แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.1 มีความโดยสรุปว่า จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ ทำหนังสือสัญญาฉบับนี้ให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ เพื่อตกลงหักกลบลบหนี้และแปลงหนี้ตามสัญญาฉบับอื่นโดยจำเลยยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์รวมเป็นเงินทั้งสิ้น2,100,000 บาท ซึ่งเป็นเรื่องหนี้สินที่ค้างชำระกันอยู่ก่อนแล้วจึงตกลงทำหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวขึ้นโดยจำเลยยอมผ่อนชำระหนี้เป็นงวด ๆ ด้วยการออกเช็คพิพาทจำนวน 11 ฉบับ ให้แก่โจทก์ ดังนี้ เมื่อเช็คพิพาททั้งหมดธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินความผิดในทางอาญาของจำเลยจึงเกิดขึ้นนับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คแต่ละฉบับเป็นต้นไป และเมื่อข้อตกลงตามหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวไม่มีผลผูกพันให้สิทธิฟ้องคดีอาญาเช็คพิพาททั้งหมดระงับไปเนื่องจากไม่มีข้อความใดแสดงให้เห็นว่าเจ้าหนี้จะไม่ฟ้องหรือดำเนินคดีอาญากับลูกหนี้ คงเป็นเพียงข้อตกลงที่ลูกหนี้รับว่าเป็นหนี้และจะชดใช้หนี้ให้โจทก์อันเป็นสิทธิทางแพ่งที่โจทก์สามารถเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ได้อีกทางหนึ่งเท่านั้น กรณีจึงไม่ใช่เป็นการยอมความอันมีผลให้สิทธิการดำเนินคดีอาญาเกี่ยวกับเช็คพิพาทของโจทก์ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2)
ย่อยาว
คดีทั้งสามสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน
โจทก์ฟ้องทั้งสามสำนวนขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้องทั้งสามสำนวน
จำเลยให้การรับสารภาพทั้งสามสำนวน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้ลงโทษจำคุกกระทงละ 6 เดือน รวม 9 กระทง คงจำคุก 54 เดือน จำเลยลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 27 เดือน
จำเลยอุทธรณ์ทั้งสามสำนวน
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกกระทงละ 2 เดือน รวมเก้ากระทงจำคุก 18 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุกจำเลยไว้มีกำหนด 9 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกาทั้งสามสำนวน
ศาลฎีกาวินิจฉัยฎีกาของจำเลยเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายที่ว่าหนี้ตามฟ้องเกิดจากการประนีประนอมยอมความกันแล้ว แสดงให้เห็นว่าโจทก์ไม่ประสงค์ที่จะกล่าวโทษจำเลยและไม่สามารถดำเนินคดีอาญาได้หรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายนี้ ศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนและข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ว่า จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.1 มีความโดยสรุปว่า นายชนินทร์ แจ้วจิรา จำเลย เป็นลูกหนี้ทำหนังสือสัญญาฉบับนี้ให้แก่นายวุฒิชัย ปัทมาสน์ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เพื่อตกลงหักกลบลบหนี้และแปลงหนี้ตามสัญญาฉบับลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2537 สัญญาลงวันที่ 7กุมภาพันธ์ 2537 และบันทึกข้อตกลงฉบับลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2537 โดยลูกหนี้ยอมรับว่าเป็นหนี้เจ้าหนี้ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,100,000 บาท ดังนี้ย่อมเห็นได้ว่ามูลเหตุของเรื่องเดิมมีมูลจากสัญญาซึ่งเป็นเรื่องหนี้สินที่ค้างชำระกันอยู่ก่อน แล้วจึงมาตกลงทำหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวขึ้น โดยจำเลยยอมผ่อนชำระหนี้เป็นงวด ๆ ด้วย การออกเช็คของธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) สาขาท่าเรือ จำนวน 11 ฉบับ ให้แก่โจทก์ตามข้อ 2 ของหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าว ต่อมาโจทก์นำเช็คจำนวน 9 ฉบับ ไปเข้าบัญชีของโจทก์ที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาท่าเรือพระแท่น เพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็ค แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลเฉพาะฉบับที่ 3 ว่า “ยังไม่มีการตกลงกับธนาคาร” ส่วนฉบับอื่นทั้งหมดให้เหตุผลว่า “โปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย” เช็คพิพาททั้งหมดธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินทั้งสิ้น ความผิดในทางอาญาของจำเลยจึงเกิดขึ้นนับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คแต่ละฉบับเป็นต้นไป ข้อตกลงตามหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวไม่มีผลผูกพันให้สิทธิฟ้องคดีอาญาเช็คพิพาททั้งหมดระงับไป เนื่องจากไม่มีข้อความใดแสดงให้เห็นว่าเจ้าหนี้จะไม่ฟ้องหรือดำเนินคดีอาญากับลูกหนี้ข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.1 เป็นเพียงข้อตกลงที่ลูกหนี้รับว่าเป็นหนี้และจะชดใช้หนี้ให้โจทก์ อันเป็นสิทธิทางแพ่งที่โจทก์สามารถเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ได้อีกทางหนึ่งไม่ใช่เป็นการยอมความอันมีผลให้สิทธิการดำเนินคดีอาญาเกี่ยวกับเช็คพิพาทของโจทก์ระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2) ดังนั้นจำเลยจะอ้างว่าหนี้ตามฟ้องเกิดจากหนี้ซึ่งประนีประนอมยอมความกันมาแล้ว เป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์กล่าวโทษจำเลยและเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่สามารถดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยได้อยู่แล้วนั้นย่อมฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน