คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 186/2514

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อประเด็นข้อกล่าวหาในคดีนี้เป็นคนละเหตุกับประเด็นข้อกล่าวหาจำเลยในคดีก่อน ฟ้องคดีนี้ย่อมไม่เป็นฟ้องซ้ำกับฟ้องในคดีก่อน
ผู้เสียหายที่ได้รับอนุญาตให้เข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีแล้วแม้ภายหลังศาลอุทธรณ์จะยกคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมเสียเพราะโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำแก่ผู้เสียหายที่ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมนั้นด้วยก็ตาม ก็ไม่ทำให้การดำเนินกระบวนพิจารณาของโจทก์ร่วมที่ได้กระทำระหว่างเป็นคู่ความในคดีเสียเปล่าไปไม่ พยานหลักฐานที่โจทก์ร่วมได้อ้างอิงไว้ ย่อมใช้เป็นพยานหลักฐานสำหรับโจทก์และโจทก์ร่วมคนอื่นเพื่อศาลนำมาประมวลวินิจฉัยข้อเท็จจริงแห่งคดีได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๑๐ เวลากลางวัน จำเลยได้ใช้อุบายหลอกลวงนายพยุง ชุลีกร ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินโฉนด ๒ ฉบับ เนื้อที่รวม ๒๐๐ ไร่ บอกขายให้ผู้เสียหายเป็นเงิน ๗๒๐,๐๐๐ บาท ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงตกลงรับซื้อ ทำสัญญาจ่ายเงินมัดจำและเงินค่าซื้อที่ดินให้จำเลยรับไปแล้วรวม ๕๔๐,๐๐๐ บาท ความจริงจำเลยไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินดังกล่าว เหตุเกิดที่ตำบลถนนเพชรบุรีอำเภอพญาไท จังหวัดพระนคร ผู้เสียหายร้องทุกข์ภายในอายุความแล้วขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑
จำเลยให้การปฏิเสธ
นายพยุง ชุลีกร และนางพยอม กลัดจ่าย ผู้เสียหายขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมศาลอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเชื่อว่าจำเลยกระทำผิดดังฟ้อง พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑ จำคุก ๖ เดือนและปรับ ๒,๐๐๐ บาท ให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน ๕๔๐,๐๐๐ บาทแก่โจทก์ร่วม
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า แม้จะฟังว่านางพยอมเป็นผู้เสียหายร่วมกับนายพยุงแต่โจทก์มิได้บรรยายว่าจำเลยได้ฉ้อโกงนางพยอมด้วย จึงให้ยกคำร้องของนางพยอมที่ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ฟ้องของโจทก์ไม่ใช่ฟ้องซ้ำและเชื่อว่าจำเลยกระทำผิด พิพากษายืน
จำเลยฎีกา (๑) ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีอาญาแดงที่ ๔๒๐๕/๒๕๑๑ ของศาลอาญา
(๒) ศาลอุทธรณ์ยกคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมของนางพยอมผู้เสียหายแล้ว ถ้อยคำและกระบวนพิจารณาใด ๆ ที่นางพยอมโจทก์ร่วมได้กระทำจะใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ไม่ได้
(๓) ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิด
ศาลฎีกาวินิจฉัยในปัญหาข้อ ๑ คดีอาญาอันจะถือว่าเป็นฟ้องซ้ำนั้น จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ ๓ ประการ ดังนี้ (๑) จำเลยในคดีก่อนและคดีหลังจะต้องเป็นบุคคลคนเดียวกัน และ (๒) ประเด็นข้อกล่าวหาในเหตุอันเดียวกันกับ (๓) มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องสำหรับคดีนี้และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๔๒๐๕/๒๕๑๑ ที่จำเลยถูกฟ้องประเด็นข้อกล่าวหาเป็นคนละเหตุกัน ฉะนั้น คดีที่จำเลยถูกฟ้องนี้จึงมิใช่เป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๙(๔) โดยไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าคดีเข้าหลักเกณฑ์อื่นอีกหรือไม่
ประเด็นข้อ ๒ เห็นว่า เมื่อชั้นเดิมศาลชั้นต้นได้สั่งอนุญาตให้นางพยอมเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับผู้ว่าคดีศาลแขวงพระนครเหนือแล้ว นางพยอมก็ย่อมมีสิทธิดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีที่ได้รับอนุญาตให้เป็นโจทก์ร่วมได้ แม้ต่อมาภายหลังศาลอุทธรณ์จะได้พิพากษาให้ยกคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมของนางพยอมเสียก็ตาม ก็เป็นแต่เพียงทำให้นางพยอมไม่ได้รับผลของการฟ้องคดีเท่านั้น มิได้ทำให้การดำเนินกระบวนพิจารณาของนางพยอมคู่ความในคดีกลับกลายเป็นเสียเปล่าไปแต่อย่างใดเลย และพยานหลักฐานที่นางพยอมโจทก์ร่วมอ้างอิงมา ศาลย่อมนำมาใช้เป็นพยานหลักฐานสำหรับคดีของผู้ว่าคดีศาลแขวงพระนครเหนือและนายพยุงโจทก์ร่วมอีกคนหนึ่งเพื่อประมวลวินิจฉัยข้อเท็จจริงแห่งคดีได้ โดยไม่ถูกจำกัดให้ต้องฟังแต่เฉพาะคดีของโจทก์แต่ละคน
ประเด็นข้อ ๓ ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบมาฟังได้ว่าจำเลยได้กระทำผิดตามฟ้อง
พิพากษายืน

Share