คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4526/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าองค์เทพเจ้ากิมอ้วงเอี๊ยะ องค์เทพเจ้าเตียงง่วยส่วย องค์เทพซำไซส่วยพร้อมอุปกรณ์เป็นวัตถุในทางศาสนาพุทธหรือศาสนาใด เพราะเหตุใด และมีความเกี่ยวข้องกับทางศาสนาพุทธหรือศาสนาใด เพราะเหตุใด อย่างไร จึงรับฟังไม่ได้ว่าองค์เทพเจ้าทั้งสามองค์พร้อมอุปกรณ์เป็นวัตถุในทางศาสนา แม้จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในความผิดฐานรับของโจรตามฟ้อง แต่ความผิดฐานรับของโจรโดยมีเหตุฉกรรจ์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคสาม กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป ศาลต้องฟังพยานหลักฐานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำผิดจริงจึงจะลงโทษได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่า องค์เทพเจ้าทั้งสามพร้อมอุปกรณ์เป็นวัตถุในทางศาสนาแล้ว ย่อมไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานรับของโจรโดยมีเหตุฉกรรจ์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคสาม ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 335, 335 ทวิ, 336 ทวิ, 357 และนับโทษต่อจากโทษของจำเลยทั้งสองในคดีดังกล่าว
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยทั้งสองในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ แต่ก่อนสืบพยาน จำเลยที่ 1 ขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพฐานรับของโจร
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคสาม จำคุก 10 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 5 ปี นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2035/2551 ของศาลชั้นต้น ข้อหาและคำขออื่นสำหรับจำเลยที่ 1 ให้ยก กับให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยที่ 1 แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคหนึ่ง (ที่ถูก จำคุก 3 ปี) ลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดฐานรับของโจรโดยมีเหตุฉกรรจ์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคสาม ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่า องค์เทพเจ้าทั้งสามองค์พร้อมอุปกรณ์ของกลางที่จำเลยที่ 1 รับของโจรไว้ เป็นวัตถุในทางศาสนาพุทธก็ตาม แต่เมื่อโจทก์นำพยานเข้าสืบ โจทก์มีเพียงนายไพชยนต์ ผู้เสียหาย เป็นพยานเบิกความว่า องค์เทพเจ้าทั้งสามองค์ดังกล่าวเป็นที่เคารพของประชาชนทั่วไป และประชาชนทั่วไปจะมากราบไหว้ขอพรเพื่อให้ได้สิ่งที่ตนประสงค์ แต่โจทก์มิได้นำสืบให้ได้ความโดยชัดแจ้งว่า องค์เทพเจ้าทั้งสามองค์พร้อมอุปกรณ์ของกลางเป็นวัตถุในทางศาสนาพุทธหรือศาสนาใด เพราะเหตุใด และมีความเกี่ยวข้องกับทางศาสนาพุทธหรือศาสนาใด เพราะเหตุใด อย่างไร คดีจึงยังรับฟังไม่ได้ว่า องค์เทพเจ้าทั้งสามองค์พร้อมอุปกรณ์ของกลางดังกล่าวเป็นวัตถุในทางศาสนา แม้จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในความผิดฐานรับของโจรตามฟ้องดังที่โจทก์ฎีกา แต่ความผิดฐานรับของโจรโดยมีเหตุฉกรรจ์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคสาม กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่า จำเลยที่ 1 ได้กระทำผิดจริงจึงจะลงโทษได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง เมื่อข้อเท็จจริงตามทางพิจารณายังรับฟังไม่ได้ว่า องค์เทพเจ้าทั้งสามองค์พร้อมอุปกรณ์ของกลางเป็นวัตถุในทางศาสนาตามที่กล่าวแล้ว ย่อมไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานรับของโจรโดยมีเหตุฉกรรจ์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 357 วรรคสาม ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานรับของโจร ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 357 วรรคหนึ่งนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share