แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยเปิดทางพิพาทในที่ดินของจำเลยอ้างว่าเป็นทางภารจำยอม จำเลยให้การว่ามิใช่ทางภารจำยอมจึงพิพาทกันเฉพาะทางพิพาทว่าเป็นทางภารจำยอมหรือไม่ไม่มีข้อพิพาทเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินด้วย การที่จำเลยนำชี้ในการทำแผนที่พิพาทว่าที่ดินตามกรอบสีแดงเป็นของตนและจำเลยร่วมคัดค้านว่าที่ดินตามกรอบสีเขียวเป็นของจำเลยร่วมก็เป็นกรณีที่จำเลยร่วมถูกโต้แย้งสิทธิในความเป็นเจ้าของที่ดินซึ่งมิได้เป็นข้อพิพาท โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดี จำเลยและจำเลยร่วมต้องไปฟ้องร้องเป็นคดีใหม่เกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามกรอบสีเขียวต่อไป การที่ศาลชั้นต้นหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีและวินิจฉัยเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินตามกรอบสีเขียวระหว่างจำเลยกับจำเลยร่วมนอกเหนือจากเรื่องทางภารจำยอมด้วยจึงเป็นการไม่ชอบ
ย่อยาว
โจทก์ทั้งห้าฟ้องว่า เมื่อประมาณ 50 ปี มานี้ โจทก์ทั้งห้าและชาวบ้านทั่วไปใช้ทางเข้าออกกว้าง 8 เมตร ยาวประมาณ 150 เมตรในที่ดินมือเปล่าเนื้อที่ 11 ไร่เศษ ของนางโกย ปานฮวดไปสู่ทางสาธารณะ ต่อมาเมื่อปี 2472 นางโกยโอนการครอบครองที่ดินดังกล่าวเนื้อที่ 8 ไร่ 3 งาน 26 ตารางวา ให้แก่โจทก์ที่ 2ผู้เป็นบุตร ส่วนที่ดินที่เหลือ 3 ไร่เศษ นางโกยยกให้นางคำพา สีดา นายสิงห์ พรมทา และนายมา พรมทา มีสิทธิครอบครองร่วมกัน ต่อมานายสิงห์ได้ขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินส่วนดังกล่าวเนื้อที่ 2 งาน ตามหนังสือแบบแจ้งการครอบครองที่ดินเลขที่ 45แล้วโอนให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตร ส่วนจำเลยที่ 2 เข้ามาปลูกบ้านอยู่ด้วยในที่ดินของจำเลยที่ 1 ปัจจุบันทางเข้าออกดังกล่าวผ่านที่ดินของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 1 และที่ 2โจทก์กับจำเลยดังกล่าวเคยตกลงกันให้นำทางเข้าออกในส่วนที่ผ่านที่ดินของแต่ละคนไปจดทะเบียนเป็นทางภารจำยอม ต่อมาเดือนเมษายน 2536 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอรังวัดออกโฉนดที่ดินและไม่ยอมเปิดทางภารจำยอมตามที่ตกลงกัน ขอให้บังคับจำเลยที่ 1และที่ 2 จดทะเบียนและเปิดทางภารจำยอมกว้าง 8 เมตร ยาว 32 เมตรตั้งแต่ทิศเหนือของที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดินของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เลขที่ 45 หมู่ที่ 3 ตำบลกกโกอำเภอเมืองลพบุรี ซึ่งติดกับทางสาธารณะวัดคงน้อย-ห้วยนิคมจนถึงที่ดินของโจทก์ที่ 1 เพื่อให้เข้าออกสู่ทางสาธารณะวัดคงน้อย-ห้วยนิคม โดยโจทก์ทั้งห้าเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายหากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยทั้งสองให้การว่า เดิมจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินส.ค.1 เลขที่ 45 เนื้อที่ 2 งาน โดยได้รับมรดกจากนายสิงห์พรมทา บิดายกให้เมื่อปี 2485 ต่อมาปี 2528 จำเลยที่ 1 ได้ขายให้แก่จำเลยที่ 2 แล้วย้ายไปอยู่ที่อื่นนานแล้ว จำเลยที่ 1มิได้มีสิทธิครอบครองที่ดินดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องให้จำเลยที่ 1 เปิดทางภารจำยอม จำเลยทั้งสองไม่เคยตกลงว่าจะจดทะเบียนทางภารจำยอมดังโจทก์ที่ 1 และที่ 2 อ้าง ทางเข้าออกในที่ดินตามฟ้องไม่ใช่ทางภารจำยอม โจทก์ทั้งห้ามีทางอื่นสามารถใช้เข้าออกสู่ทางสาธารณะได้ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นสั่งให้ทำแผนที่พิพาทโดยให้คู่ความนำชี้ จำเลยทั้งสองนำชี้ว่าทางพิพาทอยู่ในเขตที่ดินของจำเลยทั้งสองตามกรอบสีแดง นางเสงี่ยม สีดา คัดค้านว่าทางพิพาทบางส่วนอยู่ในเขตที่ดินของตนตามกรอบสีเขียว ซึ่งเป็นที่ดินด้านทิศเหนือตอนบนติดทางสาธารณะ โดยอ้างว่าจำเลยทั้งสองนำชี้เขตที่ดินรุกล้ำที่ดินของตนบางส่วน โจทก์ทั้งห้ายื่นคำร้องขอให้เรียกนางเสงี่ยม สีดา เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การว่า จำเลยร่วมและนายสี สีดาเป็นผู้ครอบครองที่ดินตามฟ้องบางส่วน (ตามกรอบสีเขียวในแผนที่พิพาท) โดยการรับมรดก เริ่มจากปากทางเข้าออกไปจนถึงที่ดินที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ครอบครองอยู่ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่เคยเกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าว ทางพิพาทตรงที่โจทก์ทั้งห้าฟ้องเป็นทางภารจำยอม ซึ่งโจทก์ทั้งห้าและชาวบ้านข้างเคียงได้ใช้มานานเกินกว่า 10 ปี แล้ว ในปี 2528 จำเลยร่วมและนายสียกที่ดินนั้นแต่เพียงบางส่วนให้แก่ทางราชการเพื่อใช้เป็นที่อ่านหนังสือพิมพ์ประจำหมู่บ้านและทางสาธารณะ ต่อมาปี 2536 จำเลยร่วมคัดค้านการนำรังวัดและทำแผนที่พิพาทของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปจดทะเบียนทางภารจำยอมในที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดินเลขที่ 45หมูที่ 3 ตำบลกโก อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี มีความกว้าง3 เมตร นับจากแนวเสาไฟฟ้าด้านทิศตะวันตกมีความยาวตั้งแต่ทิศเหนือลงมาทางทิศใต้ตลอดแนวที่ดิน โดยให้โจทก์ทั้งห้าเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยดังกล่าว คำขออื่นให้ยก
จำเลยร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ทั้งห้าฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองเปิดทางพิพาทซึ่งอยู่ในที่ดินของจำเลยทั้งสองอ้างว่าเป็นทางภารจำยอมจำเลยทั้งสองให้การว่าทางพิพาทดังกล่าวมิใช่ทางภารจำยอม จึงเป็นกรณีที่โจทก์จำเลยพิพาทกันเฉพาะทางพิพาทว่าเป็นทางภารจำยอมหรือไม่เท่านั้น แม้ฟ้องโจทก์จะอ้างว่าทางพิพาทอยู่ในที่ดินของจำเลยทั้งสอง และจำเลยทั้งสองได้นำชี้อ้างว่าทางพิพาทอยู่ในเขตที่ดินของจำเลยทั้งสอง ก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งห้าและจำเลยมีข้อพิพาทเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินดังกล่าวนอกเหนือจากเรื่องทางภารจำยอมไปด้วยแต่อย่างใดไม่ การที่จำเลยทั้งสองนำชี้เขตที่ดินในการทำแผนที่พิพาทว่าที่ดินตามกรอบสีแดงในแผนที่พิพาทเป็นของตนและจำเลยร่วมคัดค้านว่าที่ดินตามกรอบสีเขียวในแผนที่พิพาทเป็นของจำเลยร่วม ก็เป็นกรณีที่จำเลยร่วมถูกโต้แย้งสิทธิในความเป็นเจ้าของที่ดิน ซึ่งมิได้เป็นข้อพิพาทระหว่างโจทก์ทั้งห้าและจำเลยทั้งสองในคดีนี้ด้วย โจทก์ทั้งห้าจึงหามีสิทธิที่จะขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นคู่ความในคดีนี้ได้ไม่แต่เป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมชอบที่จะต้องนำปัญหาดังกล่าวไปฟ้องร้องเป็นคดีใหม่โดยตั้งประเด็นพิพาทเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินตามกรอบสีเขียวโดยเฉพาะต่อไปการที่ศาลชั้นต้นหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีและศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยในประเด็นที่เกี่ยวกับสิทธิในที่ดินตามกรอบสีเขียวระหว่างจำเลยทั้งสองกับจำเลยร่วมนอกเหนือจากเรื่องทางภารจำยอมมาด้วยนั้น จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องอำนาจฟ้องอันเป็นปัญหาที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบมาตรา 246, 247
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2ในส่วนที่วินิจฉัยเกี่ยวกับสิทธิครอบครองในที่ดินตามกรอบสีเขียวในแผนที่พิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองกับจำเลยร่วม ยกฎีกาจำเลยร่วมแต่ไม่ตัดสิทธิจำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมที่จะไปฟ้องร้องกันใหม่ใสเรื่องเกี่ยวกับสิทธิครอบครองในที่ดินตามกรอบสีเขียวในแผนที่พิพาทต่อไป