คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 659/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยใช้ของแข็งตีทำร้ายผู้ตายมีบาดแผลฟกช้ำดำเขียวทั่วร่างกายกับมีบาดแผลฉีกขาดที่ศีรษะยาวประมาณ 3 เซนติเมตร ลึกประมาณ1.5 เซนติเมตร มีบาดแผลฉีกขาดที่หัวคิ้วซ้ายยาวประมาณ 3 เซนติเมตรลึกประมาณ 1 เซนติเมตร มีบาดแผลถลอกที่ขากรรไกรและข้อศอกซ้ายกระดูกขากรรไกรหัก กระดูกซี่โครงร้าว 2 ซี่ ฟังได้ว่าจำเลยทำร้ายผู้ตายโดยมีเจตนาฆ่า หลังจากที่ผู้ตายถูกทำร้ายแล้ว ได้มีการนำตัวผู้ตายไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล แพทย์ได้รักษาผู้ตายเบื้องแรกโดยให้น้ำเกลือใส่ท่อช่วยหายใจ ผ่าตัดใส่ท่อระบายลมในโพรงปอดข้างซ้ายเพราะมีลมรั่วออกมาจากทางเดินหายใจ แล้วใส่เครื่องช่วยหายใจให้ผู้ตายด้วย และแพทย์ผู้รักษามีความเห็นว่า หากให้ผู้ตายรักษาตัวที่โรงพยาบาลต่อไปแล้ว โอกาสที่ผู้ตายจะมีชีวิตรอดมีมากกว่าผู้ตายจะถึงแก่ความตาย การที่ญาติผู้ตายกระทำให้การรักษาสิ้นสุดลงโดยการดึงเครื่องช่วยหายใจ และท่อช่วยหายใจออก แล้วพาผู้ตายกลับบ้าน และผู้ตายถึงแก่ความตายในคืนนั้น ย่อมถือได้ว่าเป็นผลโดยตรงที่ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย หาใช่เป็นผลจากการกระทำของจำเลยโดยตรงไม่ เพราะเมื่อผู้ตายอยู่ในความดูแลรักษาของแพทย์แล้ว ผู้ตายย่อมเป็นผู้อยู่ในสภาพที่มีโอกาสมีชีวิตอยู่รอดสูงการกระทำของจำเลยจึงมีความผิดเพียงฐานพยายามฆ่าผู้ตาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 ให้จำคุกจำเลยมีกำหนด 15 ปีโจทก์และจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ให้จำคุกจำเลยตลอดชีวิตจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหามีว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่โจทก์มีนายแพทย์นฤมิตร เกียรติกำจร ผู้ตรวจบาดแผลของผู้ตายเบิกความว่า ผู้ตายมีบาดแผลฟกช้ำดำเขียวทั่วร่างกาย กับมีบาดแผลฉีกขาดที่ศีรษะยาวประมาณ 3 เซนติเมตร ลึกประมาณ 1.5 เซนติเมตรมีบาดแผลฉีกขาดที่หัวคิ้วซ้ายยาวประมาณ 3 เซนติเมตร ลึกประมาณ1 เซนติเมตร มีบาดแผลถลอกที่ขากรรไกรและข้อศอกซ้าย เมื่อทำการฉายเอ็กซเรย์พบว่ากระดูกขากรรไกรหัก กระดูกซี่โครงร้าว 2 ซี่พยานโจทก์ปากนี้เป็นนายแพทย์ผู้รักษาผู้ตายเป็นคนแรก ไม่มีส่วนได้เสียในคดี เบิกความตามความรู้ทางวิชาชีพของตน คำเบิกความของพยานดังกล่าวจึงรับฟังได้ว่าผู้ตายได้รับบาดแผลดังกล่าวแล้วจริง เมื่อผู้ตายได้รับบาดแผลหลายแห่งทั่วร่างกาย โดยมีบาดแผลฉกรรจ์ที่ศีรษะที่คิ้ว และขากรรไกรหักแล้วย่อมเป็นการแสดงให้เห็นโดยชัดแจ้งว่าผู้ตายได้ถูกคนร้ายทำร้าย บาดแผลของผู้ตายมิได้เกิดจากอุบัติเหตุและคนร้ายย่อมมีเจตนาฆ่าผู้ตาย ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยเป็นคนร้ายคดีนี้หรือไม่ นางมนูญศรี แต่งเลี่ยน บุตรสาวผู้ตายซึ่งเป็นภรรยาจำเลยเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า จำเลยเคยเงื้อขวานจะตีผู้ตายและผู้ตายเคยแนะนำให้นางมนูญศรีหย่าขาดจากจำเลย ในเช้าตรู่ของวันเกิดเหตุ พยานได้ไปตลาด ในบ้านจึงมีผู้ตายและจำเลยเพียง 2 คน และระหว่างทางที่พยานส่งผู้ตายไปโรงพยาบาลหลังสวนผู้ตายได้บอกกับพยานว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ใช้ไม้ตีผู้ตายพยานโจทก์ปากนี้เป็นภรรยาจำเลย แม้จะได้ความว่าเคยถูกจำเลยตบตีมาก่อน แต่ในคดีที่จำเลยต้องข้อหาอุกฉกรรจ์เช่นนี้ ย่อมไม่เป็นเหตุที่จะเบิกความปรักปรำจำเลยซึ่งเป็นสามีของตน ร้อยตำรวจเอกสงัด เปาะทองคำ พนักงานสอบสวนพยานโจทก์เบิกความว่าผู้ตายได้ให้การไว้ก่อนตายว่าถูกจำเลยใช้ไม้ตีทำร้ายตามเอกสารหมายจ.5 พยานโจทก์ผู้นี้ปฏิบัติงานตามหน้าที่ คำเบิกความจึงรับฟังได้เช่นเดียวกัน ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามคำเบิกความของนางมนูญศรีและร้อยตำรวจเอกสงัดว่า ผู้ตายได้ระบุชื่อจำเลยเป็นคนร้ายหลังจากที่ผู้ตายถูกทำร้ายและก่อนถึงแก่ความตาย ส่วนจำเลยเบิกความว่าเมื่อได้ยินเสียงโครมครามที่ห้องน้ำชั้นล่างจึงลงมาดู เห็นประตูห้องน้ำเปิดอยู่และพบผู้ตายนอนคว่ำหน้าบนเก้าอี้ซึ่งล้มอยู่ จากคำเบิกความของจำเลยย่อมเห็นได้ว่าไม่มีผู้อื่นอยู่ในบ้านในขณะเกิดเหตุ เพราะหากมีจำเลยย่อมต้องรู้เห็นเป็นแน่ ไม่ปรากฏว่าผู้ตายมีสาเหตุกับผู้ใดมาก่อนนอกจากจำเลย เมื่อในขณะเกิดเหตุในที่เกิดเหตุมีจำเลยกับผู้ตายเพียง 2 คน และจำเลยเคยมีสาเหตุกับผู้ตายมาก่อน แม้การระบุชื่อจำเลยของผู้ตายจะเป็นเพียงพยานบอกเล่า ก็ย่อมฟังประกอบพยานโจทก์อื่นได้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้โดยแน่ชัดว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ใช้ของแข็งตีทำร้ายผู้ตายโดยมีเจตนาฆ่าที่จำเลยนำสืบว่า ผู้ตายเป็นลมล้มและถึงแก่ความตายไม่มีเหตุผลให้รับฟังได้
ปัญหาสุดท้ายมีตามฎีกาของจำเลยว่า การตายของผู้ตายเกิดจากญาติผู้ตายดึงท่อเครื่องช่วยหายใจออกจากผู้ตาย อันเป็นผลโดยตรงที่ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในผลแห่งการนี้เรื่องนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่าหลังจากที่ผู้ตายถูกทำร้ายแล้ว ได้มีการนำตัวผู้ตายไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลหลังสวน แล้วต่อมาได้นำไปรักษาที่โรงพยาบาลชุมพร ที่ผู้ตายกลับบ้านก่อนตายนั้นนางมนูญศรีพยานโจทก์เบิกความว่า เมื่อถึงโรงพยาบาลชุมพรแล้วแพทย์ได้พาผู้ตายไปเอ็กซเรย์แล้วนำตัวไปห้องฉุกเฉิน แพทย์บอกว่าอาการไม่ดีขึ้น พยานจึงพาผู้ตายกลับบ้านและผู้ตายถึงแก่ความตายเช้าวันรุ่งขึ้น ส่วนนายแพทย์พรชัย อัศววินิจกุลชัยแพทย์ประจำโรงพยาบาลชุมพร ผู้รักษาผู้ตายเบิกความเป็นพยานจำเลยว่าได้รักษาผู้ตายเบื้องแรกโดยให้น้ำเกลือ ใส่ท่อช่วยหายใจที่จมูกแล้วผ่าตัดใส่ท่อระบายลมในโพรงปอดข้างซ้ายของผู้ตายเพราะมีลมรั่วออกมาจากทางเดินหายใจ จากนั้นได้นำผู้ตายไปห้องผู้ป่วยรวมโดยได้ใส่เครื่องช่วยหายใจให้ผู้ตายด้วย การรักษาได้ทำรายงานตามเอกสารหมาย ป.ล.4 ต่อมาเวลาประมาณ 22 นาฬิกา เจ้าหน้าที่ได้รายงานว่าญาติผู้ตายจะนำผู้ตายกลับบ้าน พยานจึงได้ไปดูอาการผู้ตายและบอกกับญาติผู้ตายว่าถ้านำไปบ้านโอกาสที่จะถึงแก่ความตายมีมาก พยานได้ออกมาที่โต๊ะพยาบาลที่อยู่นอกห้องเพื่อดูรายงานการรักษาและพูดกับพยาบาลว่า ไม่อยากให้ผู้ตายกลับบ้าน จากนั้นพยานได้เข้าไปดูอาการของผู้ตายอีก ปรากฏว่าเครื่องช่วยหายใจและท่อช่วยหายใจได้มีผู้ดึงออกจากตัวผู้ตายแล้ว โดยขณะนั้นมีญาติผู้ตายอยู่ 5-6 คน ไม่มีใครยอมรับว่าเป็นผู้เอาเครื่องช่วยหายใจและท่อช่วยหายใจออกและโดยสภาพแล้วผู้ตายจะเอาออกเองไม่ได้พยานจึงได้จัดให้เจ้าหน้าที่บันทึกให้ญาติผู้ตายลงชื่อว่าไม่เต็มใจให้พยานรักษาตามเอกสาร ป.ล.2จากนั้นญาติผู้ตายได้พาผู้ตายกลับบ้าน พยานจำเลยปากนี้ยังเบิกความต่อไปอีกว่าหากผู้ตายได้รับการรักษาติดต่อกันแล้วโอกาสที่ผู้ตายจะมีชีวิตรอดอยู่มีมากกว่าที่จะถึงแก่ความตาย สำหรับนายแพทย์พรชัยพยานจำเลยนี้เป็นแพทย์ที่ดูแลรักษาพยาบาลผู้ตายเป็นคนสุดท้ายก่อนผู้ตายจะถึงแก่ความตาย ไม่มีส่วนได้เสียในคดี เบิกความตามความรู้ทางวิชาแพทย์ที่ได้ศึกษาและปฏิบัติงานมา ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามคำเบิกความของพยานจำเลยปากนี้ว่า หากญาติผู้ตายไม่ดึงเครื่องช่วยหายใจและท่อช่วยหายใจออกจากตัวผู้ตาย โดยให้ผู้ตายรักษาตัวที่โรงพยาบาลชุมพรต่อไปแล้ว โอกาสที่ผู้ตายจะมีชีวิตรอดมีมากกว่าผู้ตายจะถึงแก่ความตาย และเมื่อฟังข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของนายแพทย์พรชัยพยานจำเลยแล้ว การที่ญาติผู้ตายได้กระทำให้การรักษาสิ้นสุดลงโดยการดึงเครื่องช่วยหายใจและท่อช่วยหายใจออกอันเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายในเวลาต่อมาเช่นนี้ ย่อมถือได้ว่าเป็นผลโดยตรงที่ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายหาใช่เป็นผลจากการกระทำของจำเลยโดยตรงไม่ เพราะเมื่อผู้ตายอยู่ในความดูแลรักษาของแพทย์แล้ว ผู้ตายย่อมเป็นผู้อยู่ในสภาพที่มีโอกาสมีชีวิตอยู่รอดสูงตามคำเบิกความของนายแพทย์พรชัยแล้วการที่ผู้ตายคิดว่าตนจะต้องตายและญาติได้ดึงเอาเครื่องช่วยหายใจตลอดจนท่อช่วยหายใจออกเพื่อที่จะให้ผู้ตายไปตายที่บ้าน จะสันนิษฐานว่าหากผู้ตายได้รับการรักษาพยาบาลจากแพทย์อย่างต่อเนื่องแล้ว ก็ยังจะต้องตายย่อมเป็นการสันนิษฐานให้เป็นผลร้ายแก่จำเลย ซึ่งไม่อาจกระทำได้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานฆ่าผู้ตายตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แต่มีความผิดเพียงฐานพยายามฆ่าผู้ตายเท่านั้นที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานฆ่าผู้ตาย ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ประกอบด้วยมาตรา 80 ลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด13 ปี 4 เดือน

Share