คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1423/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติ ญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2494มาตรา 8(1) กำหนดให้ศาลคดีเด็กและเยาวชนมีอำนาจเช่นเดียวกับศาลจังหวัดในคดีอาญาที่มีข้อหาว่า เด็กหรือเยาวชนกระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดเว้นแต่คดีอาญาที่มีข้อหาว่า เยาวชนซึ่งอายุเกินสิบหกปีบริบูรณ์กระทำความผิดในเหตุฉกรรจ์บางประเภทตามที่ระบุไว้รวมทั้งความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามมาตรา 340 แห่งประมวลกฎหมายอาญา เมื่อจำเลยที่ 5 มีอายุเกินกว่าสิบหกปีบริบูรณ์และกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ แม้จะกระทำความผิดในท้องที่ที่มีศาลคดีเด็กและเยาวชนเปิดดำเนินการแล้วก็ตาม เมื่อเป็นความผิดที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลคดีเด็กและเยาวชน ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ จำเลยที่ 5 ร่วมกับพวกอีก 4 คน พากันขึ้นไปบนรถยนต์โดยสารขณะที่พวกจำเลยทำการปล้นทรัพย์ผู้เสียหายอยู่นั้น จำเลยที่ 5ยืนโหนบันไดรถบังไม่ให้คนอื่นเห็นการปล้นทรัพย์ที่พวกจำเลยกระทำอยู่เป็นการร่วมกระทำความผิดโดยแบ่งหน้าที่กันทำ จำเลยที่ 5จึงเป็นตัวการร่วมในความผิดฐานปล้นทรัพย์ การกำหนดโทษและการไม่ลดมาตราส่วนโทษให้จำเลย สำหรับความผิดที่ร่วมกันเป็นตัวการปล้นทรัพย์ เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนและเป็นเหตุในลักษณะคดี เมื่อศาลฎีกาพิพากษาลดมาตราส่วนโทษและลดโทษให้จำเลยที่ฎีกา ย่อมมีอำนาจพิพากษาเลยไปถึงจำเลยที่มิได้ฎีกาด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งห้าโดยจำเลยที่ 3 มีมีดเป็นอาวุธร่วมกันปล้นทรัพย์ผู้เสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340, 371, 83 คืนของกลางแก่เจ้าของ ริบมีดปลายแหลม และให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งห้ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง, 83 จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 อีกกระทงหนึ่ง จำเลยที่ 5กระทำผิดเมื่ออายุ 17 ปีเศษ มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีแล้วไม่ลดมาตราส่วนโทษให้ วางโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5คนละ 15 ปี จำเลยที่ 3 เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ฐานปล้นทรัพย์ จำคุก 15 ปี ฐานพาอาวุธมีดไปในเมืองโดยไม่มีเหตุสมควรปรับ 90 บาท ทางนำสืบของจำเลยทุกคนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 ลดโทษให้จำเลยคนละหนึ่งในสามแล้วคงจำคุกจำเลยที่ 1ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 คนละ 10 ปี จำเลยที่ 3 จำคุก 10 ปีและปรับ 60 บาท คืนนาฬิกาของกลางให้แก่ผู้เสียหายที่ 2ริบมีดปลายแหลม คำขอนอกจากนี้ให้ยก บังคับค่าปรับจำเลยที่ 3ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยที่ 4 และที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2494 มาตรา 8(1) กำหนดให้ศาลคดีเด็กและเยาวชนมีอำนาจเช่นเดียวกับศาลจังหวัดในคดีอาญาที่มีข้อหาว่า เด็กหรือเยาวชนกระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดเว้นแต่คดีอาญาที่มีข้อหาว่า เยาวชนซึ่งอายุเกินสิบหกปีบริบูรณ์กระทำความผิดในเหตุฉกรรจ์บางประเภทตามที่ระบุไว้รวมทั้งความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามมาตรา 340 แห่งประมวลกฎหมายอาญา เมื่อจำเลยที่ 5มีอายุเกินกว่าสิบหกปีบริบูรณ์และกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์แม้จะกระทำความผิดในท้องที่ที่มีศาลคดีเด็กและเยาวชนเปิดดำเนินการแล้วก็ตาม เมื่อเป็นความผิดที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลคดีเด็กและเยาวชนศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้
จำเลยที่ 5 ร่วมกับพวกอีก 4 คน พากันขึ้นไปบนรถยนต์โดยสารขณะที่พวกจำเลยทำการปล้นทรัพย์ผู้เสียหายอยู่นั้น จำเลยที่ 5ยืนโหนบันไดรถบังไม่ให้คนอื่นเห็นการปล้นทรัพย์ที่พวกจำเลยกระทำอยู่เป็นการร่วมกระทำความผิดโดยแบ่งหน้าที่กันทำ จำเลยที่ 5 จึงเป็นตัวการร่วมในความผิดฐานปล้นทรัพย์
การกำหนดโทษและการไม่ลดมาตราส่วนโทษให้จำเลย สำหรับความผิดที่ร่วมกันเป็นตัวการปล้นทรัพย์ เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน และเป็นเหตุในลักษณะคดี เมื่อศาลฎีกาพิพากษาลดมาตราส่วนโทษและลดโทษให้จำเลยที่ฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาเลยไปถึงจำเลยที่มิได้ฎีกาด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ในความผิดฐานปล้นทรัพย์ลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยทั้งห้าคนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76ให้จำคุกคนละ 8 ปี คำให้การในชั้นสอบสวนและทางนำสืบของจำเลยทั้งห้าเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามมาตรา 78 ลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยทั้งห้าคนละ 5 ปี 4 เดือนนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share