คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6590/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรี มุ่งหมายที่จะลงโทษผู้กระทำผิดให้หนักขึ้นเฉพาะผู้ที่มีหรือใช้อาวุธปืนในการปล้นทรัพย์เท่านั้น มิใช่ว่าผู้ที่ร่วมกระทำการปล้นทรัพย์รายเดียวกันจะต้องระวางโทษหนักขึ้นทุกคน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีและใช้อาวุธปืนในการปล้นทรัพย์เท่านั้น โดยจำเลยที่ 3 เพียงแต่รู้เห็นร่วมในการปล้นทรัพย์ด้วย จึงถือมิได้ว่าจำเลยที่ 3 มีหรือใช้อาวุธปืนในการปล้นทรัพย์ของผู้เสียหายจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรี
หลังจากที่จำเลยทั้งสามลวงผู้เสียหายขับรถยนต์มาแล้วระหว่างทางได้ใช้อาวุธปืนจี้บังคับผู้เสียหายและร่วมกันใช้กระดาษกาวปิดปากและใช้เชือกผู้ข้อมือและเท้าทั้งสองข้างของผู้เสียหายติดกับต้นไม้กับล้วงเอาเงินของผู้เสียหายไป แสดงว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้เสียหายเพื่อสะดวกแก่การปล้นทรัพย์และพาทรัพย์นั้นไป และให้พ้นจากการจับกุมในขณะที่การปล้นทรัพย์ยังไม่ขาดตอนจากกันอันเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำในองค์ประกอบความผิดฐานปล้นทรัพย์หาใช่ความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังกรรมหนึ่งและทำร้ายร่างกายอีกบทหนึ่งไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 มีอาวุธปืนลูกซองพกขนาด 12 ไม่มีหมายเลขทะเบียนประจำอาวุธปืนของเจ้าพนักงานประทับไว้ จำนวน1 กระบอก และกระสุนปืนลูกซองขนาด 12 จำนวน 1 นัด ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ตามกฎหมาย และพาอาวุธปืนดังกล่าวติดตัวไปตามถนน อันเป็นเมืองหมู่บ้านและทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวไปและไม่ใช่กรณีมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์และไม่ได้รับยกเว้นตามกฎหมายและจำเลยที่ 1 ซึ่งมีอาวุธปืนดังกล่าวติดตัวไปพร้อมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันปล้นทรัพย์เอารถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน ท – 3408 เชียงใหม่ ราคา 300,000 บาท ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของนายสุชาติ แซ่ซือ ขณะอยู่ในความครอบครองของนายไพฑูรย์ ษมาจิตมีชัย ผู้เสียหาย และเงินสดจำนวน 220 บาท ของผู้เสียหายไปโดยทุจริต โดยจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้อาวุธปืนจี้ขู่บังคับผู้เสียหายว่าในทันใดนั้นจะใช้อาวุธปืนยิงประทุษร้ายผู้เสียหายให้ได้รับอันตรายแก่ชีวิตและร่างกาย แล้วจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชกต่อยที่ตาข้างขวาของผู้เสียหาย 1 ครั้ง และจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้อาวุธปืนตบที่ศีรษะด้านหลังของผู้เสียหาย 1 ครั้ง อันเป็นการกระทำโดยแสดงความทารุณจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจและจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้กระดาษกาวสีน้ำตาลปิดปากและใช้เชือกผูกข้อมือและเท้าทั้งสองข้างของผู้เสียหายติดกับต้นไม้ในป่าที่เกิดเหตุ อันเป็นการหน่วงเหนี่ยวกักขังทำให้ผู้เสียหายปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ทั้งนี้เพื่อความสะดวกแก่การปล้นทรัพย์ พาทรัพย์นั้นไป ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้ โดยจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้รถยนต์กระบะ หมายเลขทะเบียน น – 5666 อุตรดิตถ์ และรถจักรยานยนต์ยี่ห้อฮอนด้าสีแดงไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน เป็นยานพาหนะเพื่อกระทำผิด เพื่อพาทรัพย์นั้นหลบหนีไป และเพื่อให้พ้นจากการจับกุม เหตุเกิดที่ตำบลแม่คะตวนอำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งสามได้พร้อมด้วยรถยนต์หมายเลขทะเบียน ท – 3408 เชียงใหม่ เงินสดจำนวน120 บาท อันเป็นเงินส่วนหนึ่งในจำนวน 220 บาท ที่จำเลยทั้งสามร่วมกันปล้นเอาไป อาวุธปืนลูกซองพกขนาด 12 จำนวน 1 กระบอก กระสุนปืนลูกซองขนาด 12 จำนวน 1 นัด ซองปืนหนังสีดำ 1 ซอง กระดาษกาวสีน้ำตาล 1 ม้วน เชือก 4 เส้น เศษกระดาษกาวสีน้ำตาล 1 ชิ้น อันเป็นทรัพย์ที่จำเลยทั้งสามร่วมกันมีไว้เป็นความผิดและใช้ในการกระทำผิดเป็นของกลางก่อนคดีนี้จำเลยที่ 2 เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก 18 ปี ฐานปล้นทรัพย์ตามคดีหมายเลขแดงที่ 184/2529 ของศาลชั้นต้น ซึ่งมิใช่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษและจำเลยที่ 2 ได้กระทำความผิดในคดีก่อนขณะที่มีอายุเกินกว่า 17 ปีแล้ว จำเลยที่ 2 กลับมากระทำความผิดในคดีนี้ซ้ำในอนุมาตราเดียวกันภายในเวลา 3 ปี นับแต่วันพ้นโทษ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340, 340 ตรี, 310, 295, 93, 91, 83, 32 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ คืนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียนท – 3408 เชียงใหม่ พร้อมเงินสด 120 บาท ของกลางแก่ผู้เสียหายริบอาวุธปืนลูกซองพกขนาด 12 จำนวน 1 กระบอก กระสุนปืนลูกซองขนาด 12 จำนวน 1 นัด กระดาษกาวสีน้ำตาล 1 ม้วน เชือก 4 เส้นและเศษกระดาษกาวสีน้ำตาล 1 ชิ้น ของกลาง กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้เงินจำนวน 100 บาท แก่ผู้เสียหาย และเพิ่มโทษจำเลยที่ 2ตามกฎหมายด้วย

จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 2 รับว่าเคยต้องโทษและพ้นโทษมาแล้วจริงตามฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง, 340 ตรี, 295, 310 (ที่ถูก310 วรรคแรก) , 32, 83 ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 แต่การกระทำความผิด ตามมาตรา 340 วรรคสอง, 340 ตรีและ 295 เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานปล้นทรัพย์โดยใช้อาวุธปืนตามมาตรา 340 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 340 ตรีซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 22 ปี 6 เดือน ฐานหน่วงเหนี่ยวกักขัง จำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 6 เดือน รวมจำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 23 ปี และจำเลยที่ 1ยังมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ(ที่ถูกมาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง) ลงโทษฐานมีอาวุธปืนจำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืน จำคุก 6 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 1มีกำหนด 24 ปี 6 เดือน จำเลยที่ 2 กลับมากระทำความผิดซ้ำในอนุมาตราเดียวกันภายใน 3 ปี นับแต่วันพ้นโทษ ให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 2 กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 93 รวมจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 34 ปี 6 เดือน จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 16 ปี 4 เดือน คืนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ท – 3408 เชียงใหม่ และเงินจำนวน 120 บาท ของกลางแก่เจ้าของ ริบอาวุธปืนลูกซองพกขนาด 12 จำนวน 1 กระบอก กระสุนปืนลูกซองขนาด 12 จำนวน 1 นัด กระดาษกาวสีน้ำตาล 1 ม้วน เชือก 4 เส้น และเศษกระดาษกาวสีน้ำตาล 1 ชิ้นของกลาง กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือชดใช้เงินจำนวน 100 บาทแก่ผู้เสียหาย

จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง ลงโทษจำคุก 15 ปี รวมกับโทษฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังอีก 6 เดือน เป็นจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 15 ปี6 เดือน คำให้การของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาพิพากษาคดีอยู่บ้าง ลดโทษให้จำเลยที่ 2 และที่ 3ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละหนึ่งในสาม คงให้จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 15 ปี 4 เดือน จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 10 ปี 4 เดือนคำขอให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 2 ให้ยก นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงว่าจำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรี ด้วยหรือไม่ เห็นว่าสำหรับเรื่องใช้ยานพาหนะในการปล้นทรัพย์นั้น ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ใช้รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน น – 5666อุตรดิตถ์ ในการหลบหนีโดยเป็นการกระทำหลังจากที่ความผิดฐานปล้นทรัพย์ขาดตอนไปแล้ว จึงไม่เป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะโจทก์มิได้อุทธรณ์ในปัญหานี้ ปัญหาดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์จะฎีกาต่อมาไม่ได้ เพราะเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 5 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ส่วนเรื่องใช้อาวุธปืนในการปล้นทรัพย์นั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าจำเลยที่ 3มิได้มีหรือใช้อาวุธปืน ในการปล้นทรัพย์ของผู้เสียหายแต่อย่างใด ซึ่งตามเจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรี มุ่งหมายที่จะลงโทษให้หนักขึ้นเฉพาะผู้ที่มีหรือใช้อาวุธปืนในการปล้นทรัพย์เท่านั้นมิใช่ว่าผู้ที่ร่วมกระทำการปล้นทรัพย์รายเดียวกันจะต้องระวางโทษหนักขึ้นทุกคน เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีและใช้อาวุธปืนในการปล้นทรัพย์ส่วนจำเลยที่ 3 เพียงแต่รู้เห็นร่วมในการปล้นทรัพย์ด้วย ดังนี้ กรณีจึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรี ด้วยเหตุดังได้วินิจฉัยมาจำเลยที่ 3 ไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรี ด้วยศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

อย่างไรก็ดี โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้กระดาษกาวปิดปากและใช้เชือกผูกข้อมือและเท้าทั้งสองข้างของผู้เสียหายติดกับต้นไม้อันเป็นการหน่วงเหนี่ยวกักขังทำให้ผู้เสียหายปราศจากเสรีภาพในร่างกายทั้งนี้เพื่อความสะดวกแก่การปล้นทรัพย์พาทรัพย์นั้นไป ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้นยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้ และคดีได้ความว่าหลังจากที่จำเลยทั้งสามลวงผู้เสียหายขับรถยนต์มาแล้ว ระหว่างทางจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนจี้บังคับให้ผู้เสียหายหยุดรถและเปลี่ยนไปนั่งตอนกลางเบาะ จากนั้นจำเลยที่ 1ได้ขับรถต่อมาไม่ห่างจากจุดแรกเท่าใดนักแล้วเลี้ยวเข้าไปทั้งทาง จำเลยทั้งสามได้นำผู้เสียหายลงจากรถยนต์ จำเลยที่ 2 ใช้เชือกมัดผู้เสียหายไขว้หลัง ใช้กระดาษกาวปิดปากและคุมตัวเข้าไปในป่า จำเลยที่ 3 ใช้เชือกมัดมือเท้าผู้เสียหายติดกับต้นไม้จำเลยที่ 2 ใช้เชือกมัดลำตัวติดกับต้นไม้กับล้วงเอาเงินของผู้เสียหายไป 220 บาท จากนั้นพากันขับรถยนต์ของผู้เสียหายหลบหนีไป แสดงว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้เสียหายเพื่อสะดวกแก่การปล้นทรัพย์และพาทรัพย์นั้นไปและให้พ้นจากการจับกุมในขณะที่การปล้นทรัพย์ยังไม่ขาดตอนจากกัน อันเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำในองค์ประกอบความผิดฐานปล้นทรัพย์นั้นเอง จึงหาใช่เป็นความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้เสียหายอีกกรรมหนึ่งต่างหากดังที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษมาไม่รวมทั้งการที่จำเลยทั้งสามร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายในระหว่างทำการปล้นทรัพย์ก็หาใช่เป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายอีกบทหนึ่งดังที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทมาด้วยไม่เช่นกัน ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 340 ตรี, 83 และจำเลยที่ 3มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 83 จำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 คนละ 22 ปี 6 เดือน จำคุกจำเลยที่ 3มีกำหนด 15 ปี และจำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ความผิดฐานมีอาวุธปืนจำคุก 1 ปี ความผิดฐานพาอาวุธปืนจำคุก 6 เดือน ไม่เพิ่มโทษจำเลยที่ 2 ลดโทษให้จำเลยทั้งสามคนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานปล้นทรัพย์ 15 ปี ในความผิดฐานมีอาวุธปืน 8 เดือน และในความผิดฐานพาอาวุธปืน 4 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 15 ปี 12 เดือนจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 15 ปี และจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 10 ปีคืนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ท – 3408 เชียงใหม่ และเงิน 120 บาทของกลางแก่เจ้าของ ริบอาวุธปืน กระสุนปืน กระดาษกาว เชือก และเศษกระดาษกาวของกลาง กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้เงิน100 บาท แก่ผู้เสียหาย คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

Share