คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 659/2563

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.วิ.อ. มาตรา 134 บัญญัติให้พนักงานสอบสวนต้องแจ้งข้อหาแก่ผู้ต้องหานั้น มีเจตนารมณ์เพียงเพื่อให้ผู้ต้องหาทราบว่าจะถูกสอบสวนในเรื่องใดและทราบว่าการกระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิด โดยไม่จำต้องแจ้งทุกข้อหา ทุกตัวบทกฎหมาย และทุกกระทงความผิดเสมอไป เดิมพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยว่ากระทำความผิดในช่วงเวลาใดไว้ แต่เมื่อสอบสวนแล้วปรากฏว่าจำเลยกระทำความผิดในช่วงเวลาอื่นด้วย ก็สามารถสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำในช่วงเวลาอื่นเพิ่มเติมได้ ถือได้ว่ามีการสอบสวนในความผิดที่จำเลยกระทำในช่วงวันเวลาอื่นโดยชอบแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดที่จำเลยกระทำในช่วงเวลาที่การสอบสวนได้ความเพิ่มเติมได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 277, 279, 283 ทวิ, 317
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา เด็กหญิง ธ. ผู้เสียหายที่ 3 (ผู้ร้องที่ 1) และเด็กหญิง ก. ผู้เสียหายที่ 4 (ผู้ร้องที่ 2) โดยนางสาว ฝ. ผู้เสียหายที่ 1 ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 700,000 บาท และ 300,000 บาท ตามลำดับพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2559 ซึ่งเป็นวันกระทำละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้องทั้งสอง
จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม, 279 วรรคสอง (เดิม), 283 ทวิ วรรคสอง (เดิม), 317 วรรคสาม (เดิม) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี โดยใช้กำลังประทุษร้าย ฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปี และฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปี ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 รวมเจ็ดกระทง จำคุกกระทงละ 8 ปี รวมจำคุก 56 ปี ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร รวมเจ็ดกระทง จำคุกกระทงละ 6 ปี รวมจำคุก 42 ปี แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วให้จำคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) และให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องที่ 1 เป็นเงิน 700,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องที่ 2 เป็นเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังได้เป็นที่ยุติว่า ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 เป็นสามีภริยา มีบุตรด้วยกัน 3 คน คือ เด็กหญิง ธ. ผู้เสียหายที่ 3 ขณะเกิดเหตุอายุ 9 ปีเศษ เด็กหญิง ก. ผู้เสียหายที่ 4 ขณะเกิดเหตุอายุ 5 ปีเศษ และเด็กชาย ร. จำเลยและนางสาว ญ. เป็นสามีภริยา มีบุตรด้วยกัน 3 คน ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายทั้งสี่พักอาศัยอยู่ด้วยกันที่บ้านเลขที่ 126 ซึ่งเป็นบ้านของนาย ผ. และนาง อ. บิดามารดาของผู้เสียหายที่ 2 และนางสาว ญ. นอกจากนี้ยังมีนางสาว ส. ผู้พิการ กับนางสาว ม. อาศัยอยู่ในบ้านหลังดังกล่าวด้วย เดิมจำเลยและนางสาว ญ. ก็พักอาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ 126 แต่ต่อมานาย ผ. ยกบ้านเลขที่ 126/1 และบ่อกุ้งให้จำเลยและนางสาว ญ. จำเลยและนางสาว ญ. จึงย้ายออกไปพักอาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ 126/1 จนปัจจุบัน เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2560 ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 พาผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรกุยบุรีให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีโดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม กระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี และโดยปราศจากเหตุอันสมควร พรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาหรือผู้ปกครองเพื่อการอนาจาร พนักงานสอบสวนส่งตัวผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 ไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาล ป. ชั้นสอบสวนผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 ให้การตามบันทึกคำให้การ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2560 เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยได้ ชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธ ร้อยตำรวจเอก บ. พนักงานสอบสวนไปตรวจที่เกิดเหตุ จัดทำบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุคดีอาญา แผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุ ถ่ายภาพที่เกิดเหตุคดีอาญา และให้ผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 ชี้ภาพถ่ายจำเลย
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า ตามบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยเพียงว่า เมื่อเดือนพฤษภาคม 2559 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2559 ต่อเนื่องกัน จำเลยกระทำความผิดข้อหากระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปี โดยเด็กจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม กระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี และพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาหรือผู้ปกครอง ไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยว่า เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2559 และระหว่างวันที่ 20 ธันวาคม 2559 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 1 มกราคม 2560 จำเลยกระทำความผิดในวันเวลาตามฟ้อง ข้อ 1.1, 1.2, 1.9 และ 1.10 ทำให้จำเลยไม่เข้าใจข้อหาและพฤติการณ์ในการกระทำความผิดที่ถูกกล่าวหาในช่วงเวลาดังกล่าว การสอบสวนไม่ชอบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดตามฟ้อง ข้อ 1.1, 1.2, 1.9 และ 1.10 หรือไม่ เห็นว่า ที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 บัญญัติบังคับให้พนักงานสอบสวนต้องแจ้งข้อหาแก่ผู้ต้องหานั้น มีเจตนารมณ์เพียงเพื่อให้ผู้ต้องหาทราบว่าจะถูกสอบสวนในเรื่องใดและทราบว่าการกระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิด โดยไม่จำต้องแจ้งทุกข้อหา ทุกตัวบทกฎหมาย ทุกมาตรา และทุกกระทงความผิดเสมอไป ดังนั้น แม้เดิมพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยว่ากระทำความผิดในช่วงเวลาใดไว้ แต่เมื่อสอบสวนแล้วปรากฏว่าจำเลยกระทำความผิดในช่วงเวลาอื่นด้วย ก็สามารถทำการสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำในช่วงเวลาอื่นได้ คดีนี้เมื่อข้อเท็จจริงจากการสอบสวนได้ความเพิ่มเติมว่า จำเลยกระทำความผิดในช่วงวันเวลาอื่นที่ใกล้ชิดกับการกระทำความผิดที่ได้แจ้งข้อหาไว้เดิม ย่อมถือได้ว่ามีการสอบสวนในความผิดที่จำเลยกระทำในช่วงวันเวลาอื่นโดยชอบแล้ว ประกอบกับชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธโดยไม่มีรายละเอียดแห่งการปฏิเสธ และเพิ่งมาอ้างว่าจำเลยไม่เข้าใจข้อหาและพฤติการณ์ในการกระทำความผิด ทำให้ไม่สามารถให้การและนำพยานหลักฐานมาต่อสู้คดีได้ถูกต้องหลังจากที่ศาลล่างทั้งสองมีคำพิพากษาแล้ว กรณีไม่น่าเชื่อว่าจำเลยไม่เข้าใจข้อหาและพฤติการณ์ในการกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดที่จำเลยกระทำในช่วงเวลาที่การสอบสวนได้ความเพิ่มเติมได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า การกระทำผิดฐานกระทำชำเราโดยปกติเป็นเรื่องที่รู้เห็นกันเฉพาะผู้กระทำและผู้ถูกกระทำเท่านั้น เป็นการยากที่หาผู้ที่รู้เห็นเหตุการณ์โดยตรง จึงต้องอาศัยคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 ผู้ถูกกระทำเป็นสำคัญ โดยใช้ผลการตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์มาพิจารณาประกอบ ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 3 อายุ 9 ปีเศษ ผู้เสียหายที่ 4 อายุ 5 ปีเศษ ขณะที่มาเบิกความผู้เสียหายที่ 3 อายุ 11 ปีเศษ ผู้เสียหายที่ 4 อายุ 7 ปีเศษ แม้ผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 ไม่ได้ให้การและเบิกความระบุถึงวันเวลาที่เกิดเหตุอย่างชัดเจน แต่ผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 เบิกความถึงช่วงเวลาที่เกิดเหตุว่า ผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 ถูกจำเลยพาไปกระทำชำเราในช่วงวันเวลาใดบ้าง โดยผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 เบิกความถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเริ่มตั้งแต่ถูกจำเลยพาไปกระทำชำเราตั้งแต่ครั้งแรกและครั้งต่อมาเป็นลำดับขั้นตอนสมกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น ผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 ยังเป็นเด็กวัยเยาว์ การถูกกระทำชำเราเป็นเรื่องที่ทำให้ผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 มีมลทินติดตัวตลอดชีวิตและทำให้บุคคลในครอบครัวได้รับความอับอาย ผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 ให้การเช่นนี้มาตั้งแต่ในชั้นสอบสวน ต่อหน้าพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ นักสังคมสงเคราะห์ และผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นมารดา โดยมีการใช้ตุ๊กตาเป็นอุปกรณ์ประกอบการซักถามด้วย ที่ผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 ไม่ได้ระบุรายละเอียดของวันและเวลาที่เกิดเหตุอย่างชัดเจนอาจเป็นเพราะผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 เป็นเด็ก การที่ไปให้การชั้นสอบสวนและมาเบิกความในชั้นพิจารณาหลังจากเกิดเหตุแล้วหลายเดือนอาจทำให้หลงลืมรายละเอียดไปบ้าง และที่ผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 ไม่ได้เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้แก่ผู้ใดฟังหลังเกิดเหตุแต่ละครั้งนั้น ผู้เสียหายที่ 3 ให้การในชั้นสอบสวนว่า เพราะกลัวจำเลยจะไม่พาไปเที่ยว ส่วนผู้เสียหายที่ 4 เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า เพราะกลัวจำเลย นอกจากนี้โจทก์ยังมีพันตำรวจโทหญิง บ. พนักงานสอบสวนเป็นพยานเบิกความว่า พยานเป็นผู้สอบปากคำผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 ร่วมกับพนักงานอัยการ นักสังคมสงเคราะห์ และผู้ปกครองของผู้ร้องทั้งสอง ชั้นสอบสวนผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 ให้การตามบันทึกคำให้การ โดยมีการบันทึกภาพและเสียงไว้ในแผ่นซีดีบันทึกภาพและเสียง พยานเป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติการตามหน้าที่ และขณะที่พยานเข้าเบิกความ ทนายจำเลยไม่ได้ถามค้านให้เห็นว่าการสอบคำให้การผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 ทำโดยไม่ชอบอย่างไร ที่ศาลล่างทั้งสองเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยกระทำความผิดดังที่โจทก์ฟ้องและพิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2562 มาตรา 5 ให้ยกเลิกความในมาตรา 277 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 23) พ.ศ.2558 และให้ใช้ความใหม่แทน แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงให้ใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3
พิพากษายืน

Share