คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 110/2505

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การบรรยายฟ้องเกี่ยวกับการกระทำนั้น หาต้องใช้ถ้อยคำในกฎหมายไม่ จะบรรยายถ้อยคำอย่างใดพอให้เข้าใจได้ว่า จำเลยได้กระทำการที่กฎหมายบัญญัติว่า เป็นความผิดก็ใช้ได้
โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเมื่อ พ.ศ. 2498 ขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลากระทำผิด ถึงพ.ศ. 2500 ซึ่งประมวลกฎหมายอาญาใช้บังคับแล้วและยกเลิกกฎหมายลักษณะอาญา โจทก์จึงขอแก้ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญาดังนี้ เป็นเรื่องโจกท์เข้าใจผิดคิดว่ากฎหมายเปลี่ยนใหม่ก็ต้องลงตามกฎหมายใหม่ แต่ก็หาทำให้ฟ้องของโจทก์เสียไปไม่ เพราะมีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 บัญญัติว่าในกรณีเช่นนี้ให้ใช้กฎหมายส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ – ๒ – ๓ สมคบกันเข้าไปในบริเวณเรือนโจทก์ จำเลยที่ ๒ ใช้ให้จำเลยที่ ๑ ขึ้นเรือนไปฉุดคร่าโจทก์เพื่อการอนาจาร โจทก์ฟันจำเลยที่ ๑ ๆ จึงปล่อยโจทก์ แล้วจำเลยที่ ๓ – ๔ – ๕ ได้พาจำเลยที่ ๑ หนีไป ต่อมาจำเลยทั้ง ๕ ได้นำความเท็จไปแจ้งต่อพนักงานสอบสวนว่า โจทก์สมคบกับนายชิมทำร้ายร่างกายจำเลย ที่ ๑ เพื่อช่วยเหลือป้องกันนายชิมให้พ้นจากการจับกุมทของจำเลยที่ ๑ ขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๒๗๖, ๖๐, ๖๓, ๓๒๙, ๑๑๘
ศาลชั้นต้นสั่งให้รอการไต่สวนมูลฟ้องเพื่อรอฟังผลคดีอื่น
ต่อมา พ.ศ. ๒๕๐๐ ศาลสั่งนัดไต่สวนมูลฟ้อง โจทก์จึงขอแก้คำขอท้ายฟ้องอ้างว่า ประมวลกฎหมายอาญา ยกเลิกกฎหมายลักษณะอาญา ขอให้ลงโทษจำเลยตาม กฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๒๗๖, ๒๘๔, ๑๗๒, ๑๗๓
ชั้นไต่สวนมูลฟ้อง โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ ๒ ศาลไต่สวนมูลฟ้องจำเลยที่เหลือแล้วเห็นว่า ข้อหาของโจทก์ทุกข้อไม่มีมุล และเหตุเกิดเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๗ โจทก์ฟ้องเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๘ แต่กลับอ้างประมวลกฎหมายอาญามาเป็นบทของลงโทษ ไม่ใช่กฏหมายที่ใช้ในขณะกระทำผิด จะว่า กระทำผิดกฎหมายใดก็ไม่ปรากฏ จึงยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คดีเฉพาะตัวจำเลยที่ ๑ มีมูลในข้อหาว่า ฉุดคร่าอนาจาร นอกนั้นไม่มีมูล ส่วนข้อที่โจทก์อ้างประมวลกฎหมายอาญาแทนกฎหมายลักษณะอาญานั้น จำเลยกระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะนั้นบัญญัติว่าเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และประมวลกฎหมายอาญาก็ถือว่า เป็นความผิดอยู่ โจทก์ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญาได้ ่แต่ให้ใช้กฎหมายส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำผิด พิพากษาแก้ว่า เฉพาะจำเลยที่ ๑ คดีมีมูลฐานฉุดคร่าอนาจาร
จำเลยที่ ๑ ให้การปฏิเสธ กับตัดฟ้องว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะไม่ครบองค์ประกอบ ไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ศาลชั้นต้นพิพาจารณาแล้วเห็นว่า ฟ้องของโจทก์ขาดคำว่า บังอาจหรือเจตนา ไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานฉุดคร่าอนาจารตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๒๗๖ เป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ และโจทก์แก้ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมิใดใช่กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำผิด จะลงโทษ่ตามบทกฎหมายที่โจทก์ขอมิได้ ไม่ต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คำว่า ฉุดคร่า แสดงว่าจำเลยกระทำโดยบังอาจคำว่า เพื่อการอนาจาร แสดงว่า กระทำโดยเจตนา ฟ้องโจทก์จึงครบองค์แล้ว และโจทก์บรรยายว่าจำเลยฉุดคร่าโจทก์เพื่อการอนาจารต่อไป ก็เป็นที่เข้าใจแจ่มแจ้งแล้วไม่เคลือบคลุม ข้อที่โจทก์แก้บทลงโทษนั้น โจทก์ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญาที่ประกาศใช้ใหม่แทนกฎหมายลักษณะอาญาได้ ส่วนข้อเท็จจริงฟังว่า จำเลยที่ฉุดคร่าเพื่อการอนาจารจริงต้องด้วยกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๒๗๖ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา++ แต่ให้ลงโทษตามบทมาตราหลังนี้ อันเป็นคุณแก่จำเลย พิพากษากลับให้ลงโทษจำคุกจำเลย ๒ ปี
จำเลยที่ ๑ ฎีกาทั้งในข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาเห็นว่า การบรรยายฟ้องเกี่ยวแก่การกระทำนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๘ (๕) ต้องมี การกระทำทั้งหลายที่อ้างว่า จำเลยได้กระทำผิด หาได้บัญญัติว่าต้องใช้ถ้อยคำในกฎหมายไม่ จะบรรยายถ้อยคำอย่างใดพอให้เข้าใจได้ว่าจำเลยกระทำการที่กฎหมายบัญญัติว่า เป็นความผิดก็ใช้ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ ๒ ใช้จำเลยที่ ๑ ให้ขึ้นไปบนเรือนของโจทก์ ให้เอาโจทก์ลงมา จำเลยที่ ๑ ก็ขึ้นไปฉุดคร่าโจทก์ ๆ จะใช้น้ำกรดสาดป้องกันตัว จำเลยได้ยื้อแย้งไว้ น้ำกรดหกรดตัวโจทก์ ตัวจำเลยที่ ๑ และเสื่อกับฟูกของโจทก์ ่จำเลยที่ ๑ ได้ฉุดคร่าเพื่อทำการอนาจารต่อไป ดังนี้เข้าใจได้ดีแล้วว่าจำเลยกระทำการพาหญิงไปเพื่อการอนาจารตามกฎหมายลักษณะอาญา หาต้องใช้คำว่า บังอาจด้วยไม่ การกระทำโดยผู้กระทำประสงค์ต่อผลเป็นการกระทำโดยเจตนา จำเลยฉุดคร่าเพื่อการอนาจาร เป็นการพิไปเพื่อประสงค์ผลในทางเพศ ฟ้องโจทก์จึงสมบูรณ์แล้ว
โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๘ ว่าจำเลยกระทำผิดใน พ.ศ. ๒๔๙๗ ขอให้ลงโทษตามกฎมหายลักษณะอาญา แต่ศาลมิได้สั่งประทับฟ้อง โดยรอคดีอื่นจนถึง พ.ศ. ๒๕๐๐ ซึ่งประมวลกฎหมายอาญาใช้บังคับแล้วและยกเลิกกฎหมายลักษณะอาญา โจทก์จึงขอแก้ฟ้องให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา ดังนี้ เป็นเรื่องโจทก์เข้าใจผิด คิดว่ากฎหมายเปลี่ยนใหม่ก็ต้องลงตามกฎหมายใหม่ แต่ก็หาทำให้ฟ้องของโจทก์เสียไปไม่ เพราะมีประมวลกฎหมายอาญามาบัญญัติในกรณีทำผิดตามกฎหมายเก่า และมาพิพากษาลงโทษเมื่อใช้กฎมายใหม่แล้วกฎหมายส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด
ส่วนข้อเท็จจริงนั้นเห็นพ้องกับศาลอุทธรณ์แต่เห็นควรแก้ไขข้อกำหนดโทษ
พิพากษาแก้ ให้จำคุกจำเลย ๑ ปี แต่ให้รอไว้ ๓ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖

Share