำมาปิดแสดงอยู่บนซองยาสูบดังกล่าวไม่ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งแสตมป์ปลอมเพื่อขายหรือเพื่อนำออกใช้ตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509 มาตรา 43 ประกอบด้วยมาตรา 53 มานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ยกขึ้นอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดฐานนี้เสียได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 55 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 215 คงเหลือความผิดตามฟ้องข้อ (ก) และข้อ (ค) เท่านั้นที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่ามีเหตุสมควรลงโทษปรับจำเลยที่ 1 ให้เบาลงหรือไม่ สำหรับความผิดฐานมีไว้เพื่อขายซึ่งยาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบตามฟ้องข้อ (ก) นั้น พระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509 มาตรา 49 ได้บัญญัติโทษของผู้กระทำผิดไว้ว่า ต้องระวางโทษปรับสิบเท่าของค่าแสตมป์ยาสูบที่จะต้องปิด เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำฟ้องว่า ยาสูบของกลางจะต้องปิดแสตมป์ยาสูบตามกฎหมายซองละ 26.25 บาท ยาสูบของกลางมีจำนวน 260 ซอง จึงต้องปิดแสตมป์ยาสูบคิดเป็นเงินทั้งสิ้น 6,825 บาท ดังนั้น สิบเท่าของค่าแสตมป์ยาสูบของกลางจึงเท่ากับ 68,250 บาท ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางลงโทษจำเลยที่ 1 ก่อนลดโทษให้ปรับ 68,250 บาท จึงเป็นการกำหนดโทษปรับตามที่กฎหมายบัญญัติศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่อาจพิจารณาลงโทษปรับจำเลยที่ 1 สำหรับความผิดฐานนี้ให้เบาลงได้อีก ส่วนความผิดฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมตามคำฟ้องข้อ (ค) นั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 มีสินค้ายาสูบของกลางที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายไว้เพื่อจำหน่ายจำนวน 260 ซอง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดโทษจำเลยที่ 1 ก่อนลดโทษให้จำคุก 3 เดือน และปรับ 20,000 บาท นั้นเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่มีเหตุผลที่จะแก้ไขโทษปรับจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานนี้ให้เบาลงอีก
ส่วนที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์เป็นข้อสุดท้ายขอผ่อนชำระค่าปรับเดือนละ 3,000 บาท นั้น เห็นว่า การบังคับชำระค่าปรับเป็นกระบวนการในการบังคับคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง เมื่อจำเลยที่ 1 ยังมิได้มีคำขอให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเพื่อพิจารณาสั่ง จึงยังไม่มีเหตุที่จะอุทธรณ์ในเรื่องนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องในความผิดฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งแสตมป์ยาสูบปลอมเพื่อขายหรือเพื่อนำออกใช้ตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509 มาตรา 43 ประกอบมาตรา 53 เฉพาะโทษปรับคงปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 44,125 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share