คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6594/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 3 ขับรถกระบะพาจำเลยที่ 2 มาตามหาผู้เสียหายในเวลาค่ำคืน แล้วใช้อาวุธปืนยิงบริเวณท้ายซอยห่างจากบ้านของผู้เสียหายและจำเลยที่ 1 ประมาณ 500 เมตร 1 นัด และยังใช้อาวุธปืนยิงบริเวณข้างบ้านจำเลยที่ 1 ซึ่งอยู่ใกล้บ้านผู้เสียหายและบ้านจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 2 จะอ้างว่า ยิงปืนขึ้นฟ้าเพื่อข่มขู่ แต่เป็นการกระทำโดยไม่มีเหตุสมควรอันเป็นการละเมิดต่อกฎหมาย การที่จำเลยที่ 1 กลับไปเอาอาวุธปืนลูกซองยาวของบิดาแล้วไปหลบซ่อนตัวกับผู้เสียหาย จะถือว่าจำเลยที่ 1 สมัครใจทะเลาะวิวาทกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 หาได้ไม่ เพราะบริเวณที่จำเลยที่ 1 และผู้เสียหายหลบซ่อนตัว อยู่บริเวณข้างบ้านจำเลยที่ 1 จึงไม่มีความจำเป็นที่จำเลยที่ 1 จะหลบหนีไปที่ใด และมีสิทธิที่จะกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนหากมีภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายได้ แม้ขณะที่จำเลยที่ 2 ใช้อาวุธปืนยิงในครั้งหลัง จำเลยที่ 2 จะไม่ทราบว่าผู้เสียหายและจำเลยที่ 1 หลบซ่อนบริเวณใด แต่ตามพฤติการณ์ที่ 2 ใช้อาวุธปืนยิงถึงสองครั้งพร้อมทั้งท้าทายให้ผู้เสียหายออกมา ย่อมมีเหตุให้จำเลยที่ 1 เข้าใจได้ว่าหากจำเลยที่ 2 เห็นจำเลยที่ 1 และผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 อาจใช้อาวุธปืนยิงบริเวณที่จำเลยที่ 1 และผู้เสียหายหลบซ่อนก็ได้ จึงถือว่าเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง การที่จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงไปทางจำเลยที่ 2 ทันทีหลังจากที่จำเลยที่ 2 ใช้อาวุธปืนยิงในครั้งหลัง ถือได้ว่าเป็นการป้องกันสิทธิของตนโดยชอบด้วยกฎหมายและพอสมควรแก่เหตุ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 80, 91, 172, 288, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ และริบของกลาง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยานโจทก์ จำเลยที่ 1 ขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพในข้อหามีอาวุธปืนมีทะเบียนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และข้อหาพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ส่วนข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่นให้การต่อสู้อ้างเหตุป้องกัน จำเลยที่ 2 ขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพในข้อหามีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ข้อหาพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และข้อหาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานสอบสวน ซึ่งอาจจะทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ส่วนข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้การปฏิเสธ และจำเลยที่ 3 ขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 81 วรรคหนึ่ง, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172 ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 3 อายุ 19 ปีเศษ รู้ผิดชอบชั่วดีจึงไม่ลดมาตราส่วนโทษ การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุก 2 ปี ฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำคุกคนละ 6 เดือน และปรับคนละ 6,000 บาท ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำคุกคนละ 6 เดือน และปรับคนละ 4,000 บาท ฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานสอบสวน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 จำคุกคนละ 1 ปี และปรับคนละ 4,000 บาท สำหรับความผิดฐานมีอาวุธปืนและพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ฐานละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต คงลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำคุกคนละ 3 เดือน และปรับคนละ 3,000 บาท ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร คงลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำคุกคนละ 3 เดือน และปรับคนละ 2,000 บาท รวมลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุก 2 ปี 6 เดือน และปรับ 5,000 บาท สำหรับความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานสอบสวน ซึ่งอาจะทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 จำคุกคนละ 6 เดือน และปรับคนละ 2,000 บาท รวมลงโทษจำเลยที่ 2 จำคุก 12 เดือน และปรับ 7,000 บาท พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีประกอบจำเลยทั้งสามไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จำเลยที่ 2 เคยรับราชการทหาร จำเลยที่ 3 ยังคงรับราชการเป็นทหาร ถือว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีคุณงามความดีต่อประเทศชาติอยู่บ้าง เห็นควรให้โอกาสจำเลยทั้งสามกลับตนเป็นพลเมืองดีสักครั้ง โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้สำหรับจำเลยที่ 1 มีกำหนด 3 ปี จำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี และจำเลยที่ 3 มีกำหนด 1 ปี และให้คุมความประพฤติของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีกำหนดคนละ 1 ปี โดยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ตามเงื่อนไขและกำหนดเวลาที่พนักงานคุมประพฤติกำหนด และให้ทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์คนละ 24 ชั่วโมง ตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 และพนักงานคุมประพฤติเห็นควร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 สำหรับจำเลยที่ 2 ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก ริบลูกกระสุนปืนและหมอนรองกระสุนปืนลูกซองของกลาง
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 5 ปี เมื่อรวมกับโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ข้อหามีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองและข้อหาพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เป็นจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 5 ปี 6 เดือน ไม่ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 ไม่รอการลงโทษ และไม่คุมความประพฤติจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษา ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 มีว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 มีเจตนาฆ่าจำเลยที่ 2 ตามฟ้องและเป็นการป้องกันโดยชอบหรือไม่ จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีเจตนาฆ่า จำเลยที่ 2 และการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการป้องกันตัวที่จำเลยที่ 2 ใช้อาวุธปืนยิง เห็นว่า ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ สืบเนื่องมาจากที่ผู้เสียหายไปขอหมายเลขโทรศัพท์จากนางสาววริญา คนรักของจำเลยที่ 3 เป็นเหตุให้จำเลยที่ 3 ไม่พอใจ ผู้เสียหายพูดคุยโทรศัพท์กับจำเลยที่ 3 มีข้อความว่า “กูนั่งรอกินเบียร์อยู่บริเวณหน้าบ้าน ถ้าแน่จริงให้มึงมา” คำพูดดังกล่าวมีความหมายเพียงว่า หากจำเลยที่ 3 มีความกล้าจริงให้มาพบกับผู้เสียหายไม่มีคำพูดท้าทายให้มาทำร้ายร่างกายหรือต่อสู้กันอันจะถือได้ว่าผู้เสียหายสมัครใจวิวาทกับจำเลยที่ 3 การสมัครใจต่อสู้หรือวิวาทต้องกระทำด้วยกำลังกายหรือมีการท้าทายให้มีการต่อสู้ด้วยกำลังกาย ทั้งเหตุการณ์ที่จำเลยที่ 3 และที่ 2 ขับรถยนต์พร้อมอาวุธปืนมาตามหาผู้เสียหายภายหลังที่ผู้เสียหายพูดทางโทรศัพท์กับจำเลยที่ 3 เป็นเวลาผ่านพ้นไปแล้วประมาณครึ่งชั่วโมง ถือว่าเหตุการณ์การพูดจาทางโทรศัพท์ระหว่างผู้เสียหายและจำเลยที่ 3 ขาดตอนไปแล้ว ถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายยังคงสมัครใจเข้าทำร้ายร่างกายหรือสมัครใจวิวาทกับฝ่ายจำเลยที่ 3 ตามที่ศาลล่างวินิจฉัย ดังนั้น ที่จำเลยที่ 3 ขับรถกระบะพาจำเลยที่ 2 มาตามหาผู้เสียหายในเวลาค่ำคืนแล้วใช้อาวุธปืนยิงบริเวณท้ายซอยห่างจากบ้านผู้เสียหายและจำเลยที่ 1 ประมาณ 500 เมตร 1 นัด และยังใช้อาวุธปืนยิงบริเวณข้างบ้านจำเลยที่ 1 ซึ่งอยู่ใกล้บ้านผู้เสียหายและบ้านจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 2 จะอ้างว่า ยิงปืนขึ้นฟ้าเพื่อข่มขู่ แต่เป็นการการกระทำโดยไม่มีเหตุสมควรอันเป็นการละเมิดต่อกฎหมาย ส่วนที่จำเลยที่ 1 กลับไปเอาอาวุธปืนลูกซองยาวของบิดาแล้วไปหลบซ่อนตัวกับผู้เสียหายบริเวณป่ามันสำปะหลังบริเวณข้างบ้านจำเลยที่ 1 จะถือว่าจำเลยที่ 1 สมัครใจทะเลาะวิวาทกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 หาได้ไม่ เพราะบริเวณที่จำเลยที่ 1 และผู้เสียหายหลบซ่อนตัวอยู่นั้น อยู่บริเวณข้างบ้านจำเลยที่ 1 จึงไม่มีความจำเป็นที่จำเลยที่ 1 จะหลบหนีไปที่ใด และมีสิทธิที่จะกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนหากมีภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายได้ แม้ขณะที่จำเลยที่ 2 ใช้อาวุธปืนในครั้งหลัง จำเลยที่ 2 จะไม่ทราบว่าผู้เสียหายและจำเลยที่ 1 หลบซ่อนบริเวณใด แต่ตามพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 ใช้อาวุธปืนยิงถึงสองครั้งพร้อมทั้งท้าทายให้ผู้เสียหายออกมา ย่อมมีเหตุให้จำเลยที่ 1 เข้าใจได้ว่าหากจำเลยที่ 2 เห็นจำเลยที่ 1 และผู้เสียหายหลบซ่อนอยู่ด้วยกันแล้ว จำเลยที่ 2 อาจใช้อาวุธปืนยิงเข้าไปยังบริเวณที่จำเลยที่ 1 และผู้เสียหายหลบซ่อนก็ได้ จึงถือว่าเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง การที่จำเลยที่1 ใช้อาวุธปืนของกลางยิงไปทางจำเลยที่ 2 ทันทีหลังจากที่จำเลยที่ 2 ใช้อาวุธปืนยิงในครั้งหลัง ถือได้ว่าเป็นการป้องกันสิทธิของตนโดยชอบด้วยกฎหมายและพอสมควรแก่เหตุ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิด ไม่ว่าจำเลยที่ 1 จะมีเจตนาฆ่าจำเลยที่ 2 หรือไม่ก็ตาม จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 หรือ 81 ที่ศาลล่างวินิจฉัยมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
อนึ่ง สำหรับข้อหามีอาวุธปืนมีทะเบียนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และข้อหาพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกและปรับ โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี และคุมความประพฤติของจำเลยที่ 1 ไว้ โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษเฉพาะข้อหาพยายามฆ่า โดยโจทก์และจำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์ในข้อหาทั้งสองดังกล่าวแต่อย่างใด จึงต้องถือว่าโจทก์พอใจคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่จะลงโทษจำเลยในข้อหาดังกล่าวแล้ว ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้โทษจำเลยที่ 1 ในข้อหามีอาวุธปืนมีทะเบียนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และข้อหาพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นการไม่รอการลงโทษ ไม่ลงโทษปรับและไม่คุมความประพฤติ จึงเป็นการไม่ชอบ เพราะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 1 อันเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่พิพากษาไม่รอการลงโทษจำคุก ไม่ลงโทษปรับ และไม่คุมความประพฤติของจำเลยที่ 1 ในความผิดข้อหามีอาวุธปืนมีทะเบียนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และข้อหาพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับใบอนุญาต โดยให้บังคับโทษความผิดทั้งสองข้อหาดังกล่าวตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานพยายามฆ่าจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share